กฤษณา ราชาเครื่องหอม สมุนไพร (4)


น้ำมันกฤษณา (Agarwood oil.)

แม้ว่าไม้กฤษณา จะเป็นไม้เศรษฐกิจที่กำลังได้รับความสนใจจากเกษตรกรนิยมปลูกกันอย่างแพร่หลาย โดยเฉพาะในพื้นที่หลายจังหวัดของภาคตะวันออก อย่างปราจีนบุรี จันทบุรี และตราด โดยมีเป้าหมายเพื่อต้องการสารหอมกฤษณา ซึ่งมีราคาแพงและเป็นที่ต้องการของตลาดสูงมาก แต่ทว่าที่ผ่านมามีผลงานทางวิชาการหรืองานวิจัยที่ยืนยันอย่างชันเจนค่อนข้างน้อย ถึงวิธีการกระตุ้นให้เกิดการสร้างสารกฤษณาอย่างถูกวิธี

ในชั้นนี้เพื่อให้ได้องค์ความรู้ และมุมมองที่หลากหลาย จึงได้รวบรวมแนวคิด ผลงานการศึกษาคิดค้น และงานการวิจัย  ที่เกี่ยวข้องกับวิธีการกระตุ้นให้เกิดการสร้างสารกฤษณา  มานำเสนอดังนี้


ชุดความรู้จากกรมป่าไม้

การทำให้เกิดการสร้างสารกฤษณาหรือเกิดการลงสารในเนื้อไม้กฤษณานั้นไม่มีวิธีที่แน่นอนตายตัวแต่จะขึ้นอยู่กับประสบการณ์และความรู้ของผู้ปลูก ซึ่งแต่ละวิธีก็มีข้อดีข้อเสียแตกต่างกันไป ดังนั้นวิธีการจึงอาจแตกต่างกันไปในเกษตรกรแต่ละรายแต่เท่าที่ทำการศึกษาพบว่ามีวิธีการต่าง ๆ ดังนี้

1. การทำให้เกิดสารโดยการใช้สว่านเจาะลำต้นกฤษณา

ลำต้นกฤษณาที่พร้อมจะทำให้เกิดบาดแผลและเจาะกระตุ้นสร้างสารกฤษณาควรมีอายุตั้งแต่ 4 ปีขึ้นไป ทั้งลำต้นและกิ่งควรมีความสมบูรณ์ ก่อนจะทำให้เกิดบาดแผล ควรเริ่มจากโคนต้นวัดขึ้นมาสูงประมาณ 12 นิ้ว กว้าง 7 นิ้ว ขีดเป็นรูปสี่เหลี่ยม ใช้สิ่วถากเปลือกไม้ออกจะเห็นเนื้อไม้สีขาวนวลและมียางไม้ออกมานิดหน่อยตามขนาดรูสี่เหลี่ยมที่กำหนดขึ้น จากนั้นนำสว่านเจาะรูประมาณหกรูในจุดที่ห่างกันพอดี ๆ โดยเจาะลึกประมาณสามนิ้ว ไม่ควรเจาะจนทะลุลำต้น แล้วนำสิ่วปากกว้างสกัดแต่งแผลให้ได้ขนาดร่องสิ่วลึกประมาณ 1 นิ้ว ขนาดเท่ากันทุกร่อง ทิ้งไว้ประมาณ 15 – 20 นาที จะมีมดดำหรือตัวแมลงต่าง ๆ เข้ามาในรูอยู่เป็นระยะ ๆ  เมื่อทำให้เกิดบาดแผลและเจาะกระตุ้นสารได้แผลหนึ่งแล้ว สามารถทำให้เกิดบาดแผลเพิ่มขึ้นได้อีก 3 – 4 แผล รอบ ๆ ลำต้น แต่ละแผลควรเว้นช่องห่างกันประมาณ 5 นิ้ว   เมื่อทำให้เกิดบาดแผล เกิดความชอกช้ำหรือเกิดความเครียดขึ้นที่เนื้อไม้ด้วยการเจาะนี้ก็จะเกิดการหลั่งสารจำพวกชัน หรือเรซิน เข้ามาสะสมที่เนื้อไม้รอบ ๆ บาดแผลที่เจาะนั้น สีของเนื้อไม้ก็จะค่อย ๆ เปลี่ยนจากสีขาว มาเป็นสีเหลือง สีน้ำตาล สีน้ำตาลเข้ม สีดำ และสีดำพร้อมมีน้ำมันเยิ้มในที่สุด สารจะมากขึ้นตามลำดับตามเวลาที่ผ่านไปแต่ละวัน อันเป็นกระบวนการรักษาบาดแผลตามธรรมชาติของต้นกฤษณา พอเวลาผ่านไปสักสามเดือนถึงหนึ่งปี เนื้อไม้กฤษณาที่ถูกทำให้เกิดบาดแผลและสร้างสารกฤษณาขึ้นมาได้ก็จะอยู่ในระดับที่ชาวบ้านเรียกว่า ไม้ปากขวาน 

หลังจากทำให้เกิดบาดแผลและกระตุ้นสร้างสารกฤษณาด้วยการเจาะแล้วประมาณ 1 – 3 เดือน จะเห็นความแตกต่างของเนื้อไม้ เนื้อไม้จะเริ่มมีสายน้ำมันเดินช้า ๆ ยิ่งเวลาผ่านไปก็ยิ่งมีน้ำมันเพิ่มขึ้น  พอผ่านไป 3 – 5 เดือน ก็ถึงตอนที่จะสกัดเอาเนื้อไม้ออกมาใช้ประโยชน์ได้ ด้วยการนำสิ่ว  ค่อย ๆ บากหรือถากเอาเนื้อไม้ออกมา ถ้าลองจุดไฟเผาดมดูจะได้กลิ่นของสารกฤษณาจากเนื้อไม้ เมื่อได้เนื้อไม้แล้วให้นำไปตากแดดสัก 1 – 2 แดด จากนั้นจึงนำไปบดให้ละเอียดแล้วนำไปแช่หมักไว้สักระยะเวลาหนึ่ง จึงนำไปต้มกลั่นกับน้ำแล้วแยกเอาน้ำมันหอมระเหย แต่การที่จะขายได้ราคาหรือไม่ย่อมขึ้นอยู่กับเนื้อไม้ว่ามีคุณภาพเพียงใดด้วย  พบว่า ต้นไม้กฤษณาที่ปลูกแล้วไม่สามารถทำให้เกิดสารกฤษณาได้มีอยู่ประมาณ 10 เปอร์เซ็นต์ แต่ไม้กฤษณานั้นยังนำไปขายได้ โดยซื้อขายกันต้นละประมาณ 700 – 1,000 บาท ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความสมบูรณ์ของเนื้อไม้  หรืออาจจะเจาะลำต้นทิ้งไว้โดยไม่ใช้สิ่วสกัดไม้ออกไป  แต่จะใช้วิธีตัดโค่นต้นกฤษณาในทีเดียวเลยก็ได้

2  การใช้ตะปูเจาะลำต้น

วิธีนี้ทำโดยการนำเอาตะปูมาเจาะลำต้นหรือกิ่งของกฤษณาเพื่อกระตุ้นการลงสารพบว่าให้ผลไม่แตกต่างจากการใช้สว่านเจาะลำต้น    พบว่าไม้กฤษณาที่ได้จากวิธีการนี้จะมีคุณภาพและราคาต่ำกว่าวิธีการใช้สว่านเจาะเพราะผู้รับซื้ออ้างว่าการเจาะลำต้นกฤษณาด้วยตะปูเมื่อทิ้งไว้นาน ๆ ตะปูจะขึ้นสนิมเพราะความชื้น    เมื่อนำไม้มาสกัดน้ำมันหอมระเหยจะทำให้น้ำมันหอมระเหยที่ได้มีความเป็นกรดสูง

3  การใช้สารเคมีกระตุ้นการเกิดสารกฤษณา

การใช้สารเคมีกระตุ้นการเกิดสารกฤษณาเป็นแนวทางใหม่ในการกระตุ้นให้เกิดสารกฤษณาเพราะที่ผ่านมาพบว่าการใช้วิธีตะปูและสว่านจะทำไม้กฤษณาได้แค่เพียงเกรดที่นำไปสกัดน้ำมันหอมระเหย ซึ่งจะมีราคาที่แตกต่างกับไม้ชิ้นมากแม้ว่าจะมีปริมาณสารเรซินในเนื้อไม้เท่ากันก็ตาม
การใช้สารเคมีกระตุ้นการเกิดสารกฤษณานี้มีการทดลองในประเทศเวียดนามในโครงการของTRP โดยมหาวิทยาลัยมิเนนโซตา   โดยการเจาะลำต้นของกฤษณาและนำสารเคมีใส่เข้าไปในลำต้นพบว่ามีการลงสารในบริเวณกว้าง สามารถกระตุ้นให้มีการลงสารที่เร็วกว่าที่เกิดในธรรมชาติประมาณ 10 เท่า  แต่ยังไม่มีการเปิดเผยถึงสูตรของสารเคมีดังกล่าวอย่างชัดเจน มีข้อมูลบอกเพียงว่ามีส่วนผสมของเชื้อราบางชนิดเท่านั้น

ในประเทศไทยก็ได้มีการกระตุ้นการเกิดสารกฤษณาโดยการใช้สารเคมีเช่นกันจากการศึกษาพบว่ามี 2 วิธีย่อยคือ

     3.1  การเติมน้ำมันหอมระเหยกลับเข้าไปในต้นกฤษณา  โดยการเจาะลำต้นของกฤษณาและเติมน้ำมันหอมระเหยเข้าไป มีผู้รับจ้างทำโดยคิดค่าใช้จ่ายประมาณ 800 – 1000 บาทต่อต้น ใช้ระยะเวลาประมาณ 6 – 12 เดือน ก็จะสามารถตัดเอาเนื้อไม้มาสกัดเอาน้ำมันหอมระเหยได้ โดยผู้รับทำโดยวิธีนี้จะรับซื้อเนื้อไม้กฤษณาตามคุณภาพที่ได้ โดยจะมีราคารับซื้อประมาณ 100 – 300 บาทต่อกิโลกรัม
     3.2  การทดลองใช้สารเคมีของ คุณอาจินต์ กิติพล เกษตรกรในจังหวัดระยอง ได้ทำการทดลองการเกิดการลงสารในเนื้อไม้กฤษณาโดยใช้สารบางชนิดที่ไม่เปิดเผยสูตร ปรากฏว่าเกิดการลงสารเป็นบริเวณกว้างทำให้เกิดเป็นเนื้อที่เรียกว่าไม้ตะเคียน (ไม้กฤษณาที่มีสีเหมือนไม้ตะเคียน) ภายในเวลาเพียง 1 เดือนและเปลี่ยนเป็นเนื้อไม้สีดำภายในระยะเวลา 6 – 12 เดือน 

ผลของฤดูกาลต่อการเกิดสารกฤษณา

พบว่าจากการทดลองไม้กฤษณาที่แปลงทดลองไม้กฤษณาที่จังหวัดเลยและจังหวัดจันทบุรี ในฤดูฝนแลฤดูร้อน โดยการใส่ชิ้นไม้ที่มีเชื้อราและชิ้นไม้ที่ไม่มีเชื้อราในต้นกฤษณาที่เจาะด้วยสว่าน แล้วปิดปากแผลด้วยปูนขาว ทิ้งไว้ 6 เดือน จึงตรวจผลการทดลองโดยเป็นค่าเฉลี่ยของปริมาณน้ำหนักของไม้กฤษณาที่เกิดขึ้น พบว่าไม้กฤษณาที่ใส่เชื้อราจะมีปริมาณมากกว่าที่ไม่ใส่เชื้อราและการเกิดกฤษณาในฤดูฝนจะให้ปริมาณ(โดยน้ำหนัก) มากกว่าในฤดูร้อน

การทำให้ได้ไม้คุณภาพเกรดเอ

ตัดต้นกฤษณาออกครึ่งต้นแล้วใช้สว่านเจาะกลางลำต้นลงมาตรง ๆ  จนลึกพอแล้วหันมาเจาะรูข้างลำต้นลักษณะเจาะทะแยงขึ้นเข้าไปในลำต้นจนเจอรูที่เจาะลงมากลางลำต้นไว้ การทำเช่นนี้ก็เพื่อป้องกันน้ำขังในรูที่เจาะ หลังจากนั้นก็ปล่อยให้แตกกิ่งใหม่งอกออกมาต่อไปเรื่อย ๆ   เวลาผ่านไปสักสิบปีก็จะได้เนื้อไม้กฤษณาที่มีสีน้ำตาล สีน้ำตาลเข้มหรือ สีดำชิ้นใหญ่ ๆ ชิ้นเดียวนำไปจำหน่ายได้ราคาสูงมากเป็นพิเศษ

แต่วิธีการนี้ยังไม่มีการยืนยันถึงความสำเร็จเป็นแค่แนวทางที่เป็นไปได้เท่านั้น เพราะต้นกฤษณาที่มักจะแตกกิ่งก้านมาก การที่จะทำตามวิธีการข้างต้นจำเป็นต้องทำการตัดแต่งกิ่งให้ต้นมีเปลาตรงหรือปลูกในระยะที่ค่อนข้างชิดซึ่งจะทำให้ต้นไม้เกิดการลิดกิ่งไปเองตามธรรมชาติและการตัดลำต้นออกและเจาะลำต้นลงมาตรง ๆ มีความเป็นไปได้มากที่ต้นไม้จะตายเพราะไม่สามารถทนความร้อนที่เกิดจากการเจาะได้    


ชุดความรู้จากผลงานวิจัย ปี 2552

 


ทีมคณาจารย์จากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ซึ่งประกอบด้วย รศ.ดร.งามผ่อง คงคาทิพย์ หัวหน้าหน่วยปฏิบัติการวิจัยผลิตภัณฑ์ธรรมชาติและเคมีอินทรีย์สังเคราะห์ ภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ อ.ศลิษา สุจิตวรสาร และรศ.พูนพิไล สุวรรณฤทธิ์ จากภาควิชาจุลชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ ได้ร่วมกันวิจัยวิธีการกระตุ้นให้เกิดสารหอมในไม้กฤษณาโดยเชื้อราและสารอินทรีย์ที่ปลอดภัย โดยการสนับสนุนจากสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) จนประสบความสำเร็จ จึงเป็นโอกาสที่ดีสำหรับเกษตรกรที่สนใจจะได้รับข้อมูลขั้นตอนการสกัดน้ำมันหอมกฤษณาอย่างถูกต้องตามหลักวิชาการ

รศ.ดร.งามผ่อง คงคาทิพย์  เปิดเผยว่า ไม้กฤษณาจะผลิตสารหอมได้ก็ต่อเมื่อเกิดแผล ดังนั้นเกษตรกรจึงทำการเจาะรูต้นกฤษณาเป็นจำนวนมากต่อ 1 ต้นหรือประมาณ 1,000-2,000 รูต่อต้น ซึ่งอาจทำให้ไม้กฤษณาตายและปริมาณสารหอมที่ได้ก็ยังมีปริมาณน้อยจากปัญหาดังกล่าวนี้เอง จึงทำให้นักวิจัยมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เห็นความสำคัญและมีแนวคิดในวิธีการที่จะกระตุ้นไม้กฤษณาผลิตสารหอม ซึ่งจะเป็นการแก้ปัญหาให้เกษตรกรและยังเป็นการเพิ่มมูลค่ามหาศาลให้ต้นกฤษณา ปัจจุบันน้ำหอมกฤษณายังไม่เพียงพอต่อความต้องการของตลาด เนื่องจากราคาที่ไม้กฤษณาผลิตสารหอมทั้งต้นจะซื้อขายอยู่ในราคาประมาณ 1 แสนบาทต่อ 1 ต้น

คณะวิจัยทำการกระตุ้นไม้กฤษณาที่ตราด 

 คณะวิจัยทำการกระตุ้นไม้กฤษณาที่อุดรธานี   

 คณะวิจัยทำการกระตุ้นไม้กฤษณาที่เชียงราย

"วิธีการกระตุ้นนี้เป็นวิธีการใหม่ที่ยังไม่เคยมีรายงานมาก่อนและตัวอย่างไม้หอมที่ผลิตได้เมื่อให้ชาวบ้านนำไปกลั่นพบว่าตัวอย่างไม้หอมปริมาณ 100 กิโลกรัม กลั่นได้น้ำหอมในปริมาณ 15-20 โตร่า (180-240 มิลลิลิตร) ซึ่งน้ำหอมกฤษณาที่ได้อยู่ในเกรด เอ+ โดยราคาซื้อขายในท้องตลาด 10 โตร่า เท่ากับ 8 หมื่นถึง 1 แสนบาท โดยอายุของไม้กฤษณาที่จะนำมากระตุ้นได้จะอยู่ที่ 8 ปีขึ้นไป"

การทำการกระตุ้นต้นกฤษณานั้นจะทำประมาณ 2-3 ครั้งและสามารถเก็บไม้หอมได้หลังจากการกระตุ้นครั้งแรกประมาณ 6-10 เดือน  ซึ่งได้ดำเนินการจดสิทธิบัตรเป็นที่เรียบร้อยแล้ว  จำนวน 3 ฉบับ  ในชื่อเรื่อง ดังนี้  

1.วิธีการกระตุ้นให้เกิดสารที่มีกลิ่นหอมในไม้กฤษณาโดยสารอินทรีย์ เลขที่คำขอ 701006251   

2.วิธีการกระตุ้นให้เกิดสารที่มีกลิ่นหอมในไม้กฤษณาโดยสารอินทรีย์ที่ปลอดภัย เลขที่คำขอ 0701006252 และ

3.วิธีการกระตุ้นให้เกิดสารที่มีกลิ่นหอมในไม้กฤษณาโดยเชื้อราและสารอินทรีย์ เลขที่คำขอ 0701006253

     

กรรมวิธีที่สำคัญ

    1. เตรียมเชื้อราและสารอินทรีย์ที่ได้คัดเลือกมา ให้อยู่ในรูปสารละลายที่มีความเข้มข้นที่เหมาะสม 
    2. ทำการเจาะรูต้นกฤษณาที่มีอายุ 5 ปี , 8 ปี และ 12 ปีขึ้นไป ด้วยสว่านขนาดความกว้างของรู ประมาณ 0.7 – 10 ซม. ลึกประมาณ 10 ซม. 
    3. ทำการใส่สารละลายเชื้อราหรือสารอินทรีย์ลงไปในรูที่เจาะปริมาณ 2 ลบ.ซม. และเปิดรูไว้ 
    4. ทำการติดตามผลการเกิดสารหอมเมื่อกระตุ้นได้ 1 เดือน พบว่าเริ่มมีการผลิตสารหอม
    5. ทำการใส่สารละลายเชื้อราหรือสารอินทรีย์ซ้ำในปริมาณเท่าเดิม ในทุกรูที่เจาะ หลังจากการใส่ครั้งแรก (ข้อ 3) ประมาณ 2 เดือน
    6. ทำการตรวจสารหอมที่เกิดขึ้นหลังจากกระตุ้นครั้งที่ 2 พบว่า สารหอมเพิ่มมากขึ้นจนกระทั่ง 6 เดือน เกิดสารหอมต่อ 1 รูเป็นบริเวณแนวยาวประมาณ 20 ซม. แนวกว้าง ประมาณ 3 ซม. แนวลึกประมาณ 10 ซม. 
    8. นำไม้กฤษณาที่แช่น้ำไว้ตามข้อ 7 มาทำการกลั่นด้วยวิธี water-steam distillation (hydrodistillation) ได้สารหอมในปริมาณ 0.3 % dry wt. (4 กิโลกรัมไม้กฤษณาแห้งกลั่นได้สารหอมประมาณ 1 โตร่า (~12 ลบ.ซม.)
    9. ทำการวิเคราะห์สารหอมที่กลั่นได้ด้วยวิธี TLC และวิธี GC-MS พบว่าสารหอมอยู่ในระดับเกรด A ถึง A+
    10. จากการเริ่มกระตุ้นในฤดูฝน และฤดูแล้ง พบว่าเกิดปริมาณสารหอมใกล้เคียงกัน


 
ไม้กฤษณาที่ไม่ได้ทำการกระตุ้น   

 ไม้กฤษณาที่เกิดจากการกระตุ้นโดยใช้เชื้อราและสารอินทรีย์

ประโยชน์ที่ได้รับ:

1. ด้านเกษตรกรรม
                1.1. เป็นการแก้ปัญหาให้เกษตรกรและประชาชนทั่วไปที่ปลูกไม้กฤษณา ปกติไม้กฤษณาจะผลิตสารหอมตามธรรมชาติเพียง 5-10 % หรือไม่ผลิตสารหอมเลย นวัตกรรมใหม่นี้จะทำให้เกิดการสร้างสารหอมในไม้กฤษณาสม่ำเสมอทุกต้น
                1.2. เพิ่มอาชีพและรายได้ให้กับเกษตรกรและประชาชนทั่วไป

2. ด้านเศรษฐกิจและอุตสาหกรรม 
                2.1. เพิ่มมูลค่ามหาศาลไม้กฤษณาทุกต้น (ประมาณต้นละ 1 แสนบาท) จากการกระตุ้นให้เกิดสารหอม
                2.2. นวัตกรรมนี้สามารถขยายสู่เชิงพาณิชย์ได้ดี                
                2.3. ปัจจุบันน้ำหอมกฤษณายังไม่เพียงพอต่อความต้องการของตลาด นวัตกรรมนี้จะทำให้สามารถผลิตสารหอมได้เพียงพอในประเทศและส่งออกต่างประเทศได้ 
                2.4. ทำให้เกิดอุตสาหกรรมต่อเนื่อง เช่น spa การใช้ไม้ที่เหลือจากการกลั่นทำธูป และใช้ในพิธีกรรมทางศาสนา

3. ด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม 
                3.1. ทำให้การลักลอบตัดไม้กฤษณาหมดไปและมีการปลูกป่ามากขึ้น 
                3.2. นวัตกรรมนี้ไม่เป็นพิษต่อสิ่งแวดล้อม




ขอบคุณ  :  1)  http://www.kridsana.com 
                2)  http://www.komchadluek.net 
                3)  http://www.rdi.ku.ac.th

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

หลวงพ่อฮวบ วัดสามัคยาราม ต.บ้านด่าน อ.เมือง จ.อุตรดิตถ์

หลวงพ่อกล่อม พรมสโร วัดป่ากะพี้ อ.พิชัย จ.อุตรดิตถ์

พระครูธรรมฐิติวงศ์คีรีเขตร (บุญใหญ่ อินทปญโญ) วัดเจดีย์คีรีวิหาร อ.ลับแล จ.อุตรดิตถ์