พื้นที่ปลูกข้าวดีที่สุดกำลังถูกทำลาย


     

 สวัสดีครับ  บล็อกนี้ขอมีส่วนร่วมแสดงความคิดเห็นในประเด็น "พื้นที่ปลูกข้าวดีที่สุดกำลังถูกทำลาย"  ของคุณลม  ตะวันตก  หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ   ฉบับวันที่  13  สิงหาคม  2556  หน้า 5  ความว่า...


         "....และผมมีอีกเรื่องที่เทียบเคียงได้กับ ทำลายสิ่งแวดล้อม ความเป็นอยู่ของชาวบ้านแบบชุ่ย ๆ เพื่ออุตสาหกรรม คือการที่รัฐบาล กระทรวงอุตสาหกรรม ตลอดจน จังหวัดพระนครศรีอยุธยา   ปล่อยให้ขยายโรงงานอุตสาหกรรม ขยายนิคมอุตสาหกรรมไปในพื้นที่สีเขียว  ซึ่งเป็นแหล่งปลูกข้าวที่ดีที่สุดของประเทศไทย  ก็ว่าได้
         นั่นคือการก่อสร้างนิคมอุตสาหกรรมขึ้นในบริเวณ อำเภออุทัย รอยต่อกับอำเภอภาชี  มีการถมดินจำนวนมหาศาล  ก่อสร้างโรงงานพื้นที่ไม่น้อยกว่า  5  พันไร่  หมื่นไร   ขณะที่พื้นที่รอบ ๆ ยังเขียวชะอุ่มไปด้วยต้นข้าวสุดลูกหูลูกตา  และมีโรงงานอีกหลายแห่งที่ก่อสร้างกระจัดกระจายไปทั่วย่านละแวกของสองอำเภอนี้
         ประเด็นที่ผมหยิบยกมาเอ่ยถึงครั้งนี้  เพราะพื้นที่ดังกล่าวมองมุมไหน  ระบบผังเมืองยังเป็นสีเขียว
 การก่อสร้างโรงงานหรือนิคมอุตสาหกรรมกระทำไม่ได้ 
         ทำไมรัฐถึงได้ใจร้ายให้มาตั้งนิคมอุตสาหกรรมในพื้นที่ปลูกข้าว  ที่ระบบชลประทานดีที่สุด  มีน้ำ ทั้งปี  ทำนาได้ถึงปีละ  3  รอบ 
         คนอีสาน  ที่เคยนั่งรถไฟพร้อมกับผมระหว่างกลับบ้าน  ซึ่งอยู่ในช่วงปลายเดือนมีนาคม  ผ่านท้องนาในเขตดอนกลาง-ภาชี  เขาถึงกับอุทานว่า เป็นไปได้อย่างไรที่ พื้นที่นาเหลืองอร่าม ไปด้วยรวงข้าว แถมคลองชลประทานยังมีน้ำล้นเหลือ  ขณะที่บ้านเขาน้ำกินยังแทบไม่มี  ไม่ต้องพูดถึงเรื่องการทำนา
         เป็นความอุตสาหะ ใส่ใจของรัฐบาลชุดก่อน ๆ ที่ทุ่มเม็ดเงินมุ่งพัฒนาระบบชลประทาน  แต่มาถึงวันนี้ รัฐบาล กระทรวงอุตสาหกรรม  ผวจ.พระนครศรีอยุธยา กลับทำลาย  เป็นความสะเพร่าของรัฐ  ที่คิดง่าย ๆ ให้ตั้งอยู่ใกล้กรุงเทพ ฯ   แต่ลืมไปว่าพื้นที่ดังกล่าวเป็นที่ลุ่ม พื้นที่เพื่อทำการเกษตร  พื้นที่ที่ควรสงวนไว้สำหรับการปลูกข้าว  แหล่งอาหารสำหรับคนไทย  วันหน้านายทุนจะกลับมากรรโชกรัฐ  ขู่ย้ายฐานการผลิต เพราะโรงงานถูกน้ำท่วม
          ผมคิดว่า  รัฐบาล.....ควรทบทวน  กลับมาตั้งหลักใหม่ เรื่องการสร้างนิคมอุตสาหกรรม หรือ         โรงงาน  อย่าเห็นแก่เงิน  ทำลายพื้นที่ปลูกข้าวที่ดีที่สุดเลยครับ!!!  "

   จากรายละเอียดข้างต้น   ค่อนข้างเห็นด้วยกับคุณลม  ตะวันตก                  ที่ยกประเด็นดังกล่าวมาเขียนวิพากษ์วิจารณ์เห็นต่างจากการดำเนินงานของภาครัฐ  ทำให้สามารถขยายความต่อได้ว่า " นโยบายการพัฒนาการเกษตร กับ นโยบายการพัฒนาอุตสาหกรรม...ไม่มีความสอดรับกันในทางปฏิบัติ "   บทเรียนดังกล่าวถือเป็นบทเรียนที่ควรตระหนักและแก้ไขเชิงนโยบายอย่างจริงจัง  เพราะสภาพการดังกล่าวมีให้เห็นในทุก ๆ จังหวัดเช่นกัน  ไม่ว่าจะเป็นการขยายตัวของเมือง การผลุดขึ้นของโรงงานอุตสาหกรรมต่าง ๆ  ทำให้บางส่วนที่เคยเป็นพื้นที่ทางการเกษตรที่อุดมสมบูรณ์ใกล้เมือง...ปรับเปลี่ยนไปอย่างน่าเสียดาย   ทางออกที่เหมาะสม คือ ทุกฝ่ายที่มีบทบาทร่วม  ต้องพูดคุยตกลง  วางแผน และยึดประโยชน์ของส่วนรวมเป็นหลักเสมอนะครับ


ขอบคุณ  :   1)   หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ  ฉบับวันที่  13  สิงหาคม  2556  หน้า 5 
              2)  ภาพประกอบจาก Internet

  


        

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

หลวงพ่อฮวบ วัดสามัคยาราม ต.บ้านด่าน อ.เมือง จ.อุตรดิตถ์

หลวงพ่อกล่อม พรมสโร วัดป่ากะพี้ อ.พิชัย จ.อุตรดิตถ์

พระครูธรรมฐิติวงศ์คีรีเขตร (บุญใหญ่ อินทปญโญ) วัดเจดีย์คีรีวิหาร อ.ลับแล จ.อุตรดิตถ์