1 ใน 4 รางวัล "พิพิธภัณฑ์ต้นแบบการเรียนรู้" (ประเภทวัดและชุมชน) ปี 2557

ส่วนหนึ่งของการจัดแสดงนอกอาคาร (Open-air museum)  พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นวัดคุ้งตะเภา ดำเนินการโดยวัดและชุมชน

วันนี้อยากแนะนำให้เพื่อน ๆ และสมาชิกทุกท่านได้รู้จักวัดวัดหนึ่ง ที่มีขนาดไม่ใหญ่ไม่โตมากนัก  หากดูผิวเผินก็จะคล้าย ๆ กับวัดทั่ว ๆ ไปนั่นเอง  แต่หากจะค่อย ๆพิจารณาและวิเคราะห์จากกข้อมูลที่ได้นำมาเสนอครั้งนี้  จะพบว่าวัดแห่งนี้มีอะไรที่น่าศึกษาเรียนรู้อีกมาก  และจากการที่พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นของวัดนี้ ได้รับคัดเลือกให้เป็น 1 ใน 4 พิพิธภัณฑ์จากทั่วประเทศให้ได้รับรางวัล "พิพิธภัณฑ์ต้นแบบการเรียนรู้" (ประเภทวัดและชุมชน) จากสถาบันพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งชาติ (สพร.) ในปี พ.ศ. 2557  ทำให้หลายท่านคงอยากไปทำความรู้จักกันแล้วนะครับ

พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นวัดคุ้งตะเภา (Wat Kungtapao Local Museum) เป็นแหล่งการเรียนรู้ท้องถิ่นขนาดเล็ก ตั้งอยู่ที่ วัดคุ้งตะเภา หมู่ 4หมู่บ้านคุ้งตะเภา ตำบลคุ้งตะเภา อำเภอเมือง จังหวัดอุตรดิตถ์ จัดแสดงเอกสารโบราณและโบราณวัตถุของวัดและชุมชนหมู่บ้านคุ้งตะเภา บริหารจัดการในรูปแบบกรรมการโดยวัดและชุมชน

ปัจจุบันพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นวัดคุ้งตะเภา ตั้งอยู่ที่อาคารอสีติวัสสายุมงคลมหาศาลาการเปรียญ ภายในวัดคุ้งตะเภา ใกล้กับจุดตัดสี่แยกคุ้งตะเภา ติดทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 11 ทางผ่านสำคัญก่อนขึ้นสู่จังหวัดแพร่ เปิดให้ประชาชนได้เข้าชมทุกวันธรรมสวนะ ตั้งแต่เวลา 8.20 - 17.30 น. โดยไม่เก็บค่าเข้าชม

พระสมุห์สมชาย จีรปุญฺโญ (นามเดิม: สมชาย แสงสิน) 
น.ธ.เอก, ปบ.ส., พธ.บ. (1 ตุลาคม พ.ศ. 2506 - ปัจจุบัน) เจ้าอาวาสวัดคุ้งตะเภารูปปัจจุบัน

ประวัติความเป็นมา

พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นวัดคุ้งตะเภา ก่อตั้งขึ้นโดยดำริของพระสมุห์สมชาย จีรปุญฺโญ (แสงสิน) และพระมหาเทวประภาส วชิรญาณเมธี เนื่องจากท่านสังเกตเห็นโบราณวัตถุและเอกสารโบราณต่าง ๆ ที่ถูกเก็บรักษากระจัดกระจายไว้ตาม สถานที่ต่าง ๆ ภายในวัด โดยเฉพาะอย่างยิ่งเอกสารโบราณ เช่น ใบลาน สมุดไทย สมุดข่อย จำนวนมาก (มากกว่า 100 ผูก/เล่ม) ซึ่งมีทั้งตำรายาแผนโบราณ ตำราบทพระอัยการ จินดามณี และคัมภีร์ทางพระพุทธศาสนา ซึ่งส่วนใหญ่ไม่ได้รับการดูแลอย่างที่ควรจะเป็น ท่านจึงได้ริเริ่มเก็บรวบรวมโบราณวัตถุต่าง ๆ ในวัดมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2539 จนในปี พ.ศ. 2549 จึงสามารถนำเอกสารโบราณต่าง ๆ มาจัดแสดงให้ประชาชนได้ชม โดยใช้พื้นที่ชั้นสองของกุฏิปั้นหยา เป็นอาคารสำหรับจัดแสดง เพื่อที่พระสงฆ์จะได้ดูแลรักษาเอกสารและวัตถุโบราณต่าง ๆ ที่นำมาจัดแสดงได้โดยสะดวก ซึ่งสิ่งของที่นำมาจัดแสดงให้ชมยังมีจำนวนไม่มากนัก (เพียง 4 ตู้จัดแสดง) และเอกสารโบราณและวัตถุโบราณที่สำคัญส่วนใหญ่ยังคงเก็บรักษาไว้โดยมิได้นำมาออกแสดง

เดิมนั้น พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นวัดคุ้งตะเภา เป็นเพียงส่วนพิพิธภัณฑ์จัดแสดงวัตถุโบราณ เพียงแห่งเดียวของตำบลคุ้งตะเภา (พ.ศ. 2554) และเนื่องจากไม่ได้รับงบประมาณสนับสนุนจากทางองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและภาคราชการ ทำให้ส่วนตู้จัดแสดงสามารถวางสิ่งของจัดแสดงได้น้อย เพราะตู้จัดแสดงมีอย่างจำกัด ในขณะที่โบราณวัตถุและเอกสารโบราณที่สมควรนำออกจัดแสดงที่ท่านเจ้าอาวาสวัดคุ้งตะเภารวบรวมไว้มีจำนวนมาก

ในปี พ.ศ. 2555 วัดคุ้งตะเภาได้จัดสร้างห้องพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นวัดคุ้งตะเภา โดยความร่วมมือระหว่างวัดและชุมชนบ้านคุ้งตะเภา โดยการนำของเจ้าอาวาส คณะสงฆ์วัดคุ้งตะเภา และนายสมชาย สำเภาทอง ผู้ใหญ่บ้านคุ้งตะเภา สร้างพื้นที่จัดแสดงบนอาคารศาลาการเปรียญวัดคุ้งตะเภาหลังใหม่ (อาคารอสีติวัสสายุมงคลมหาศาลาการเปรียญ) และได้ย้ายสถานที่จัดแสดงจากอาคารกุฎิปั้นหยาซึ่งมีขนาดเล็ก มาจัดแสดงบนพื้นที่ใหม่ ซึ่งปัจจุบันมีตู้จัดแสดงรวมมากกว่า 20 ตู้ บนเนื้อที่กว่า 300 ตารางเมตร เต็มพื้นที่อาคารศาลาทิศตะวันออก มีการนำโบราณวัตถุศิลปวัตถุ เอกสารโบราณ และเครื่องมือเครื่องใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่นโบราณของคนคุ้งตะเภาในอดีตมาจัดแสดง รวมมากกว่า 500 สิ่งจัดแสดง เป็นพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นที่ดำเนินการโดยวัดและชุมชน ที่มีวัตถุจัดแสดงมากที่สุดแห่งหนึ่งของจังหวัดอุตรดิตถ์





พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นวัดคุ้งตะเภา บนอาคารอสีติวัสสายุมงคลมหาศาลาการเปรียญ มุขทิศตะวันออก

อาคารที่ตั้งพิพิธภัณฑ์ 

อาคารที่ตั้งพิพิธภัณฑ์ อยู่ในพื้นที่ด้านตะวันออกของศาลาประธานวัดคุ้งตะเภา ซึ่งเป็นอาคารทรงโรงเครื่องสับแบบภาคกลางโบราณ ที่มีอายุมากกว่าสองร้อยปี จากประวัติหลักฐานการสถาปนาวัดคุ้งตะเภา กล่าวว่าในสมัยธนบุรี จุลศักราช 1132 ปีขาล โทศก วัดคุ้งตะเภามีศาลาการเปรียญเก่าแก่อยู่หลังหนึ่ง ตั้งอยู่ริมแม่น้ำน่าน ชาวบ้านคุ้งตะเภาได้ย้ายโครงสร้างศาลาดังกล่าว มา ณ ที่ตั้งปัจจุบันในปี พ.ศ. 2472 โดยคงรูปแบบเก่าแต่ครั้งธนบุรีไว้ด้วย

จากรูปแบบภูมิสถาปัตย์ของอาคารหลังนี้ เป็นรูปแบบศาลาโบราณที่มีมาตั้งแต่สมัยอยุธยา มีโครงสร้างคล้ายกับศาลาการเปรียญวัดใหญ่ท่าเสาที่ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานสำคัญของชาติ  โดยความเก่าแก่ของโครงสร้างและรูปแบบศาลาลักษณะนี้ อาจารย์พิเศษ เจียจันทร์พงษ์ ผู้เชี่ยวชาญพิเศษประจำกรมศิลปากรกล่าวว่า เป็นรูปแบบโครงอาคารศาลาการเปรียญที่มีความเก่าแก่มาตั้งแต่สมัยอยุธยาพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นวัดคุ้งตะเภา มีการจัดการและดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ ในรูปแบบของคณะกรรมการ ทั้งบ้าน วัด และโรงเรียน

ศาลาการเปรียญหลังนี้ได้รับการบูรณะในปี พ.ศ. 2549 และส่วนจัดแสดงอาคารหอพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นวัดคุ้งตะเภาแล้วเสร็จในปี พ.ศ. 2554 มีพื้นที่กว่า 300 ตารางเมตร มีโบราณวัตถุ-ศิลปวัตถุ จัดแสดงจำนวนกว่า 1,000 สิ่งจัดแสดง โดยจัดทิศทางการเข้าชมตามความเหมาะสมของพื้นที่อาคาร
ปัจจุบันพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นวัดคุ้งตะเภา แบ่งพื้นที่ห้องจัดแสดงออกเป็นสามส่วนคือ ส่วนจัดแสดงประวัติความเป็นมาของชุมชนและวัดคุ้งตะเภา ส่วนจัดแสดงเอกสารโบราณ และส่วนจัดแสดงโบราณวัตถุและเครื่องมือเครื่องใช้ภูมิปัญญาโบราณของท้องถิ่น นอกจากนี้ ภายในพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นวัดคุ้งตะเภา ยังมีห้องสมุดทางพระพุทธศาสนา ซึ่งมีพระไตรปิฎกอรรถกถา ตำรา และหนังสือทางพระพุทธศาสนา รวมทั้งหนังสือวิชาการและงานวิจัยทางด้านประวัติศาสตร์ ประเพณี และวัฒนธรรมท้องถิ่น รวมมากกว่า 3,000 เล่ม


ส่วนจัดแสดงพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นวัดคุ้งตะเภาในปัจจุบัน


การจัดแสดงในพิพิธภัณฑ์

วัตถุที่จัดแสดงในพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นวัดคุ้งตะเภาส่วนใหญ่ ได้มาจากชาวบ้านคุ้งตะเภาทุกคนผู้มีจิตศรัทธา ที่ตั้งใจอุทิศให้เป็นประโยชน์แก่สาธารณชน เป็นสาธารณสมบัติของชุมชน โดยมีวัดคุ้งตะเภาเป็นผู้ดูแล ในรูปแบบของกรรมการ

วัตถุจัดแสดงทั้งหมด เริ่มดำเนินการจัดหา รวบรวม จากทั้งภายในวัดคุ้งตะเภา และจากการรับบริจาคของคนในชุมชนคุ้งตะเภา ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2549 จัดแสดงครั้งแรกในอาคารปั้นหยาสองชั้นจนถึงปี พ.ศ. 2554 ต่อมาวัตถุจัดแสดงมีจำนวนมาก จึงได้หาทุนจัดสร้างอาคารพิพิธภัณฑ์จากศรัทธาในชุมชน และย้ายมาจัดแสดงในอาคารพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นวัดคุ้งตะเภา (อาคารเฉลิมพระเกียรติอสีติวัสสายุมงคล) จนถึงปัจจุบัน

วัตถุจัดแสดงส่วนใหญ่ในพิพิธภัณฑ์จึงเป็นเครื่องมือเครื่องใช้ที่มีความผูกพันกับวิถีชีวิต ความเชื่อ และภูมิปัญญาท้องถิ่นคนคุ้งตะเภาในอดีตช่วงร้อยกว่าปีก่อน และจากหลักฐานเอกสารโบราณที่ประกอบไปด้วยทั้งอักษรไทย (สมัยอยุธยา-ต้นรัตนโกสินทร์) และอักษรตัวเมืองบางส่วน (อักษรธรรมลานนา) รวมทั้งเสาหงส์โบราณ (คติมอญ) ทำให้ทราบว่าหมู่บ้านคุ้งตะเภาในอดีตเป็นชุมชนพหุวัฒนธรรมเก่าแก่ ที่มีการปะทะสังสรรค์ทางวัฒนธรรมมาตั้งแต่โบราณกาล เป็นหมู่บ้านพหุวัฒนธรรมที่ควรค่าแก่การศึกษาสำหรับผู้สนใจ โดยเฉพาะวัตถุที่จัดแสดงบางชิ้นมีความเก่าแก่มาตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ ซึ่งค้นพบในบริเวณที่ตั้งหมู่บ้านคุ้งตะเภา แม้จะไม่ได้มาจากการขุดค้นทางโบราณคดี แต่เชื่อได้ว่า หมู่บ้านคุ้งตะเภา เป็นถิ่นฐานที่มีผู้คนอยู่อาศัยมาตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ หรือกว่า 2,000 - 3,000 ปีมาแล้ว

ประเภทกลุ่มการจัดแสดง

พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นวัดคุ้งตะเภา มีลักษณะเป็นอาคารโถงสองชั้น หลังคาทรงไทย ภายในอาคารจัดแสดงข้าวของเครื่องใช้ต่าง ๆ ไว้ตามมุมต่าง ๆ และที่ตู้จัดแสดง กว่า 20 ตู้ จำแนกเป็นกลุ่มได้ 13 กลุ่ม คือ

 เอกสารโบราณ
สมุดไทยโบราณ (อักษรไทย) 

  • กลุ่มเอกสารโบราณ ประกอบด้วย สมุดไทย ใบลาน วรรณคดีไทย และวรรณคดีคัมภีร์ทางพระพุทธศาสนา ตำราแพทย์แผนไทย สมุนไพร บทพระอัยการลักษณะต่าง ๆ กฎหมายตราสามดวง สมุดฝรั่งสมัยรัชกาลที่ 4-5 ความเก่าแก่ของเอกสารโบราณมีความเก่าแก่ที่สุดตั้งแต่สมัยอยุธยาตอนต้น จนถึงสมัยรัตนโกสินทร์
ยอดเสาหงษ์โบราณอายุสองร้อยกว่าปี 
  • กลุ่มพระพุทธรูปและเครื่องใช้ทางศาสนา เช่น พระพุทธรูปโบราณสมัยเชียงแสน-สุโขทัย อายุกว่า 800 ปี, ยอดพระเกศสัมฤทธิ์, ฉัตรเก่า, แผงพระไม้แกะสลัก, พระพุทธรูปทรงเครื่องสมัยรัตนโกสินทร์, พระพุทธรูปแกะสลัก, หงส์ยอดเสาโบราณ, ตาลปัตร พัดยศ และธรรมาสน์ไม้ฝีมือช่างพื้นบ้าน เป็นต้น
เครื่องมือเครื่องใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่น

  • กลุ่มเครื่องมือในการทำนา เช่น ระหัดวิดน้ำ, คันไถและคราดที่ทำด้วยไม้และโลหะ, คานและแอกไม้ประกอบคันไถ, เครื่องสีฝัดข้าว, ขอฉาย, สากตำข้าว, ครกตำข้าวทำจากไม้ และเครื่องสีข้าวแบบแรงมือและคันโยก เป็นต้น
  • กลุ่มยานพาหนะ เช่น เกวียนเทียมวัวและควาย, เรือสำเภาจำลอง, ใบพายเรือ และจักรยานโบราณ เป็นต้น
  • กลุ่มเครื่องมือช่าง เช่น เลื่อยสั้น-ยาว, มีดพร้า-ปลอกมีด, สว่านมือ, กบมือไสไม้ และขวานโยน เป็นต้น
  • กลุ่มเครื่องมือในการจับสัตว์ เช่น ลอบ, สุ่ม, ข้อง, ไซ, เบ็ด, ฉมวกเหล็ก-ไม้, เครื่องดักสัตว์ที่ทำจากไม้ เป็นต้น
  • กลุ่มเครื่องมือในงานเกษตรกรรมและเหล็ก เช่น เครื่องปั่นด้าย, เครื่องบีบเมล็ดข้าวโพด, อุปกรณ์ตากยาสูบ, สูบลม, หลอดสูบน้ำดับเพลิงโบราณ และเครื่องมือช่างตีเหล็กโบราณ เป็นต้น

เครื่องใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่น

  • กลุ่มของใช้ในครัวเรือน เช่น กระด้ง, โม่, สาแหรก, ถังไม้, หม้อ-ไหดินเผา, เตารีด, คนโท, ตะกร้าหวาย, ปิ่นโต, ชุดสำรับ กับข้าวทำจากแก้ว, ถาดกระเบื้อง-สังกะสี, ถ้วยชาม, ตะเกียงโบราณ, เครื่องบดยาทำจากไม้-หิน, กระเบื้องหลังคาดินเผา, หีบเหล็ก, คานหาบ, กระบุง และกระจาด เป็นต้น
เครื่องใช้ที่ทำจากโลหะทองเหลืองและเงิน

  • กลุ่มเครื่องใช้ที่ทำจากโลหะทองเหลืองและเงิน เช่น ชุดเชี่ยนหมากโบราณ, กล้องยาสูบ, ขัน, ทัพพี, พาน, ผอบ และตลับ เป็นต้น
บางส่วนของเครื่องปั้นดินเผา

  • กลุ่มเครื่องใช้ที่ทำจากเครื่องลายครามและเครื่องเบญจรงค์ เช่น โถ, ถ้วย, หม้อใส่ข้าว, ช้อน, ผอบ และพานเบญจรงค์โบราณ เป็นต้น
  • กลุ่มอาวุธ เช่น มีด, ดาบ, มีดสั้น, ดาบเหล็กน้ำพี้, ก้อนสินแร่เหล็กน้ำพี้ขนาดใหญ่ และดาบเหล็กลอง เป็นต้น
  • กลุ่มพระเครื่อง เหรียญกษาปณ์ และเงินโบราณ เช่น เงินพดด้วงโบราณ, สตางค์รู, เหรียญเงินรัชกาลที่ 5, ธนบัตร เหรียญกษาปณ์เก่า รวมทั้งพระเครื่องทั้งที่ทำจากดิน และที่ทำจากเหรียญโลหะ จำนวนมาก เป็นต้น
กลองมโหระทึกสำริด รูปแบบสมัยก่อนประวัติศาสตร์ในกลุ่มวัฒนธรรมดองซอน(Dongson Culture)

  • กลุ่มวัตถุสมัยก่อนประวัติศาสตร์ เช่น กลองมโหระทึกสำริด รูปแบบสมัยก่อนประวัติศาสตร์ในกลุ่มวัฒนธรรมดองซอน (Dongson Culture), ขวานหินขัดสมัยก่อนประวัติศาสตร์ และเศษเครื่องใช้ทำจากดินเผา เป็นต้น
พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นวัดคุ้งตะเภา มีการจัดการและดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ ในรูปแบบของคณะกรรมการ ทั้งบ้าน วัด และโรงเรียน

การดำเนินการ

ปัจจุบัน พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นวัดคุ้งตะเภา ดำเนินการในรูปแบบคณะกรรมการ ซึ่งมาจากผู้บริจาคโบราณวัตถุ และศิลปวัตถุ ให้กับทางพิพิธภัณฑ์นับร้อยคน เพื่อเน้นกระบวนการมีส่วนร่วม และการสานเสวนาเพื่อการพัฒนาพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นอย่างสร้างสรรค์ โดยมาจากการแต่งตั้งของเจ้าอาวาสวัดคุ้งตะเภา ตามคำสั่งเจ้าอาวาสวัดคุ้งตะเภา ที่ 2/2555 เรื่อง จัดตั้งพิพิธภัณฑ์วัดคุ้งตะเภา ภายใต้คำขวัญ "พิพิธภัณฑ์ของชุมชน โดยชุมชน และเพื่อชุมชน" และวัตถุประสงค์การจัดตั้งพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นวัดคุ้งตะเภา ทั้ง 4 ข้อ ดังนี้
  1. ส่งเสริม สนับสนุนการศึกษาค้นคว้า ประวัติความเป็นมาของชุมชนท้องถิ่น ศิลปวัตถุ โบราณวัตถุ เครื่องมือ เครื่องใช้ในการดำเนินวิถีชีวิตของบรรพบุรุษหรือบุคคลสำคัญของชุมชนท้องถิ่นบ้านวัดคุ้งตะเภา
  2. จัดหาอาคารสถานที่สำหรับจัดเป็นพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นวัดคุ้งตะเภา รวมทั้งการออกแบบอาคารสถานที่ให้มีความเหมาะสมกับเนื้อหา ศิลปวัตถุที่จะจัดแสดง และเหมาะสมกับสภาพพื้นที่ตามความต้องการของชุมชนหรือท้องถิ่น
  3. จัดเตรียมข้อมูล รวบรวมศิลปวัตถุ โบราณวัตถุประเภทต่าง ๆ เพื่อการจัดแสดงผลงานภายในพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นวัดคุ้งตะเภา
  4. บำรุงรักษาพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นวัดคุ้งตะเภาให้มีสภาพที่สมบูรณ์ดีพร้อมอยู่เสมอ เพื่อเปิดให้ประชาชนและผู้สนใจเข้าเยี่ยมศึกษาค้นคว้าหาความรู้
ปัจจุบันพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นวัดคุ้งตะเภา ดำเนินการโดยใช้งบประมาณทั้งหมดจากศรัทธาของพระสงฆ์และประชาชนในชุมชน

ส่วนหนึ่งภายในอาคารจัดแสดง


 เกียรติคุณและรางวัลที่ได้รับ

จากการลงพื้นที่สำรวจและประเมินพิพิธภัณฑ์ต้นแบบการเรียนรู้ ของคณะกรรมการจากสถาบันพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งชาติ (สพร.) พบว่าพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นวัดคุ้งตะเภา มีแนวคิดการจัดพื้นที่เป็นพิพิธภัณฑ์เปิด ที่สอดคล้องสัมพันธ์กับวิถีความเชื่อของชุมชน และมีแผนการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ทำให้พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นวัดคุ้งตะเภา ได้รับคัดเลือก เป็น 1 ใน 4 พิพิธภัณฑ์ จากทั่วประเทศ ให้ได้รับรางวัล "พิพิธภัณฑ์ต้นแบบการเรียนรู้"(ประเภทวัดและชุมชน) จากสถาบันพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งชาติ (สพร.) ในปี พ.ศ. 2557 



ขอบคุณ :  http://th.wikipedia.org 

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

หลวงพ่อฮวบ วัดสามัคยาราม ต.บ้านด่าน อ.เมือง จ.อุตรดิตถ์

หลวงพ่อกล่อม พรมสโร วัดป่ากะพี้ อ.พิชัย จ.อุตรดิตถ์

พระครูธรรมฐิติวงศ์คีรีเขตร (บุญใหญ่ อินทปญโญ) วัดเจดีย์คีรีวิหาร อ.ลับแล จ.อุตรดิตถ์