รู้เขา...ดูเรา กรณีเขตเศรษฐกิจพิเศษแขวงไชยะบุรี&จังหวัดเมียวดี


"ลาว" เร่งเดินหน้าจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษไชยะบุรี เชื่อมต่อชายแดนภาคเหนือไทย 

รัฐบาล สปป.ลาว เดินหน้านโยบายจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษทั่วประเทศให้ครบ 25 แห่งภายในปี'63 ล่าสุด เตรียมจัดตั้งในแขวงไชยะบุรี บนพื้นที่ 6,000 ไร่ตรงข้ามด่านภูดู่ จังหวัดอุตรดิตถ์ นับเป็นแห่งที่ 2 เชื่อมต่อชายแดนภาคเหนือของไทย ด้านหอการค้า จ.อุตรดิตถ์ จี้รัฐเร่งแก้ปัญหาการใช้พื้นที่ป่าให้ลงตัว พร้อมเดินหน้าใช้โมเดลตลาดโรงเกลือยกระดับตลาดชายแดน

นายวิเชียร แสงวิวัฒน์เจริญ ประธานหอการค้าจังหวัดอุตรดิตถ์ เปิดเผยว่า จังหวัดอุตรดิตถ์ได้รับการแจ้งจากดร.เลียน ทิแก้ว เจ้าแขวงไชยะบุรีว่า ขณะนี้ทางรัฐบาลสปป.ลาวมีนโยบายสนับสนุน การจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษที่บ้านผาแก้ว เมืองปากลาย สปป.ลาว บนพื้นที่ประมาณ 4,000-6,000 ไร่ ตั้งอยู่ตรงข้ามบ้านม่วงเจ็ดตน ด่านภูดู่ จังหวัดอุตรดิตถ์ หลังจากก่อนหน้านี้ได้มีการอนุมัติจัดตั้งไปแล้วทั้งหมด 11 แห่ง ในจำนวนนี้ 1 แห่งตั้งอยู่ในพื้นที่ตรงข้ามกับจังหวัดเชียงราย คือ เขตเศรษฐกิจพิเศษสามเหลี่ยมทองทำ เมืองต้นผึ้ง แขวงบ่อแก้ว สปป.ลาว

> ลาวลุยตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษ

ทางรัฐบาลสปป.ลาว ได้กำหนดเป้าหมายจะเพิ่มเขตเศรษฐกิจพิเศษและ เขตเศรษฐกิจเฉพาะเป็น 25 แห่งให้ได้ภายในปี 2563 เพราะจะทำให้มีศักยภาพสูงรองรับทางการค้าและการลงทุนในอนาคต และกระตุ้นให้เศรษฐกิจของประเทศขยายตัว และแขวงไชยะบุรี ถือเป็นหนึ่งในแขวงที่มีศักยภาพสูงในการค้า และการลงทุนในอนาคต โดยตั้งอยู่ทางตะวันตกสุดของประเทศ มีพื้นที่ติดกับประเทศไทย ทางด้านจังหวัดเชียงราย, จังหวัดพะเยา, จังหวัดน่าน, จังหวัดอุตรดิตถ์, จังหวัดพิษณุโลก และจังหวัดเลย

"เจ้าแขวงไชยะบุรีได้หารือร่วมกับทางจังหวัด และภาคเอกชนของจังหวัดอุตรดิตถ์เมื่อเร็วๆ นี้ว่า แชวงไชยะบุรีมีความพร้อมในการรองรับการเข้ามาลงทุนของนักลงทุนชาวไทย และชาวต่างประเทศ โดยมีสิทธิพิเศษในการเข้าไปลงทุนตามนโยบายส่งเสริมการลงทุนของรัฐบาลสปป.ลาว เพราะต่อไประบบการคมนาคมทางบก และการก่อสร้างสะพานข้ามน้ำโขงเชื่อมระหว่างเมืองปากลาย แขวงไชยะบุรี กับเมืองชะนะคาม นครเวียงจันทน์ จะเสร็จในปี 2558  อีกทั้งจะมีการยกระดับด่านท้องถิ่นผาแก้วให้เป็นด่านสากล เพื่อเท่าเทียมกับด่านภูดู่ในอนาคตอันใกล้นี้ด้วย" นายวิเชียร กล่าว

ทั้งนี้ รูปแบบของเขตเศรษฐกิจพิเศษของสปป.ลาว น่าจะมีการแบ่งโซนในการเข้าไปลงทุน เช่น พื้นที่นิคมอุตสาหกรรม, พื้นที่เกษตร, พื้นที่พาณิชย์ โดยอาจจะมีการเปิดเป็นพื้นที่สัมปทานระยะยาวตามความเหมาะสม เพื่อให้เกิดการพัฒนาพื้นที่ของแขวงไชยะบุรีให้เกิดการขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจได้เร็วขึ้น ซึ่งเป็นไปตามนโยบายของรัฐบาลสปป.ลาวที่ ต้องการให้มีการลงทุนของกลุ่มทุนต่างชาติ เพื่อให้เข้ามาเป็นส่วนสำคัญในการสร้างความเจริญทางเศรษฐกิจ และเพิ่มรายได้หมุนเวียนภายในประเทศ

> ยึดโมเดลโรงเกลือพัฒนาตลาดภูดู่

ขณะที่ฝั่งด่านภูดู่ จังหวัดอุตรดิตถ์ ได้มีการพัฒนาตลาดชายแดนอย่างต่อเนื่อง และจะมีการส่งมอบให้ทางองค์การบริหารส่วนจังหวัดอุตรดิตถ์เป็นผู้บริหารจัดการ โดยใช้โมเดลตลาดโรงเกลือ จังหวัดสระแก้วมาเป็นแนวทางในการพัฒนา แต่ ขณะนี้บางส่วนยังล่าช้าเกี่ยวกับการขอใช้พื้นที่ ซึ่งป่าส่วนเป็นพื้นที่ป่าของกรมป่าไม้ ขณะเดียวกัน ทางกรมศุลกากรได้เข้ามาทำการจัดตั้งที่ทำการชั่วคราว เพื่อทำพิธีการศุลกากรอำนวยความสะดวกในการนำเข้าและส่งออก และคาดว่าหลังจากนี้จะมีการจัดตั้งสำนักงานศุลกากรที่ด่านภูดู่บนพื้นที่ ประมาณ 100 ไร่

สำหรับแนวทางการพัฒนาพื้นที่ชายแดนนั้น จำเป็นต้องเร่งดำเนินการให้เร็วที่สุด เพราะการค้าระหว่างไทย-ลาว บริเวณด่านภูดู่-ผาแก้วมีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วมาก เพราะพัฒนาเข้าสู่ระบบการค้าสากล ที่ไม่เพียงแต่ค้ากับแขวงไชยะบุรี แต่ยังค้ากับแขวงอื่นๆ และเชื่อมต่อไปยังเวียดนาม และจีนด้วย โดยสังเกตได้จากปริมาณการค้าชายแดนหนาแน่ขึ้น อีกทั้งมูลค่าการค้าชายแดนไทย-พม่าปี 2556 น่าจะไม่ต่ำกว่า 2,000-3,000 ล้านบาท ซึ่งมีการขยายตัวเพิ่มขึ้นหลายเท่าตัว จากเดิมจะมีมูลค่าการค้าชายแดนน้อยมาก เฉลี่ยปีละ 200-300 ล้านบาท

> ชี้ภูดู่แลนด์ลิงเชื่อมระเบียงเศรษฐกิจเหนือ-ใต้

นายวิเชียร กล่าวอีกว่า ภายใน 2-3 ปีการค้าชายแดนระหว่างไทย-ลาวในจุดนี้จะเปลี่ยนไป เพราะเส้นทางคมนาคมทางบก เชื่อมโยงระหว่างด่านภูดู่ อำเภอบ้านโคก จังหวัดอุตรดิตถ์ไปยังเมืองปากลาย แขวงไชยยะบุรี สปป.ลาว ระยะทาง 32 กิโลเมตร ตามที่มติคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบให้กระทรวงการคลัง โดย สพพ.ให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่สปป. ลาว แบบให้เปล่าร้อยละ 20 และเงินกู้ร้อยละ 80 ของมูลค่าโครงการประมาณ 800 ล้านบาท จะทำการก่อสร้างเสร็จในปี 2560 และทางสปป.ลาวได้สร้างสะพานข้ามน้ำโขงถึง 4 แห่ง ที่จะเชื่อมโยงไปยังแขวงต่างๆ ได้สะดวกขึ้น

ขณะเดียวกัน ในอนาคตด่านภูดู่จะเป็นพื้นที่แลนด์ลิงค์ ในการเชื่อมต่อระเบียงเศรษฐกิจเหนือ-ใต้ 3 ช่องทางสำคัญ คือ

1. จากคุณหมิง-ลาว-กรุงเทพฯ ระยะทาง 1,800 กิโลเมตร   
2. ระเบียงเศรษฐกิจเชียงใหม่-ด่านภูดู่-ด่านท้องถิ่นผาแก้ว-เวียงจันทน์ ระยะทาง 646 กิโลเมตร  
3ระเบียงเศรษฐกิจพม่า-ไทย-ลาว ระหว่างเมืองเมาะละแหม่งของพม่าเชื่อมต่อมายังด่านภูดู่ จังหวัดอุตรดิตถ์ และต่อเนื่องไปยังเมืองหลวงพระบาง และนครเวียงจันทน์ สปป.ลาว ระยะทาง 888 กิโลเมตร

ประการสำคัญ ด่านภู่ดู่จะเป็นประตูหน้าด่านไทย-ลาวที่สำคัญอีกจุดหนึ่งของภาคเหนือ เมื่อเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนเพราะสามารถเดินทางด้วยทางบกเข้าสู่นครเวียงจันทน์ของสปป.ลาวได้อย่างสะดวก และในมิติของการท่องเที่ยวยังสามารถพัฒนาเส้นทางท่องเที่ยวระหว่างเมืองมรดกโลกอย่างหลวงพระบางของสปป.ลาวกับ เมืองมรดกโลกอย่างจังหวัดสุโขทัย ด้วยระยะทางเพียง 500-600 กิโลเมตรเท่านั้น อีกทั้งยังมีสถานีรถไฟศิลาอาสน์ที่จะเชื่อมต่อการขนส่งทางระบบรางไปยังท่าเรือคลองเตย, และแหลมฉบัง ก่อนขนส่งสินค้าข้ามแดนไปประเทศที่ 3

จากความเคลื่อนไหวของ สปป.ลาว & ไทย ณ ปัจจุบัน  ต้องยออมรับว่า สปป.ลาว มีความก้าวหน้ามากว่าไทยหลายช่วงตัวเลยทีเดียว  ซึ่งบางส่วนของบทความเรื่อง "สปป.ลาว พ.ศ.2563" จากไทยรัฐออนไลน์ /22  ส.ค. 57  ได้กล่าวไว้อย่างน่าสนใจว่า......."การพัฒนาเศรษฐกิจของไทยสะดุดหยุดกึก เมื่อเรามีวิกฤตการณ์การเมืองตั้งแต่ พ.ศ.2548 ห้วง 9 ปี ที่เราพัฒนาแบบไม่มีทิศทาง แต่ประเทศเพื่อนบ้านกลับพัฒนาอย่างต่อเนื่องมั่นคง .......ภายใน พ.ศ.2563 สปป.ลาว จะตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษได้ครบ 25 แห่งทั่วประเทศ ในขณะที่ฝั่งไทยวุ่นวายไปด้วยความขัดแย้ง แต่ทางฝั่งลาวกลับประชุมกันเป็นระยะเรื่องการพัฒนา ตัวอย่างเช่นตรงฝั่งไทยเป็นบ้านม่วงเจ็ดต้น จังหวัดอุตรดิตถ์ ซึ่งดูยังเงียบๆ ทว่าทางฝั่งลาว กลับบูมตูมตามด้วยการเตรียมจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษที่บ้านผาแก้ว เมืองปากลาย แขวงไชยะบุรี.......ผู้อ่านท่านลองหลับตาจินตนาการถึงชายแดนของจังหวัดเชียงราย พะเยา น่าน อุตรดิตถ์ พิษณุโลก และเลย ในอีก 10-20 ปีข้างหน้าเถิดครับ แผ่นดินของไทยที่ประชิดกับทางตะวันตกสุดของ สปป.ลาว จะเผชิญกับเมืองที่เจริญทางฝั่งโน้น......."

> พม่าเปิดประตูเมือง 'เมียวดี'


สะพานมิตรภาพไทย - พม่า (แม่สอด - เมียวดี)


ด่านพม่าเมืองเมียวดี


นางมะติ่นติ่น เมี๊ยะ ประธานหอการค้าจังหวัดเมียวดี ประเทศพม่า


พม่าปรับตัวรับเออีซี เตรียมยกระดับหัวเมือง "เมียวดี" ผ่อนคลายกฎระเบียบการค้า-ลงทุนรับเออีซี 

หอการค้าจังหวัดเมียวดี เผยรัฐบาลพม่าปรับตัวเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน เดินหน้ายกระดับหัวเมืองชายแดน "เมียวดี" รอบด้าน พร้อมนำระบบวันสต็อบเซอร์วิสผ่อนกฎระเบียบการค้าเอื้อการค้า-การลงทุนขณะที่ความเคลื่อนไหวการลงทุนโรงแรมระดับ 2-4 ดาวคึกคัก รองรับนักเที่ยวไทย-ต่างชาติเข้าพื้นที่ ระบุปลายปีนี้พร้อมเปิดศูนย์แสดงสินค้าโมเดลเดียวกับเขตเศรษฐกิจพิเศษมูเซ หวังดึงนักลงทุนต่างชาติเข้าลงทุนในเขตเศรษฐกิจพิเศษ-เขตอุตสาหกรรมเมียวดี 

นางมะติ่นติ่น เมี๊ยะ ประธานหอการค้าจังหวัดเมียวดี ประเทศพม่า เปิดเผยว่า หลังจากรัฐบาลพม่าได้เปิดประเทศ ทำให้ปัจจุบันนี้จังหวัดเมียวดี ในฐานะเมืองหน้าด่านการค้าชายแดนระหว่างพม่ากับไทย และเป็นประตูเชื่อมต่อจากกรุงย่างกุ้งเข้ามาสู่ประเทศไทยได้ใกล้ที่สุด ผ่านเส้นทางเมืองเมาะละแม่ง รัฐมอญ เข้ามายังจังหวัดกอกาเร็ก และจังหวัดเมียวดี ก่อนเข้ามาสู่ชายแดนไทยที่อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก โดยพบว่ามีการเปลี่ยนแปลงทางด้านการค้า การลงทุน และการท่องเที่ยวอย่างรวดเร็ว เพื่อเตรียมตัวให้พร้อมรองรับการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนในปี 2558 

> เมียวดีคึกเร่งงานก่อสร้าง 

ขณะนี้การเปลี่ยนแปลงที่ชัดเจนที่สุด คือ การก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานเชื่อมโยงเส้นทางคมนาคมระหว่างไทย-พม่าให้มีความสะดวกขึ้น บริเวณจากจังหวัดเมียวดีเมียวดี-เชิงเขาตะนาวศรี ไปจนถึงเมืองกอกาเรก ระยะทางรวมประมาณ 45 กม. จะใช้งบประมาณรวมกันกว่า 1,000 ล้านบาท ทั้งการเปิดเส้นทางใหม่และการปรับปรุงเส้นทางเดิมให้ดีขึ้น โดยรัฐบาลไทยลงทุนให้ประเทศพม่าคาดว่าจะใช้เวลา 1-2 ปีจะแล้วเสร็จ โดยขณะนี้มีความคืบหน้าไปกว่า 50% 

นอกจากนี้ สภาพในเขตจังหวัดเมียวดี ยังมีการก่อสร้างบ้านพักอาศัย และโรงแรมเกิดขึ้นอย่างเนื่องตลอดระยะเวลา 1-2 ปีนี้ อันเป็นผลมาจากการขยายตัวทางเศรษฐกิจ และการท่องเที่ยว โดยเฉพาะธุรกิจโรงแรมอยู่ระหว่างการก่อสร้างใหม่ 4-5 แห่ง ขนาด 60-100 ห้อง ตั้งแต่ระดับ 2 ดาว - 4 ดาว เพื่อรองรับการหลั่งไหลเข้ามาของนักธุรกิจต่างชาติ และนักท่องเที่ยวชาวต่างประเทศ จากเดิมจะมีเฉพาะที่พักในลักษณะโมเต็ลไม่ต่ำกว่า 30 แห่ง มีห้องพักรวม 1,000 ห้อง เพื่อรองรับพ่อค้าแม่ค้าชาวพม่าที่เข้ามาซื้อขายสินค้า และติดต่อธุรกิจระหว่างไทย-พม่า 

> โหมกิจกรรมหนุนท่องเที่ยว 

สำหรับการเติบโตทางด้านการท่องเที่ยวนั้น นับว่าอยู่ในระดับก้าวกระโดด มีนักท่องเที่ยวชาวไทย และชาวต่างประเทศ สามารถถือพาสปอร์ตเข้ามาท่องเที่ยวยังจังหวัดเมียวดี เช่นเดียวกับชาวพม่าสามารถทำพาสปอร์ตได้ที่เมืองเมาะละแหม่ง, ย่างกุ้ง และพะอันได้ โดยไม่ต้องเดินทางเข้าไปยังกรุงเนปิดอว์ และสามารถรับพาสปอร์ตได้ในเวลาเพียง 1 อาทิตย์เท่านั้น แตกต่างจากเมื่อก่อนที่มีการคุมเข้มการออกพาสปอร์ต จึงทำให้บรรยากาศการท่องเที่ยวคึกคัก และเกิดการลงทุนด้านการบริการตามมา ภายใต้การทำงานระบบวันสต็อบเซอร์วิส 

"ล่าสุด ทางจังหวัดตาก และจังหวัดเมียวดี ได้จัดกิจกรรมมหกรรม ปั่นจักรยานมิตรภาพไทย-เมียนมาร์ 2014 ครั้งที่ 15 และเป็นครั้งแรกที่ได้มีการเปิดพื้นที่บ้านห้วยส่าน จังหวัดเมียวดี ซึ่งเป็นชุมชนของคนไทยพลัดถิ่น และมีวิถีชีวิตเหมือนคนภาคเหนือของไทย เพื่อที่จะร่วมกันพัฒนาให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมแห่งใหม่ในอนาคต เพราะต่อไปเมื่อเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน จะทำให้มีแหล่งท่องเที่ยวรองรับการหลั่งไหลเข้ามาของนักท่องเที่ยวได้ "นางมะติ่น ติ่น เมี๊ยะ กล่าว 

> รัฐบาลพม่าหนุนบทบาทเอกชน 

รัฐบาลพม่าเริ่มเปิดโอกาสให้ภาคเอกชนของเมืองชายแดน มีบทบาทในการสนับสนุน และส่งเสริมการค้า การลงทุนในพื้นที่มากขึ้น โดยหอการค้าจังหวัดเมียวดีตั้งขึ้นมาเมื่อปี 2534 ปัจจุบันมีสมาชิก 2,000 ราย เป็นผู้ประกอบการทุกแขนงที่มีการรวมตัวกัน แต่ส่วนใหญ่จะเป็นผู้ประกอบการธุรกิจโรงแรม, ชิปปิ้ง และสินค้าอุปโภคบริโภค โดยขณะนี้ได้ทำหน้าที่เป็นตัวกลางในการจับคู่ผู้ประกอบการในพม่า และต่างประเทศให้มาร่วมทำการค้ากัน เพื่อสร้างความเชื่อมั่นในการเข้ามาลงทุนในประเทศพม่า 

ที่สำคัญ ในช่วงปลายปีนี้ ทางจังหวัดเมียวจะเปิดศูนย์แสดงสินค้าในเขตเศรษฐกิจพิเศษเมียวดี โดยใช้โมเดลเดียวกับเขตเศรษฐกิจพิเศษมูเซ ของพม่า โดยจะมีการจับคู่ธุรกิจในรูปแบบของงานแสดงสินค้า โดยจะเชิญผู้ประกอบการค้าของพม่า และไทย เข้ามร่วมจัดแสดงสินค้า เพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนสินค้า และการดึงดูดนักลงทุนชาวต่างประเทศให้เข้ามาลงทุนอุตสาหกรรมต่างๆ ในเขตเศรษฐกิจพิเศษเมียวดีมากขึ้น 

> เร่งพัฒนานิคมฯ รับลงทุน 

นางมะติ่นติ่น กล่าวอีกว่า ขณะนี้ทางรัฐบาลพม่าได้เข้ามาพัฒนาพื้นที่เขตนิคมอุตสาหกรรมบนพื้นที่ประมาณ 6,000-8,000 ไร่ ซึ่งอยู่ใกล้กับพื้นที่ของเขตเศรษฐกิจพิเศษเมียวดี เพื่อรองรับการลงทุน โดยพร้อมที่จะรองรับการลงทุนในอุตสาหกรรมเกษตร, อุตสาหกรรมแปรรูป และอุตสาหกรรมการ์เม้นท์ หลังจากที่ก่อนหน้านี้ ได้มีการพัฒนาเขตนิคมอุตสาหกรรมผาอันไปก่อนแล้วบนพื้นที่ประมาณ 1,000 ไร่ ซึ่งต่อไปเชื่อว่าจะได้รับความสนใจจากนักลงทุนเพิ่มขึ้น 

> คลายกฎอำนวยความสะดวกการค้า 

ขณะเดียวกัน ทางรัฐบาลพม่ายังปรับกฎระเบียบทางการค้า ด้วยการอำนวยความสะดวกให้ผู้ประกอบการขอยื่นจดทะเบียนพาณิชย์ที่จังหวัดเมียวดีได้ โดยไม่ต้องเดินทางไปกรุงเนปิดอว์ เช่นเดียวกับการขอใบอนุญาตินำเข้าสินค้าสามารถยื่นได้ที่จังหวัดเมียวดี และใช้เวลาในการอนุมัติเพียง 1 วันจากเดิมต้องใช้เวลานานกว่านี้ รวมถึงสินค้ากว่า 1,900 ชนิด จาก 80,000 ชนิด เช่น อุปกรณ์การเกษตร, สินค้าอุปโภคบริโภค และการ์เมนท์ ไม่จำเป็นต้องขอใบอนุญาต แสดงให้เห็นถึงการปรับเปลี่ยนกฎระเบียบให้สอดคล้องกับการค้ากับประเทศเพื่อนบ้านมากขึ้น 
อย่างไรก็ตาม ทางหอการค้าจังหวัดเมียวดี เล็งเห็นว่าขณะนี้สะพานมิตรภาพไทย-พม่า แห่งที่ 1 รองรับน้ำหนักได้จำกัดไม่เกิน 25 ตัน และเกิดปัญหาจราจรแออัดทั้งฝั่งไทย และฝั่งพม่า อีกทั้งยังต้องใช้วิธีขนถ่ายสินค้าหลายทอด ทำให้ต้นทุนสินค้าสูงขึ้น จึงสนับสนุนให้มีการก่อสร้างสะพานมิตรภาพไทย-พม่า แห่งที่ 2 เพื่อสามารถขนส่งสินค้าที่รองรับน้ำหนักได้เพิ่มขึ้น และการลำเลียงสินค้าจะมีความรวดเร็วขึ้น ซึ่งจะหมายถึงระบบโลจิสติกส์ระหว่งไทยกับพม่าจะถูกพัฒนาไปโดยอัตโนมัติ 

จากการที่ได้นำเสนอกรณีเขตเศรษฐกิจพิเศษขวงไชยะบุรี สปป.ลาว และจังหวัดเมียวดี สหภาพพม่า ข้างต้นนั้น  ก็เพื่อเพิ่มแรงกระตุ้นในการเร่งรัดพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษของไทยให้มีความเข้มแข็ง รวดเร็ว ทั้งในระดับพื้นที่ที่ต้องมีการวางแผนงานโครงการ และประชาสัมพันธ์ความก้าวหน้าอย่างต่อเนื่อง และระดับรัฐบาลที่มีอำนาจกการตัดสินใจสั่งการ รวมทั้งสนับสนุนด้านงบประมาณอย่างเหมาะสม เพราะหากพิจารณาเชิงยุทธศาสตร์ให้ดี ๆ จะเห็นว่าจุดที่เป็น "เขตเศรษฐกิจพิเศษ" ทั้งของไทยและประเทศเพื่อนบ้าน  เปรียบเสมือนคล้ายป้อมปราการหรือประตูหน้าด่านชายแดน ที่ทำหน้าที่สำคัญมากขึ้นในการตรวจตราการเข้าออกของทุกๆสิ่ง จึงจำเป็นที่เราต้องสร้างเขตเศรษฐกิจพิเศษของเราให้ดีที่สุด..ทันสมัยที่สุด  ซึ่งอาจจะดูล่าช้าอยู่บ้าง....แต่หากสถานการณ์บ้านเมืองสงบเรียบร้อย การพัฒนาประเทศจะกลับมาอย่างยั่งยืนต่อไป





ขอบคุณ  :  1)  http://www.mfa.go.th
                2)  http://www.thairath.co.th
                3)  http://www.bangkokbiznews.com

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

หลวงพ่อฮวบ วัดสามัคยาราม ต.บ้านด่าน อ.เมือง จ.อุตรดิตถ์

หลวงพ่อกล่อม พรมสโร วัดป่ากะพี้ อ.พิชัย จ.อุตรดิตถ์

พระครูธรรมฐิติวงศ์คีรีเขตร (บุญใหญ่ อินทปญโญ) วัดเจดีย์คีรีวิหาร อ.ลับแล จ.อุตรดิตถ์