วัดคุ้งตะเภา : วัดที่มีพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ 2 องค์


ภาพพาโนรามาวัดคุ้งตะเภาในปัจจุบัน

เมื่อครั้งที่แล้วได้เคยแนะนำให้เพื่อน ๆ และสมาชิกทุกท่านได้รู้จักพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นวัดคุ้งตะเภา ซึ่งได้รับการคัดเลือกเป็น 1 ใน 4 พิพิธภัณฑ์จากทั่วประเทศให้ได้รับรางวัล "พิพิธภัณฑ์ต้นแบบการเรียนรู้"(ประเภทวัดและชุมชน) จากสถาบันพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งชาติ (สพร.) ประจำปี 2557 แล้วนั้น  เพื่อความต่อเนื่องและความสมบูรณ์ในเนื้อหาสาระ  จึงขอนำเสนอเรื่องราวของวัดคุ้งตะเภา  ซึ่งขอบอกว่า สำหรับท่านที่ชื่นชอบเกี่ยวกับศิลปะวัฒนธรรมคงไม่ผิดหวังอย่างแน่นอน


ประวัติความเป็นมา  

วัดคุ้งตะเภา เป็นวัดโบราณ ไม่มีหลักฐานแน่ชัดว่าเริ่มสร้างมาแต่สมัยใด สันนิษฐานว่าน่าจะเริ่มมีพระภิกษุสงฆ์จำพรรษามาตั้งแต่สมัยอยุธยา มีเพียงหลักฐานสืบค้นชั้นเก่าสุดจากหลักฐานประวัติวัดทั่วราชอาณาจักร ระบุว่าได้รับอนุญาตให้ตั้งวัดในสมัยธนบุรี พ.ศ. 2313 หลักฐานดังกล่าวทำให้ทราบว่าอย่างน้อยวัดแห่งนี้มีอายุสองร้อยกว่าปีเศษโดยนามวัดเดิมมีชื่อว่า "คุ้งสำเภา" ตามนามหมู่บ้าน แต่ต่อมาถูกเรียกเพี้ยนเป็น "คุ้งตะเภา" ซึ่งปรากฏหลักฐานว่ามีการเรียกเพี้ยนเช่นนี้มาแล้วตั้งแต่สมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ 

จากหลักฐานตำนานของชื่อหมู่บ้านคุ้งตะเภา ทำให้ทราบว่าวัดคุ้งตะเภามีอายุมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาลงไป หากแต่เป็นวัดที่พักสงฆ์ในชุมชนขนาดเล็ก ไม่มีศาสนสถานปลูกสร้างใหญ่โตก่ออิฐถือปูนเช่นวัดสำคัญในชุมชนใหญ่ จึงอาจทำให้ตกสำรวจการขึ้นทะเบียนของกรมการเมืองในสมัยอยุธยา หรืออาจเป็นไปได้ว่าหลักฐานในครั้งนั้นได้สูญหายไปเมื่อคราวสงครามเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่สองแล้ว ทำให้นามวัดพึ่งมาปรากฏขึ้นในทะเบียนหลักฐานในปี พ.ศ. 2313 อันเป็นปีที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชแห่งกรุงธนบุรีเสด็จขึ้นมาปราบปรามชุมนุมเจ้าพระฝางที่เมืองสวางคบุรี พร้อมกับมีพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าฯ ให้จัดการการปกครองหัวเมืองฝ่ายเหนือใหม่ ซึ่งในคราวนั้นพระองค์ได้ทรงจัดการชำระคณะสงฆ์ฝ่ายเหนือใหม่ทั้งหมดด้วย ดังปรากฏหลักฐานในพระราชพงษาวดารฉบับพระราชหัตถเลขา ระหว่างจลาจล จุลศักราช 1129 - 113 ทำให้วัดคุ้งตะเภาปรากฏหลักฐานการตั้งวัดในเอกสารของทางการมาตั้งแต่นั้น 


โค้งสำเภาล่ม หลังวัดคุ้งตะเภาในปัจจุบัน เป็นที่มาของชื่อตำบลคุ้งตะเภา

นอกจากนี้ จากความในพระราชหัตถเลขาของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 คราวเสด็จประพาสมณฑลฝ่ายเหนือ ในปี พ.ศ. 2444 ทำให้ทราบว่าในสมัยนั้นหาดหน้าวัดได้งอกจากตลิ่งแม่น้ำเดิมไปมากแล้ว และคงมีสะพานไม้ทอดยาวลงไปหาแม่น้ำน่านมาก่อนหน้านั้น (คนคุ้งตะเภาเล่ากันมาว่าวัดคุ้งตะเภาเป็นวัดแห่งเดียวในแถบนี้ที่มีสะพานไม้ยาวดังกล่าว) โดยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้เสด็จพระราชดำเนินทางชลมารคโดยเรือพระที่นั่งสมจิตรหวังผ่านหน้าวัดคุ้งตะเภาทางแม่น้ำน่าน ในวันที่ 25 ตุลาคม พ.ศ. 2444 ซึ่งพระองค์ทรงสังเกตว่าวัดคุ้งตะเภาแปลกกว่าวัดอื่นตรงที่มีสะพานไม้ทอดยาวมาหาแม่น้ำน่าน โดยพระองค์ได้มีพระบรมราชาธิบายถึงสภาพวัดคุ้งตะเภาในสมัยนั้นที่มีที่ตั้งอยู่บนตลิ่งน้ำไกลจากแม่น้ำน่านมากไว้ว่า 

"...แลเห็นพุ่มไม้วัดแลบ้านลิบ ๆ แต่ในการที่จะมาต้อนรับนั้น ต้องมาตกแต่งซุ้มแลปรำบนหาดซึ่งไม่มีต้นไม้แต่สักต้นเดียว แดดกำลังร้อนต้องมาจากบ้านไกลเปนหนักเปนหนา วัด (คุ้งตะเภา) ที่ตั้งอยู่บนตลิ่งหลังหาดต้องทำตพานยาวนับด้วยเส้น ลงมาจนถึงหาดที่ริมน้ำ แต่ถ้าน่าแล้งเช่นนี้ ตพานนั้นก็อยู่บนที่แห้ง แลยังซ้ำห่างน้ำประมาณเส้น ๑ หรือ ๑๕ วา ถ้าจะลงเรือยังต้องลุยน้ำลงมาอีก ๑๐ วา ๑๕ วา..."

>>พระราชหัตถเลขา พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ คราวเสด็จประพาสมณฑลฝ่ายเหนือ พุทธศักราช ๒๔๔๔<<

และด้วยเหตุที่แม่น้ำเปลี่ยนทิศไปไกลจากวัดในภายหลัง ทำให้แม่น้ำน่านหน้าวัดกลายเป็นที่งอก แต่ก็ยังคงสภาพเป็นตลิ่งเก่าที่กลายเป็นตลิ่งลำมาบของแม่น้ำน่านในฤดูฝน มีบุ่งน้ำขังในช่วงหน้าแล้งบ้าง พระสงฆ์และชาวบ้านคุ้งตะเภาในสมัยนั้นจึงจำต้องทำสะพานไม้ยาวต่อจากวัดลงข้ามมาลงบุ่งคุ้งตะเภาและลงไปแม่น้ำน่านเพื่อการสัญจรและอุปโภคบริโภคในช่วงฤดูแล้ง


วัดคุ้งตะเภาปัจจุบัน 

เป็นวัดโบราณในเขตการปกครองของคณะสงฆ์มหานิกาย และเป็น 1 ใน 9 วัดศักดิ์สิทธิ์สำคัญของจังหวัดอุตรดิตถ์  ตั้งอยู่ที่ หมู่บ้านคุ้งตะเภา  ตำบลคุ้งตะเภา อำเภอเมือง จังหวัดอุตรดิตถ์ ใกล้กับจุดตัดสี่แยกคุ้งตะเภา บนทางหลวงแผ่นดินหมายเลขที่ 11 (ถนนสายเอเชีย พิษณุโลก-เด่นชัย)


ซุ้มปากทางเข้าวัดคุ้งตะเภา(ซ้ายมือ) ติดทางหลวงหมายเข 11 (พิษณุโลก-เด่นชัย)


 บริเวณหน้าวัดคุ้งตะเภาในปัจจุบันเคยเป็นพื้นที่หลังวัด เนื่องจากวัดคุ้งตะเภาในอดีต สร้างหันหน้าเข้าหาแม่น้ำน่านมาตั้งแต่สมัยอยุธยา


ซุ้มปากทางเข้าวัดคุ้งตะเภา มองออกไปจะเป็นทางหลวงหมายเข 11 (พิษณุโลก-เด่นชัย)

วัดแห่งนี้เป็นวัดที่เก่าแก่ที่สุดในเขตปกครองคณะสงฆ์ตำบลคุ้งตะเภา โดย เป็นวัดที่เป็นที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ และสองพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ที่เป็นที่เคารพศรัทธายิ่งของชาวตำบลคุ้งตะเภา ซึ่งพระพุทธรูปทั้งสององค์นั้นจัดได้ว่าเป็น 2 ใน 9 พระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์สำคัญคู่บ้านคู่เมืองอุตรดิตถ์ คือ พระพุทธสุวรรณเภตรา และพระพุทธสุโขสัมฤทธิ์อุตรดิตถ์มุนี

ปัจจุบันวัดคุ้งตะเภาเป็นวัดประจำตำบลที่มีสถิติพระภิกษุสามเณรจำพรรษามากที่สุดในตำบลคุ้งตะเภา เป็นศูนย์กลางทางด้านศาสนศึกษาของคณะสงฆ์และคฤหัสถ์ในเขตปกครองคณะสงฆ์ตำบลคุ้งตะเภาโดยพฤตินัย โดยเป็นที่ตั้งของศูนย์ศึกษาพระพุทธศาสนาวันอาทิตย์ สำนักเลขานุการรองเจ้าคณะอำเภอเมืองอุตรดิตถ์ฝ่ายการศึกษาคณะสงฆ์ สำนักศาสนศึกษาประจำตำบล และหน่วยอบรมประชาชนประจำตำบลคุ้งตะเภา (อปต.) ซึ่งเป็นหน่วยอบรมฯ ที่มีผลงานดีเด่นระดับจังหวัดอุตรดิตถ์  โดยมี พระสมุห์สมชาย จีรปุญฺโญ (แสงสิน) เป็นเจ้าอาวาสวัดคุ้งตะเภา (จร.) 



ศาลาการเปรียญหลังเก่า  สร้าง พ.ศ. 2483    


ศาลาการเปรียญหลังใหม่ สร้าง พ.ศ. 2550


ปูชนียวัตถุสำคัญ



 หลวงพ่อสุวรรณเภตรา เป็นพระประธานในอุโบสถ หน้าตักกว้าง 47 นิ้ว สูง 62 นิ้ว  
"พระพุทธสุวรรณเภตรา มหาบรมไตรโลกเชษฐ์ วรเสฏฐมุนี โอฆวิมุตตินฤบดี ศรีบรมไตรโลกนารถ โลกธาตุดิลก ฯ"


1. หลวงพ่อสุวรรณเภตรา

"หลวงพ่อสุวรรณเภตรา" เป็นพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ หล่อด้วยสัมฤทธิ์ปางมารวิชัย มีพุทธลักษณะสมัยสุโขทัย  ประดิษฐานอยู่ใจกลางอุโบสถวัดคุ้งตะเภา ได้หล่อขึ้นเมื่อปีพ.ศ. 2489 โดยพระครูธรรมกิจจาภิบาล (หลวงพ่อกลม) ซึ่งเป็นเจ้าอาวาสวัดดอยท่าเสาอยู่ในขณะนั้น (ท่านเป็นคนคุ้งตะเภาโดยกำเนิด) ได้ปรารภให้จัดสร้างพระพุทธรูปขึ้น เพื่อนำไปประดิษฐานเป็นพระประธานในอุโบสถวัดคุ้งตะเภาที่ได้สร้างขึ้นใหม่ จึงได้ทำพิธีเททองหล่อขึ้น ณ วัดดอยท่าเสา โดยมีพระเกจิอาจารย์ที่เป็นที่นับถือเลื่อมใสในขณะนั้นนั่งปรกอธิษฐาน ในการหล่อครั้งนั้นมีประชาชนผู้เลื่อมใสศรัทธานำโลหะมีค่าต่าง ๆ เช่นทองคำ เงิน ฯลฯ มาร่วมถวายหล่อเป็นพุทธบูชาเป็นจำนวนมาก และเมื่อหล่อเสร็จ ก็ปรากฏว่าทองคำได้แล่นลงที่เศียรพระมากอย่างน่าอัศจรรย์ จึงปรากฏองค์พระพุทธรูปซึ่งกรอปไปด้วยพุทธสิริศุภลักษณะมีพระพักตร์อิ่มเอิบสุกปลั่งประดุจดั่งทองคำ (ซึ่งเมื่อผู้ใดมองไปที่พระพักตร์ขององค์ท่านก็จะทราบด้วยตนเองว่า พระพุทธรูปองค์นี้ "ยิ้มได้" อย่างน่าอัศจรรย์) มีเรื่องเล่าที่ผู้เฒ่าผู้แก่ในหมู่บ้านเล่ากันสืบมาด้วยความศรัทธาว่า ในวันที่ทำพิธีอัญเชิญหลวงพ่อมาทางน้ำเพื่อมาประดิษฐานที่อุโบสถวัดคุ้งตะเภา ปรากฏว่าวันนั้นมีพายุฝนรุนแรงมาก แต่เมื่ออัญเชิญองค์หลวงพ่อขึ้นฝั่งก็ปรากฏว่าฝนที่กำลังตกหนักอย่างไม่มีทีท่าว่าจะหยุดตกกลับพลันหยุดตกทันที และเมฆฝนที่ปกคลุมอาณาบริเวณมณฑลพิธีกลับพลันสลาย และแดดกลับออกจ้าอย่างน่าอัศจรรย์ใจแก่ผู้ร่วมพิธีในวันนั้นเป็นอย่างยิ่ง
หลวงพ่อสุวรรณเภตรา หรือที่แปลว่า หลวงพ่อสำเภาทอง เป็นพระนามที่ชาวบ้านคุ้งตะเภาได้ขนานถึงด้วยความเลื่อมใสศรัทธานับถือมาช้านาน ประวัติความเป็นมาอภินิหารความศักดิ์สิทธิ์ของพระพุทธรูปองค์นี้และวัตถุมงคลที่สร้างขึ้นเนื่องด้วยองค์ท่าน เป็นที่นับถือเลื่องลือมาช้านาน เห็นได้จากการกล่าวขานเลื่องลือถึงฤทธานุภาพความศักดิ์สิทธิ์แคล้วคลาดด้วยบารมีแห่งผู้ที่เคารพบูชาวัตถุมงคล เนื่องด้วยองค์ท่านอยู่เนือง ๆ และการที่มีผู้มาบนบานและแก้บนองค์หลวงพ่ออยู่เป็นประจำมิว่างเว้น 


Phra Buddha Sukosamrit Uttaraditmuni.jpg

พระพุทธสุโขสัมฤทธิ์อุตรดิตถ์มุนี ประดิษฐานภายในหอพระพุทธสุโขสัมฤทธิ์อุตรดิตถ์มุนี บนอาคารศาลาการเปรียญเฉลิมพระเกียรติฯ 

2. พระพุทธสุโขสัมฤทธิ์อุตรดิตถ์มุนี 
พระพุทธสุโขสัมฤทธิ์อุตรดิตถ์มุนี หรือนามสามัญ หลวงพ่อสุโขสัมฤทธิ์ เป็น พระพุทธรูปปางมารวิชัย หล่อด้วยทองสัมฤทธิ์บริสุทธิ์ (หน้าตักกว้าง 2 ศอก 13 นิ้ว สูง 3 ศอก 7 นิ้ว) พุทธลักษณะงดงามตามแบบอย่างสกุลช่างสุโขทัย-เชียงแสน ซึ่งเป็นแบบที่พบได้น้อยมากและหายากที่สุด  มีอายุประมาณ 800 ปี มีประวัติความเป็นมาและอภินิหารที่น่าสนใจยิ่ง ปัจจุบันประดิษฐานอยู่ที่วัดคุ้งตะเภา เดิมทางวัดไม่เปิดเผยสถานที่ประดิษฐานและไม่ให้บุคคลทั่วไปเข้าสักการะได้ถึงองค์พระ เนื่องด้วยปัญหาด้านการรักษาความปลอดภัย ปัจจุบันพระพุทธรูปองค์นี้ได้รับยกย่องเป็นหนึ่งในพระพุทธรูปโบราณสำคัญคู่บ้านคู่เมืองอุตรดิตถ์

3. พระบรมสารีริกธาตุ
วัดคุ้งตะเภา เป็นวัดหนึ่งในไม่กี่วัดของจังหวัดอุตรดิตถ์ที่มีพระบรมสารีริกธาตุขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าประดิษฐานไว้ภายนอกพระมหาเจดีย์ปิด (พระเจดีย์ที่ก่อสร้างขึ้นบนสถานที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ หรือบรรจุไว้ในองค์พระเจดีย์อย่างถาวรตามคติโบราณที่ไม่สามารถเคลื่อนย้ายพระบรมสารีริกธาตุได้) 

     3.1 พระบรมสารีริกธาตุจากสมเด็จพระสังฆนายกแห่งสหภาพพม่า 
โดยพระบรมสารีริกธาตุส่วนที่ได้รับมาจากสมเด็จพระสังฆนายกแห่งประเทศพม่านั้น วัดคุ้งตะเภาได้รับมอบถวายต่อมาจากพระธรรมธีรราชมหามุนี (เที่ยง อคฺคธมฺโม ป.ธ.๙) เจ้าอาวาสวัดระฆังโฆสิตารามวรมหาวิหาร, เจ้าคณะภาค 11 (นครราชสีมา บุรีรัมย์ ชัยภูมิ สุรินทร์) ซึ่งมีจำนวน 3 พระองค์  (ปัจจุบันเสด็จเพิ่มมาอีก 1 พระองค์ รวมเป็น 4 พระองค์) เป็นพระบรมสารีริกธาตุส่วนวิปปกิณณธาตุ ซึ่งเป็นของเดิมที่รัฐบาลพม่าโดยการนำของฯพณฯ อูนุ นายกรัฐมนตรีคนแรกของประเทศพม่า ค้นพบในพระมหาธาตุเจดีย์เมืองพุกามเมื่อปี พ.ศ. 2499 ซึ่งเป็นของเดิมที่ได้มาแต่ครั้งพระเจ้าอโศกมหาราชส่งพระอรหันต์สมณทูตมาเจริญพระศาสนายังเมืองสุธรรมวดี เมื่อกว่า 2,300 ปี ก่อน และถูกได้อัญเชิญมายังเมืองพุกามในปี พ.ศ. 1600



พระบรมสารีริกธาตุ ที่สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปรินายก ทรงมอบประทานให้แก่วัดคุ้งตะเภา 

    3.2 พระบรมสารีริกธาตุจากสมเด็จพระสังฆราชแห่งราชอาณาจักรไทย 

พระบรมสารีริกธาตุในส่วนที่ได้รับมอบประทานมาจากพระสังฆราชไทย มีจำนวน 9 พระองค์ โดยเป็นพระบรมสารีริกธาตุส่วนพระองค์ของสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปรินายก   ซึ่งเป็นพระบรมสารีริกธาตุที่รักษาสืบมาตั้งแต่ครั้งพระพุทธศาสนามาตั้งมั่นในสยามประเทศ และเป็นพระบรมธาตุส่วนเดียวกับที่ได้ทรงแบ่งอัญเชิญไปประดิษฐานยังพระมหาธาตุนภเมทนีดลและพระมหาธาตุนภพลภูมิสิริ บนยอดดอยอินทนนท์


ผอบหินสบู่และองค์พระบรมสารีริกธาตุจากประเทศอินเดียที่ประดิษฐานในวัดคุ้งตะเภา 

    3.3 พระบรมสารีริกธาตุจากประเทศสาธารณรัฐอินเดีย 

และพระบรมสารีริกธาตุจากประเทศสาธารณรัฐอินเดีย เป็นพระบรมสารีริกธาตุที่ได้จากการถวายพระเพลิงพระบรมศพองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ณ มกุฏพันธนเจดีย์ กรุงกุสินารา แคว้นมัลละ ชมพูทวีป เมื่อ 1 ปี ก่อนพุทธศักราช โดยวัดคุ้งตะเภาได้รับมอบถวายจาก พระครูปลัดสุวัฒนพุทธิคุณ  Phrakru Paladsuvatanaputthikun (Dr.Visine Vajiravungso) ประธานสงฆ์วัดไทยสิริราชคฤห์ อำเภอนาลันทา รัฐพิหาร สาธารณรัฐอินเดีย (Watthaisirirajgir Rajkir Nalanda Dist. Bihar India) ซึ่งเป็นพระบรมธาตุส่วนเดียวกับที่โทณพราหมณ์เป็นผู้จัดสรรให้แก่บรรดาเจ้าผู้ครองนครรัฐโบราณสมัยพุทธกาล 8 พระนครทั่วชมพูทวีป ตามคำบัญชาของมัลลกษัตริย์ ซึ่งได้พระราชทานไปประดิษฐานยังพระนครทั้ง 8 คือ เมืองเวสาลี เมืองกบิลพัสดุ์ เมืองอัลลกัปปะ เมืองรามคาม เมืองเวฏฐทีปะ เมืองปาวา เมืองกุสินารา และเมืองราชคฤห์



บุษบกประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ 3 ประเทศ ณ วัดคุ้งตะเภา 

ปัจจุบันพระบรมสารีริกธาตุวัดคุ้งตะเภาซึ่งได้รับประทานจากสมเด็จพระสังฆราช และสมเด็จพระสังฆนายก 2 ประเทศ รวมทั้งพระบรมสารีริกธาตุจากประเทศสาธารณรัฐอินเดียดังกล่าว สถิตย์ภายในผอบแก้วพร้อมด้วยอัญมณีและทองคำ รองรับด้วยรัตนปทุมดลภายในพระรัตนเจดีย์แก้วเหนือเบญจปฎลสุวรรณฉัตรปิดทองคำแท้ประดิษฐานบนพระแท่นบุษบกบรมคันธกุฎีภายในรัตนกุฎีพุทธวิหาร กลางอาคารอสีติวัสสายุมงคลมหาศาลาการเปรียญวัดคุ้งตะเภา เปิดให้ประชาชนสักการบูชาได้ทุกวัน ตั้งแต่วิสาขบูชา พ.ศ. 2555  


            
รางวัลเกียรติคุณพระสงฆ์วัดคุ้งตะเภา (ที่สำคัญ)


http://t3.gstatic.com/images?q=tbn:ANd9GcSjKxU4i6Ih7mFTj2OVw7UcKtz9g5jJ8rKGIxw1Oot25buUlv34QA

รางวัลผู้ทำคุณประโยชน์ต่อพระพุทธศาสนาเสาเสมาธรรมจักร ประจำปี ๒๕๓๘จากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารีฯรางวัลพระราชทาน ของ

พระปลัดสมพงษ์  สมจิตฺโต
(วัดคลองโพธิ์พระอารามหลวง)


อดีตเจ้าอาวาสวัดคุ้งตะเภารูปที่ ๑๒ 

https://lh3.googleusercontent.com/_pTG3in6GYZE/TVuJyRBCSUI/AAAAAAAAJsU/wI-mNjAiNFA/s512/DSCF0942.jpg  https://lh5.googleusercontent.com/_pTG3in6GYZE/Sm7uGuzcRoI/AAAAAAAAEY4/hSzYDimt_0E/DSCF4444.jpg
ปัจจุบันท่านได้รับพระราชทานสมณศักดิ์ที่พระครูสุจิตพัฒนพิธาน  ดำรงตำแหน่งเจ้าคณะตำบลคุ้งตะเภา และเจ้าอาวาสวัดใหม่เจริญธรรม

*******************************************************

http://t3.gstatic.com/images?q=tbn:ANd9GcSjKxU4i6Ih7mFTj2OVw7UcKtz9g5jJ8rKGIxw1Oot25buUlv34QA

รางวัลผู้ทำคุณประโยชน์ต่อพระพุทธศาสนาเสาเสมาธรรมจักร ประจำปี ๒๕๕๔จากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารีฯรางวัลพระราชทาน ของ

พระสมุห์สมชาย  จีรปุญฺโญ (แสงสิน) 

เจ้าอาวาสวัดคุ้งตะเภา


https://lh6.googleusercontent.com/_pTG3in6GYZE/TVQnFV7smII/AAAAAAAAJlo/xtpU_y6qQg4/samatongkam.jpg  https://lh3.googleusercontent.com/-QAvdAne45LM/TgSyH65PpFI/AAAAAAAAM38/ngSpSuWzBB0/s512/021_1.jpg

*************************************************************

https://lh4.googleusercontent.com/_pTG3in6GYZE/TVq0iVS0cqI/AAAAAAAAJrM/JQAv5xybK48/%E0%B8%AA%E0%B8%A0%E0%B8%B2.gif

รางวัลผู้ทำคุณประโยชน์ต่อพระพุทธศาสนาพุทธคุณูปการ ประจำปี ๒๕๕๓

รางวัลจากสภาผู้แทนราษฎร ของ

พระสมุห์สมชาย  จีรปุญฺโญ (แสงสิน) 

รองเจ้าอาวาสวัดคุ้งตะเภา
 


https://lh4.googleusercontent.com/-6yPtjkraa3o/TbU0vOouwWI/AAAAAAAAMoY/WnMIAl8tXPI/s720/JPG-1054.jpg



ใบประกาศเกียรติคุณ
“รางวัลพุทธคุณูปการ รัชตเกียรติคุณ”
จาก คณะกรรมาธิการศาสนา
ศิลปะและวัฒนธรรม สภาผู้แทนราษฎร


โล่ประกาศเกียรติคุณ
“รางวัลพุทธคุณูปการ รัชตเกียรติคุณ”
จาก คณะกรรมาธิการศาสนา
ศิลปะและวัฒนธรรม สภาผู้แทนราษฎร


ยังมีอะไรต่อมิอะไรอีกมากที่ชวนให้อยากรู้  เช่น  ตำนาน  เกร็ดเล่าขาน  สถาปัตยกรรมภายในวัด เป็นต้น หากท่านที่ผ่านมาทางอุตรดิตถ์ละก้อ  อย่าลืมแวะเข้าไปกราบนมัสการสิ่งศักดิ์สิทธิ์ " พระบรมสารีริกธาตุพระสัมมาสัมพุทธเจ้า 3 ประเทศ  และพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ 2 องค์ "  เพื่อเป็นศิริมงคลแก่ตนเองและครอบครัว..นะครับ




ขอบคุณ  :  1)  http://th.wikisource.org

                2)  http://th.wikipedia.org

                3)  https://sites.google.com 

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

หลวงพ่อฮวบ วัดสามัคยาราม ต.บ้านด่าน อ.เมือง จ.อุตรดิตถ์

หลวงพ่อกล่อม พรมสโร วัดป่ากะพี้ อ.พิชัย จ.อุตรดิตถ์

พระครูธรรมฐิติวงศ์คีรีเขตร (บุญใหญ่ อินทปญโญ) วัดเจดีย์คีรีวิหาร อ.ลับแล จ.อุตรดิตถ์