เขตเศรษฐกิจพิเศษ...สำคัญอย่างไร ?


6 ใน 12 เขตเศรษฐกิจพิเศษของไทย


จากการที่ประเทศไทยจะเข้าสู่การเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ( ASEAN Economic Community: AEC) ในปี 2558 เพื่อรองรับการเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนดังกล่าว รัฐบาลได้มีนโยบายที่จะจัดตั้ง “เขตเศรษฐกิจพิเศษ” ในจังหวัดต่างๆ ตามแนวชายแดน ได้แก่ อำเภออรัญประเทศ จังหวัดสระแก้ว  อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย  และจังหวัดมุกดาหาร  เป็นต้น

เขตเศรษฐกิจพิเศษคืออะไร

เขตเศรษฐกิจพิเศษ  หมายถึง เขตพื้นที่ที่จัดตั้งขึ้นเป็นการเฉพาะตามกฎหมาย เพื่อประโยชน์ในการส่งเสริมสนับสนุน และอำนวยความสะดวก รวมทั้งให้สิทธิพิเศษบางประการในการดำเนินกิจการต่างๆ เช่น การอุตสาหกรรม การพาณิชยกรรม การบริการ หรือกิจการอื่นใดที่เป็นประโยชน์แก่การเศรษฐกิจของประเทศ

สิทธิประโยชน์ที่ผู้ประกอบการอุตสาหกรรม การพาณิชยกรรม หรือกิจการอื่นใดที่เป็นประโยชน์แก่การเศรษฐกิจของประเทศ ได้รับอยู่แล้วตามกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ในปัจจุบัน  ได้แก่ การส่งเสริมการลงทุน ตามพระราชบัญญัติส่งเสริมการลงทุน พ.ศ.2520  การนิคมอุตสาหกรรม ตามพระราชบัญญัติการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย พ.ศ.2522  และเขตปลอดอากร ตามพระราชบัญญัติศุลกากร พระพุทธศักราช 2496  โดยมีสาระสำคัญการให้สิทธิประโยชน์ ดังนี้

การจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษ ควรออกเป็นพระราชบัญญัติเช่นเดียวกับพระราชบัญญัติส่งเสริมการลงทุน พ.ศ.2520 และพระราชบัญญัติการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย พ.ศ.2522 โดยการแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติศุลกากร พระพุทธศักราช 2496  เพิ่มบทบัญญัติในหมวด 10 ตรี “เขตเศรษฐกิจพิเศษ” การจัดตั้งให้ออกเป็นประกาศกระทรวงการคลัง โดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี และผู้ที่ประกอบการในเขตดังกล่าวได้รับสิทธิประโยชน์เช่นเดี่ยวกับผู้ได้รับการส่งเสริมการลงทุน ตามพระราชบัญญัติส่งเสริมการลงทุน พ.ศ.2520  ผู้ประกอบการในนิคมอุตสาหกรรม ตามพระราชบัญญัติการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย พ.ศ.2522  และผู้ประกอบการในเขตปลอดอากร  ตามพระราชบัญญัติศุลกากร พระพุทธศักราช 2469  ตามรายละเอียดที่ได้กล่าวไว้แล้วข้างต้น

ประโยชน์ที่ได้รับจากการจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษ

การที่ประเทศไทยจะเข้าสู่การเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ในปี 2558 และประเทศไทยมีสภาพทางภูมิศาสตร์เป็นศูนย์กลางของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ การจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษ จะมีประโยชน์เป็นอย่างมากต่อประเทศไทย เพราะเป็นการสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจและส่งเสริมความสามารถในการแข่งขันของสินค้าไทยในตลาดประเทศเพื่อนบ้าน โดยมีประโยชน์ที่จะได้รับ ดังนี้

1. เป็นการส่งเสริมการลงทุนในประเทศ เพราะประเทศไทยเป็นศูนย์กลางของประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน

2. เป็นการส่งเสริมการส่งออก เพราะช่วยลดต้นทุนในการประกอบการต่างๆ เช่น ค่าแรงงานราคาถูกจากประเทศเพื่อนบ้าน

3. เป็นการส่งเสริมให้มีการนำเทคโนโลยีใหม่ๆ ในการผลิตสินค้าจากต่างประเทศเข้าดำเนินการในประเทศไทย

4. เป็นศูนย์กลางการกระจายสินค้าจากประเทศไทย และประเทศต่างๆ ไปสู่ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และประเทศอื่นๆ

5. ก่อให้เกิดการจ้างงานเพิ่มขึ้นในภูมิภาคต่างๆ ของประเทศไทย ที่มีการจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษ


ความเห็นของภาคเอกชน : การพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดน

ยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจและการขนส่งของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยภาครัฐได้มีการร่างกฎหมายเขตเศรษฐกิจชายแดน โดยวัตถุประสงค์สำคัญจะเป็นการใช้ประโยชน์พื้นที่ตามตะเข็บของชายแดน ซึ่งประเทศไทยมีชายแดนติดต่อกับหลายประเทศ ได้แก่ พม่า , ลาว , กัมพูชา ซึ่งหากรวมภาคใต้ก็จะมีมาเลเซีย โดยเหตุผลสำคัญประเทศไทยต้องการพัฒนาพื้นที่เขตลงทุนอุตสาหกรรมและพาณิชยกรรมให้เป็นประตูรองรับการเชื่อมโยงโครงการ ไม่ว่าจะเป็น GMS : Great Makong Subregion ซึ่งเป็นโครงการภายใต้ธนาคารแห่งเอเชีย ADB Bank 

โดยเฉพาะต้องการเชื่อมโยงกับประเทศจีนตอนใต้ โดยการพัฒนาเขตเศรษฐกิจชายแดนที่น่าจะเป็นรูปธรรมน่าจะเป็นโครงการพัฒนาพื้นที่ทางส่วนเหนือของจังหวัดเชียงราย อาจจะเป็นที่แม่สายหรือที่อำเภอเชียงของ ซึ่งจะมีเส้นทางเชื่อมโยงกับเมืองเชียงรุ่งและเมืองคุนหมิง ซึ่งอยู่ในมณฑลยูนานของประเทศจีนตอนใต้  สำหรับโครงการนำร่องเศรษฐกิจชายแดนอีกแห่งหนึ่งน่าจะเป็นบริเวณชายแดน อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก กับเมืองเมียวดี ของพม่า เหตุผลสำคัญที่ทำให้โครงการเขตเศรษฐกิจชายแดนกลายเป็นประเด็นในปัจจุบันก็เนื่องจากรัฐบาลต้องการจะให้มีการส่งเสริมการลงทุนจากประเทศเพื่อนบ้าน หรือจากนักลงทุนต่างชาติ รวมทั้ง นักลงทุนท้องถิ่นให้มาลงทุนในบริเวณพื้นที่ซึ่งรัฐบาลจะจัดสรร ตามตะเข็บชายแดน โดยการใช้ประโยชน์จากแรงงานต่างด้าวที่จะสามารถเข้ามาทำงานได้แบบเช้าไปเย็นกลับ อีกทั้งจะสามารถนำเข้าวัตถุดิบและส่งออกได้โดยเสรี

นอกจากนี้ จะเป็นแหล่งรองรับการเคลื่อนย้ายฐานการลงทุนในกลุ่มอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงาน (Labour Insentive) และอุตสาหกรรมที่ต้องพึ่งพาวัตถุดิบจากประเทศเพื่อนบ้าน โดยเฉพาะวัตถุดิบประเภทไม้ โดยผู้ที่ลงทุนในเขตอุตสาหกรรมในเขตเศรษฐกิจชายแดนจะได้รับสิทธิประโยชน์จากการยกเว้นภาษีนำเข้า , การยกเว้นภาษีเงินได้ รวมถึงการตั้งคลังสินค้าทัณฑ์บนและศูนย์กระจายสินค้าด้าน Logistics

โดยผู้ที่ลงทุนในเขตเศรษฐกิจชายแดนจะมีลักษณะแตกต่างไปจากนิคมอุตสาหกรรมโดยทั่วไปก็ตรงที่ ในเขตเศรษฐกิจชายแดน จะถือเป็นดินแดนพิเศษ ดูแลและบริหารโดยคณะกรรมการบริหารจัดการเขตเศรษฐกิจ ซึ่งประกอบด้วย กรรมการจากคนท้องถิ่น 6 คน และกรรมการจากภาครัฐอีก 4 คน ทำหน้าที่เป็นผู้บริหารโดยมีอำนาจในการจัดตั้งองค์กรมีอำนาจเบ็ดเสร็จในการพัฒนาพื้นที่และการใช้ประโยชน์ของพื้นที่ป่าไม้หรือป่าชุมชน โดยคณะกรรมการมีสิทธิที่จะนำที่ดินเหล่านั้นมาจัดสรรให้กับเอกชนไม่ว่าจะเป็นสัญชาติไทยหรือต่างชาติ สามารถทำสัญญาเช่าเป็นระยะเวลาได้ถึง 99 ปี

เกี่ยวกับเรื่องเขตเศรษฐกิจชายแดน  มีผู้วิพากษ์ทั้งข้อดีและข้อเสีย หากมองในแง่ประโยชน์แล้วก็จะสามารถทำให้ประเทศไทยสามารถพัฒนาบริเวณชายแดนไม่ว่าจะเป็นที่แม่สอด หรือที่เชียงราย หรือจังหวัดหนองคาย หรือในอีกหลายที่ให้สามารถสร้างเป็นเขตอุตสาหกรรม โดยประเทศไทยจะได้ประโยชน์จากการใช้แรงงานประเทศเพื่อนบ้านเป็นการแก้ปัญหาการขาดแคลนแรงงานไร้ทักษะ และแก้ปัญหาการทะลักเข้ามาในพื้นที่ส่วนกลางของแรงงานต่างด้าว

ส่วนข้อเสียนั้น มีผู้วิจารณ์ที่หลากหลายว่าจะเป็นการเสียอำนาจอธิปไตยหรือการให้อำนาจคณะกรรมการมากเกินไปในการเวนคืนที่ดิน ถึงแม้ว่า จะมีกรรมการจากท้องถิ่น จะเป็นกรรมการที่จะรักษาความถูกต้อง แต่เรื่องของผลประโยชน์นั้น ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการเป็นกรรมการจากคนท้องถิ่นหรือเป็นคนภายนอก หากเป็นผลประโยชน์ซึ่งลงตัวกันแล้ว ก็ฮั้วกันได้ทั้งสิ้น นอกจากนี้ การให้ระยะเวลาเช่าที่ยาวเกินไป เมื่อเทียบกับประเทศจีนหรือประเทศเวียดนาม ซึ่งมีระยะเวลาให้เช่าที่ดินเพื่ออุตสาหกรรมไม่เกิน 50 ปี

อย่างไรก็ดี ข้อที่ควรพิจารณา หากเป็นนักลงทุนชาวจีน ซึ่งในประเทศของเขามีต้นทุนการผลิตที่ต่ำกว่าประเทศไทย ไม่ว่าจะเป็นค่าแรง , ค่าที่ดิน วัตถุดิบ อะไรเป็นเหตุจูงใจให้อยากมาลงทุนในเขตเศรษฐกิจชายแดนที่ตอนเหนือของเชียงราย เป็นไปได้หรือไม่ว่าเป็นเครื่องหมายสำคัญ ก็คือ แหล่งกำเนิดสินค้าในประเทศไทย“Thailand of Origin” เพื่อจะได้นำสินค้าเข้าไปในอาเซียนหรือไปแย่งตลาดของไทยเองในสหรัฐอเมริกา ซึ่งจีนกำลังมีปัญหาในเรื่องของโควตาสินค้า ซึ่งเกิดจากการถูกกดดันเกี่ยวกับค่าเงินหยวน
ดังนั้น การพิจารณากฎหมายเกี่ยวกับเขตเศรษฐกิจพิเศษ จึงขอให้มีความรอบคอบ โดยข้อเท็จจริงแล้วประเทศไทยเองก็มีกฎหมายหลายฉบับไม่ว่าจะเป็นร่าง พรบ. เขตปลอดอากร , เขตอุตสาหกรรมเพื่อการส่งออก (EPZ : Export Processing Zone) หรือเขต Free Zone ก็ล้วนแต่ให้สิทธิใกล้เคียงกัน ทั้งนี้ เขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดน ไม่ว่าจะเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษสะหวัน-เซโน ของ สปป.ลาว , เขตเศรษฐกิจพิเศษลาวบาว ของเวียดนาม , หรือที่มณฑลกวางสี, เมืองฉงชิ่ง , เมืองเซินเจิ้น ฯลฯ ในประเทศจีน ซึ่งล้วนเป็นประเทศซึ่งมีระบบปกครองเป็นสังคมนิยม เอกชนไม่มีสิทธิเป็นเจ้าของที่ดิน รัฐจึงสามารถจัดสรรให้กับต่างชาติเช่าได้

แต่กรณีของประเทศไทยเป็นประเทศประชาธิปไตย ซึ่งมีความแตกต่างกัน ซึ่งเรื่องเศรษฐกิจพิเศษชายแดนนี้คงต้องมีการถกเถียง ทั้งส่วนของผู้ที่เห็นด้วย กับผู้ที่ไม่เห็นด้วยหรือมีความคิดแตกต่างกันไป แต่ทราบว่ารัฐบาลก็มีงบประมาณกว่า 1,300 ล้าน  ในการเตรียมพัฒนาเขตเศรษฐกิจชายแดนที่เชียงราย  หากคิดว่าเป็นประโยชน์ต่อประเทศแล้วก็ทำไป แต่ประเทศไทยไม่ได้เป็นของคนใดคนหนึ่ง เพียงแต่ขอให้คิดให้รอบคอบเพราะมีผลต่อลูกหลาน ทุกคนก็เกิดมาแล้วก็ต้องตายด้วยกันทั้งสิ้น ผลประโยชน์ที่ได้มาก็คงไม่มีใครที่จะแบกไปกับตนได้ เหลือเพียงแต่คุณความดีหรือการสาปแช่งเท่านั้น...




นางสร้อยทิพย์ ไตรสุทธิ์ ปลัดกระทรวงคมนาคม

แผนโครงสร้างพื้นฐานเขต ศก.พิเศษของไทย

เมื่อวันที่ 7 ส.ค. ที่ผ่านมา นางสร้อยทิพย์ ไตรสุทธิ์ ปลัดกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า ได้ประชุมร่วมกับผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อเตรียมพร้อมในการประชุมคณะอนุกรรมการด้านโครงสร้างพื้นฐานและด่านศุลกากร ในวันที่ 18 ส.ค.นี้ ซึ่งจะมีการพิจารณาแผนและลำดับความสำคัญการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน แผนปรับปรุงด่านศุลกากร/ด่านชายแดน และแผนพัฒนานิคมอุตสาหกรรม เพื่อให้สามารถรองรับกิจกรรมในพื้นที่พัฒนาและจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษ เชื่อมโยงประเทศในภูมิภาคได้อย่างมีประสิทธิภาพ ตามที่คณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ (กนพ.) ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เป็นประธานมอบหมายให้แล้วเสร็จภายในสิ้นเดือน ส.ค.นี้

ทั้งนี้ เป้าหมายในปี 2557-2558 จะมีการจัดตั้งเป็นเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษให้สมบูรณ์โดยพัฒนาพื้นที่ชายแดนที่มีศักยภาพ ได้แก่ 1.ด่านแม่สอด จ.ตาก    2.ด่านอรัญประเทศ จ.สระแก้ว    3.ด่านหาดเล็ก (ท่าเรือคลองใหญ่) จ.ตราด   4.ด่านมุกดาหาร    5.ด่านสะเดา  6.ด่านปาดังเบซาร์ จ.สงขลา   ส่วนที่เหลืออีก 12 ด่านจะทยอยดำเนินการในระยะต่อไป

อย่างไรก็ตาม นอกจากคณะอนุกรรมการด้านโครงสร้างพื้นฐานและด่านศุลกากร จะพัฒนาโครงข่ายพื้นฐานทั้งบก น้ำ อากาศ รางให้เชื่อมโยงกับ 6 ด่านชายแดนอย่างสะดวกแล้ว จะต้องดูเรื่องการปรับปรุงด่านศุลกากร ระบบโครงสร้างพื้นฐานที่ด่านทั้งน้ำประปา ไฟฟ้า ให้ครอบคลุม รวมไปถึงการบริหารจัดการที่ด่าน ซึ่งในภาพรวมหน่วยงานของคมนาคม ได้มีแผนโครงข่ายเชื่อมโยงแต่ละด่านไว้แล้ว และพร้อมดำเนินการทันที



ขอบคุณ  :  1)  http://www.freightmaxad.com
                2)  http://www.v-servegroup.com & http://www.acmecsthai.org
                3)  http://www.thairath.co.th 

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

หลวงพ่อฮวบ วัดสามัคยาราม ต.บ้านด่าน อ.เมือง จ.อุตรดิตถ์

หลวงพ่อกล่อม พรมสโร วัดป่ากะพี้ อ.พิชัย จ.อุตรดิตถ์

พระครูธรรมฐิติวงศ์คีรีเขตร (บุญใหญ่ อินทปญโญ) วัดเจดีย์คีรีวิหาร อ.ลับแล จ.อุตรดิตถ์