ประวัติพระยาพิชัยดาบหัก ตอนที่ 1

พระยาพิชัยดาบหัก

สวัสดีครับพบกันครั้งนี้เราอยากจะนำเสนอประวัติของพระยาพิชัยดาบหัก  ซึ่งเป็นบุคคลสำคัญในประวัติศาสตร์ชาติไทย และของจังหวัดอุตรดิตถ์ท่านหนึ่ง ที่ได้สร้างคุณประโยชน์ต่อประเทศไทย และต่อคนไทย ได้รับการยกย่องให้เป็นวีระบุรุษแห่งสงครามกู้อิสระภาพ อีกทั้งสงครามการป้องกันประเทศในสมัยกรุงธนบุรี แต่เนื่องจากประวัติของท่านที่เราจะนำเสนอนี้  เรียบเรียงโดย พระยาศรีสัชนาลัยบดี (เลี้ยง  ศิลิปาลกะ)  อดีตผู้ว่าราชการเมืองสวรรคโลก และผู้ว่าราชการจังหวัดสุโขทัยท่านแรก เรียบเรียงไว้เมื่อ พ.ศ. 2462  มีเนื้อหาสาระที่ค่อนข้างละเอียดมาก จึงต้องแบ่งการนำเสนอเป็น 2 ตอนด้วยกันครับ


มีสามีภรรยาคู่หนึ่งไม่ปรากฏชื่อ ตั้งบ้านเรือนทำไร่ไถนาหาเลี้ยงชีพอยู่ ณ บ้านห้วยคา หลังเมืองพิชัยฝ่ายตะวันออกราวร้อยเส้นเศษ มีบุตรด้วยกัน 4 คน แต่เป็นไข้ทรพิษตายคราวเดียวกัน 3 คน เหลือ 1 คน เป็นชายอายุได้ 8 ปี บิดาให้เลี้ยงควาย นิสัยใจคอนายจ้อยองอาจกล้าหาญชอบการชกมวยยิ่งนัก เกิดวิวาทชกต่อยกับเด็กเลี้ยงควายด้วยกัน จนหน้าตาฟกบวมมาเนื่องๆ บิดาจะให้ไปอยู่วัดเรียนหนังสือ ชั้นต้นขัดขืนไม่ยอมไปท่าเดียวบอกว่าถ้าให้เรียนเป็นนักมวยไม่ว่าที่ไหนใกล้หรือไกลก็ไปทั้งนั้น

มอบตัวเป็นศิษย์วัดมหาธาตุ

บิดาจึงชี้แจงว่า “ไม่ว่าวิชาสิ่งใดทั้งหมดมีอยู่ในหนังสือทั้งสิ้น เจ้าชอบเรียนการชกมวยบิดาก็ไม่ขัดขืนตามใจเจ้า แต่เจ้าไม่เรียนหนังสือเสียก่อนจะเรียนการมวยทีเดียว กว่าจะเป็นผลสำเร็จนานปีนัก เพราะครูเขาคงไม่มาตั้งท่าสอนให้เจ้าได้ยังค่ำๆหรอก เขาสอนเวลาวันละครั้งอย่างมากก็สองครั้งเท่านั้น แล้วเขาก็ให้เจ้าดูตำราในหนังสือซึ่งบอกท่าเตะชกปัดปิดเอาเองบ้าง ก็ถ้าไม่รู้หนังสือดูตำราไม่ออก จะอาศัยนึกเดาเอาเช่นนั้น ถึงจะสำเร็จก็ไม่ดีได้ เชื่อพ่อเถอะ”

เมื่อนายจ้อยได้ฟังบิดาพูดดังนั้น โดยความอยากเป็นนักมวยนั้นเอง จึงเกิดความรักหนังสือขึ้น ยอมรับจะไปอยู่วัดทันที บิดาจึงนำตัวไปฝากท่านพระครูวัดมหาธาตุในเมืองพิชัยตั้งแต่นั้นมา นายจ้อยก็อุตส่าห์เล่าเรียนหนังสือต่อมาจนอายุย่างเข้า 14 ปี นับว่านายจ้อยเป็นคนรู้หนังสือดีในสมัยนั้น คือ อ่านออกเขียนได้

ในระหว่างที่จ้อยเรียนหนังสืออยู่นั้น ถ้าสิ้นเวลาเรียนและว่างการปฏิบัติอาจารย์แล้วฝึกหัดตนดังนี้ คือตัดเอาต้นกล้วยยาว 2 ศอกเศษมาตั้งกับดิน เอาเท้าเตะต้นกล้วยทั้งซ้ายขวาเตะประคองไว้เช่นนั้นเสมอมา จนต้นกล้วยไม่ล้มลงได้ แล้วหัดเตะข้ามต้นกล้วย ชั้นต้นใช้สูงเพียง 3 ศอก เตะข้ามไปข้ามมาจนแคล่วคล่องมิให้ถูกต้นกล้วยล้มเลย จึงทวีให้สูงขึ้นไปจนถึง 4 ศอก เตะข้ามได้ทั้งซ้ายและขวา มิได้ถูกต้นกล้วยล้มเลย อีกอย่างหนึ่งเอาผลมะนาวผูกเชือกห้อยเสมอหน้าใบละเส้น ชั้นต้นใช้แต่ 2ใบ ชกมะนาวให้แกว่างไปมาทั้ง 2ใบ แล้วปิดรับด้วยศอกและแขนจนไม่ถูหน้าได้แล้วเลื่อนเป็น 3ใบ ถึง 4ใบ นายจ้อยปิดรับได้หมดไม่ถูกหน้าเลย

ถ้าถึงกำหนดเจ้าเมืองกรมการ มาถือน้ำพระพิพัฒสัตยาที่วัด เขามีมวยฉลองทุกคราวตามความนิยมในสมัยนั้น เป็นสิ่งชอบใจของนายจ้อยยิ่งนักเป็นต้องแทรกเข้าไปอยู่ในเส้นเชือกที่ขึงจนได้ทุกคราวไป ตั้งอกตั้งใจดูและจำเชิงมวยที่ต่อยกันแทบจะไม่กระพริบตา นายจ้อยชอบมวยบ้านท่าเสานักถึงกับปรารภว่า ถ้าเป็นหนุ่มแล้วจะพยายามไปขอหัดมวยกับครูที่ท่าเสาให้จงได้

อนึ่ง เมื่อนายจ้อยมาอยู่วัดใหม่ๆ เวลากินข้าวถ้ามีแกงดีๆ ถูกพวกเด็กแก่วัดเล่นแกงเหาะคือยกชามแกงชิ้นและซดน้ำ แล้วส่งให้เพื่อนต่อๆ กันไป จนแกงหมดจึงวางชามลงมิได้ให้นายจ้อยได้กิน ทำเช่นนี้เนื่องๆมานายจ้อยเหลือที่จะอดกลั้น จึงลุกขึ้นเตะหน้าเด็กซึ่งกำลังซดน้ำแกงอยู่หงายหลังลงไปน้ำแกงรดหน้าเข้าตาร้องเอ๊ดตะโร ตั้งแต่นั้นมาเด็กเหล่านั้นกับนายจ้อยก็เป็นอริชกต่อยกันมาเสมอ แต่นายจ้อยปราบเสียเรียบไม่มีใครต่อสู้ได้เลย

มีเรื่องกับลูกเจ้าเมือง

อยู่มาเจ้าเมืองพิชัยนำคุณเฉิดบุตรชาย กับเด็กคนใช้ของคุณเฉิด 3 คน มาฝากพระครูเพื่อเรียนหนังสือ ฝ่ายเด็กวัดที่เป็นอริกับจ้อยก็พากัน ไปฝากตัวต่อคุณฉิด เพราะบุตรเจ้าเมืองในสมัยนั้นมีอำนาจวาสนามาก นายจ้อยก็เข้าไปฝากตัวด้วยเหมือนกัน แต่คุณเฉิดทนเด็กอื่นๆยุยงไม่ไหวเช่นว่า นายจ้อยเป็นนักเลงโตไม่กลัวใครทั้งหมดบรรดาศิษย์ในวัด ถึงตัวคุณเฉิดเองนายจ้อยก็ไม่กลัวเพียงเกรงนิดๆ ด้วยเป็นบุตรเจ้าเมืองเท่านั้น  เมื่อคุณเฉิดได้ฟังคำยุยงเช่นนั้น ด้วยเป็นเด็กความคิดยังไม่รอบคอบจึงพูดว่า  " ถ้ากระนั้นเราช่วยกันรุมล่อมันให้ถึงต้องกินเลือดแรดเสียสักคราวเดียวก็คงเข็ด " จึงให้เด็กผู้หนึ่งในพวกเป็นอริกับนายจ้อย ไปท้านายจ้อยให้ไปชกกันทีหลังวัด คุณเฉิดรับรอบเป็นคนกลางมิให้ใครช่วยฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งได้เป็นอันขาด นายจ้อยหลงเชื่อจึงพากันออกไปที่หลังวัดเข้าต่อสู้กันประเดี๊ยวเดียว นายจ้อยก็ชกเตะเอาเด็กผู้นั้นล้มฟุบลงไปอยู่กับเดิน นายจ้อยโดดเข้าถองซ้ำอีกทีหนึ่ง คุณเฉิดก็ทะลึ่งเข้าผลักนายจ้อยกระเด็นไปแล้วพูดว่า “ล้มแล้วซ้ำเช่นนี้ผิดระเบียบ พวกเราล่อมันให้อยู่มือเดี๊ยวนี้แหละ”

ฝ่ายพวกเด็กเหล่านั้นรวมถึง 5 คนด้วยกันก็กรูกันเข้าจะชกเตะนายจ้อยผู้เดียว นายจ้อยเห็นท่าไม่เป็นการก็วิ่งหนึเข้าไปหาต้นพิกุลใหญ่ราว 12 กำมือ ยืนหันหลังชิดกับต้นพิกุล มิให้เด็กเหล่านั้นเข้าหลังได้ เด็กเหล่านั้นก็ประดาหน้ากันเข้ามา ผู้ใดเหลื่อมเข้ามาเป็นถูกหมัด หรือเท้าของนายจ้อยกระเด็นออกไปจนไม่มีใครรอติด คุณเฉิดเห็นดังนั้นจึงตรงเข้าตบหน้านายจ้อยทีหนึ่งแล้วขู่ว่า “เจ้าถือดีอย่างไรจึงชกเตะคนใช้ของข้า” แล้วก็ต่อยเตะนายจ้อยอีก นายจ้อยมิได้ต่อสู้เป็นแต่คอยปิ่ดหมัดปัดเท้ามิให้ถูกหน้าตัวเท่านั้น ยิ่งทำให้คุณเฉิดบันดาลโทสะมากขึ้นผลักนายจ้อยเซออกไปจนพ้นต้นพิกุล พวกเด็กเหล่านั้นก็กรูเข้าข้างหลัง เตะถีบ นายจ้อยคะมำไปโดนเอาคุณเฉิดเต็มแรง คุณเฉิดเลยร้องหาว่านายจ้อยชกเอา นายจ้อยตกใจผละออกได้ก็วิ่งหนีไปนอกวัด พวกเด็กเหล่านั้นก็ตามกันวิ่งไล่เป็นพรวน แต่ไม่ยักทันด้วยจ้อยวิ่งเร็วนัก โดยวิ่งวัวชนะมาหลายครั้งแล้ว

เมื่อนายจ้อยวิ่งหนีไปพ้นวัดแล้ว คิดแค้นคุณเฉิดกับเด็กเหล่านั้นยิ่งนักเกือบจะกลับไปแก้แค้นให้ได้ เหตุได้สติรำพึงว่าถ้าเรากลับเข้าไปท่านพระครูคงจับเราเฆี่ยนป่นปี้เป็นแน่เพราะคุณเฉิดคงไปฟ้องเสียแล้วว่าเราชก ถึงเราจะปฏิเสธบอกความตามสัตย์จริงคงไม่เอาตัวรอดได้เพราะเด็กเหล่านั้นเป็นพวกของคุณเฉิด ก็จะยืนยันเข้าเป็นปี่เป็นกลองไป ผลที่สุดเราต้องมีโทษฐานทำร้ายบุตรเจ้าเมืองและโทษก็ออกจะหนักเสียด้วย ครั้นจะกลับไปบ้านก็เกรงบิดาจะส่งตัวไปให้เขาทำโทษ ไม่กล้าขัดขืนอำนาจเจ้าเมืองได้ นายจ้อยนั่งตริตรองเศร้าใจคิดจะไปอยู่กับครูมวยท่าเสา แต่มาวิตกถึงการที่จะไปด้วยตั้งแต่เกิดมายังไม่เคยไปเลย ทราบแต่ว่าอยู่เหนือขึ้นไปเท่านั้น แต่มั่นใจว่าถ้าเดินเลาะตามลำน้ำบางโพธิ์ท่าอิฐไปคงไม่หลงทางแน่ จึงมานะกัดฟันออกเดินบ่ายหน้าขึ้นเหนือเลาะตามแม่น้ำไป มีผ้าพันกายไปผืนเดียวเท่านั้นไปวัดดินแดงก็ค่ำพอดี จึงเข้าไปขอพระสงฆ์อาศัยนอน แลโกหกว่าจะไปเยี่ยมอาที่บ้านเต่าไหหลงทางเสียจึงไปไม่ถึง ข้าวเย็นก็ยังไม่ได้กิน พระสงฆ์ท่านให้ศิษย์หุงข้าวให้กิน รุ่งขึ้นนายจ้อยก็ลาเดินทางต่อไป ถึงวัดบ้านแก่งพอจวนค่ำอาศัยนอนที่วัดนั้นอีก

เรียนมวยกับครูเที่ยงบ้านแก่ง

รุ่งเช้าขึ้นนายจ้อยเห็นชายอายุ 40 ปี พาเด็กรุ่นหนุ่มสี่คนมาที่ลานวัดฝึกหัดมวยกัน นายจ้อยดีใจนัก ก็เข้าไปนั่งดูจนเลิกการฝึกหัด จึงเข้าหาครูยกมือไหว้แล้วอ้อนวอนขอเป็นศิษย์หัดมวยด้วย ครูผู้นั้นชื่อเที่ยง จึงย้อนถามว่า “เอ็งชื่ออะไรมาแต่ไหน” นายจ้อยคิดเห็นว่า ถ้าบอกชื่อและที่อยู่โดยตรงจะไม่สู้ดี อาจทราบถึงบิดามารดาเข้าก็จะมาถามเอาตัวกลับไป จำเป็นต้องเปลียนชื่อและบอกที่อยู่เสียใหม่ จึงตอบว่า “ฉันชื่อทองดี บิดามารดาอยู่บ้านดินแดง ตั้งใจมาหาครูเพื่อขอความกรุณาช่วยฝึกหัดมวยให้ จึงหนีบิดามารดามา เพราะแกไม่ชอบให้หัดมวย เป็นความสัตย์ของฉันไม่ว่าสิ่งใดทั้งหมดฉันไม่รักเท่าการเป็นนักมวย” นายเที่ยงหัวเราะตอบรับจะสอนให้แลว่าจะอยู่วัดหรือจะไปอยู่บ้านด้วยกันก็ได้ไม่รังเกียจนายจ้อยผู้แปลงนามว่านายทองดียกมือขึ้นไหว้แสดงขอบคุณแล้วพูดว่า “ฉันขอไปอยู่บ้านครูด้วย ว่างการฝึกหัดมวยแล้ว จะช่วยครูตักน้ำตำข้าวไปตามกำลังที่จะทำได้” นายเที่ยงได้ฟังก็ชอบใจ จึงพาทายทองดีไปบ้านแล้วเล่าให้ภรรยาฟัง ภรรยาก็มิได้รังเกียจแต่อย่างใดอย่างหนึ่ง เวลาเช้านายเที่ยงพานายทองดีไปฝึกหัดมวยพร้อมด้วยศิษย์ทั้งหลายที่ลานวัดเสมอ ถ้าพ้นเวลาหัดมวยแล้วนายทองดีก็ช่วยนายเที่ยงตักน้ำ ตำข้าว และการเบ็ดเตล็ดโดยปราศจากรังเกียจนายทองดีอยู่ฝึกหัดมวยกับนายเที่ยงได้มาปีเศษ ก็ชำนิชำนาญคล่องแคล่วทุกท่าทุกทางนับเป็นที่หนึ่งดีกว่าศิษย์ทั้งหมดเป็นที่พอใจนายเที่ยงผู้เป็นอาจารย์มาก นายเที่ยงเรียกนายทองดีเติมสร้อยว่า “ทองดีฟันขาว” ชาวบ้านเลยเรียกสร้อยท้ายตามนายเที่ยง เพราะสมัยนั้น หรือคนในหมู่บ้านนั้นกินหมากจนฟันดำแต่นายทองดีฟันขาวผู้เดียว จึงได้ฉายาเช่นนั้น

ฝ่ายศิษย์สี่คน เห็นนายทองดีฟันขาวเชียวชาญเพลงมวยดีกว่าตัว ก็เกิดอิจฉาริษยาขึ้นคอยพาลหาเรื่องด้วยประการทั้งปวง ถึงกับจะกลุ้มรุมทำร้ายนายทองดีฟันขาวๆ สู้สะกดใจไม่ได้โต้เถียงด้วยที่นายทองดีฟันขาวได้หวาดกลัวคนทั้งสี่จนนิดเดียวอาจจะประจนให้คนทั้งสี่พ่ายแพ้ด้วยฝีมือ และกำลังตนผู้เดียวได้ แต่หากคนทั้ง 4 เป็นบุตรหลานของนายเที่ยง ผู้เป็นอาจารย์จึงไม่ต้องการจะต่อสู้ด้วย ฝ่ายคนทั้งสี่กลับมีใจกำเริบเข้าใจว่านายทองดีฟันขาวกลัวก็ยิ่งข่มเหงมากขึ้น ถึงกับถ่มน้ำลายรดบ้าง เข้าผลักอกบ้าง นายทองดีฟันขาวเหลือที่จะอดกลั้นความข่มเหงนั้นไว้ได้ จึงเกิดต่อสู้กันขึ้น ผลที่สุดคนทั้งสี่คนสู้นายทองดีฟันขาวไม่ได้ หน้าตาฟกบวมไปคนละโน 2 โน แท้จริงนายทองดีฟันขาวรามือให้เสียด้วยซ้ำ โดยความเคารพและเกรงนายเที่ยงผู้เป็นอาจารย์หาไม่จะบอบช้ำยิ่งกว่านั้น

ฝ่ายคนทั้งสี่จึงพากันไปฟ้องนายเที่ยงหาว่านายทองดีฟันขาวชกเตะเอานายเที่ยงจะโกรธเพราะกระทำแก่ลูกหลานแกเช่นนั้น แต่ไม่ยักโกรธกลับหัวเราะพูดว่า “คนๆเดียวจะข่มเหงคนสี่คนก่อนนั้นเหลือเชื่อ” และแกก็รู้อยู่ก่อนแล้วว่าคนทั้งสี่ริษยานายทองดีฟันขาวโดยมีฝีมือมวยดีกว่าตัว คงพาลหาเรื่องแก่นายทองดีฟันขาวก่อน จึงพูดต่อบทว่า

“เจ้าถึงสี่คนสู้เขาคนเดียวไม่ได้ จะมาร้องเอาแก้วอะไรอีก ควรจะปกปิดความเจ็บของตัวอย่าให้ใครรู้มากไปอายเขาจะดีกว่า”

ตั้งแต่นั้นมาคนทั้งสี่กับนายทองดีฟันขาวก็เป็นขมิ้นกับปูรมองหน้ากันไม่ติด นายทองดีฟันขาวจึงมารำพึงว่า เราจะอยู่ที่นี่ต่อไปคงไม่มีความสุขอีก ประการหนึ่งครูก็หมดท่าทางมวย ไม่มีจะสอนให้เราอีกแล้ว จำเราจะไปให้ถึงท่าเสาตามความตั้งใจเดิมฝึกหัดมวยอีกต่อไป แต่ยังหาเพื่อนเดินไม่ได้จึงรอเรื่อยมา วันหนึ่งได้ทราบว่าพระสงฆ์ที่วัดบ้านแก่ง จะขึ้นไปนมัสการพระแท่นศิลาอาสน์ นายทองดีฟันขาวจึงไปลานายเที่ยงผู้อาจารย์ไปนมัสการพระแท่นศิลาอาสน์กับพระสงฆ์ นายเที่ยงมีความอาลัยมาก แต่ครั้นจะขัดขืนก็ไม่มีเหตุที่ควรจึงจำเป็นอนุญาตให้ไปตามความประสงค์ นายทองดีฟันขาวไปพักอาศัยอยู่ในวัดวังเตาหม้อกับพระสงฆ์ที่ไปด้วยกัน เมื่อไปนมัสการพระแท่นแล้ว พระสงฆ์จะกลับบ้านแก่ง จึงฝากฝังนายทองดีฟันขาวไว้กับพระสงฆ์วัดนั้น เพราะนายทองดีฟันขาวยังไม่ขึ้นท่าเสา จะรอดูงิ้ว ซึ่งจะเล่นที่ศาลเจ้าบางโพธิ์เสียก่อน

ดูงิ้ววัดวังเตาหม้อ (วัดท่าถนน..ปัจจุบัน)

ครั้นถึงวันเล่นงิ้ว นายทองดีฟันขาวก็ไปดูเห็นงิ้วเล่นหกคะเมนในท่าต่างๆ ก็ชอบใจตั้งสติจำเอาจริงๆ จังๆ งิ้วเล่นอยู่ 7 วัน 7 คืน นายทองดีฟันขาวก็ไปดูทั้งกลางวันกลางคืนไม่เว้นเลย พองิ้วเลิกแล้วนายทองดีฟันขาวก็หาไม้ราวไม้หลักกระโดดกระโจนในท่าต่างๆ เหมือนงิ้วเล่นแต่ลำพังตนไม่มีใครสอน พระสงฆ์ในวัดเห็นดังนั้นก็หัวเราะเหมาเอาว่าเป็นเด็กมีสันดารซุกซน นายทองดีฟันขาวพยายามฝึกมากว่า 6 เดือน จึงทำได้คล่องแคล่วทุกท่าทาง ที่ท่าเสา ครูมวยชื่อนายเมฆพูดขอเป็นศิษย์ฝึกหัดมวยอยู่กับนายเมฆๆก็ยินดีรับตัวไว้ฝึกมวยให้ นายทองดีฟันขาวฝึกหัดมวยกับนายเมฆและช่วยทำงานต่างๆมาปีเศษ จึงสำเร็จการมวย จนนายเมฆไม่มีท่าทางจะสอนให้อีก เวลานั้นอายุนายทองดีฟันขาวได้ 18 ปี

เข้าพิธีครอบครูกับครูเมฆท่าเสา

อยู่มาวันหนึ่งมีผู้ร้ายเข้ามาถอนคอลักเอากระบือของนายเมฆไป 2 ตัว นายเมฆกับนายทองดีฟันขาวพร้อมด้วยเพื่อนพากันออกติดตามรอยกระบือไปกันที่กลางป่า คนร้าย 2 คน ถือปืนคนหนึ่ง ถือดาบคนหนึ่งเห็นเจ้าของตามมาทันก็กระโดดจากหลังกระบือหนีไป พวกเจ้าของก็วิ่งไล่ตาม  นายทองดีฟันขาววิ่งเร็วกว่าเพื่อนทั้งหมด ไปทันผู้ร้ายแต่ผู้เดียว มีดาบติดมือไป 1 เล่ม ผู้ร้ายที่ถือปืนกลับหน้ามายิงเอานายทองดีฟันขาวตาไวฟุบตัวลงพร้อมกับปืนลั่น กระสุนเฉียดศีรษะไป นายทองดีลุกขึ้นชักดาบวิ่งเข้าใส่ ต่างต่อสู้กันไม่ถึงอึดใจ นายทองดีฟันขาวได้ทีฟันผู้ร้ายถูกที่ข้อมือขาดแล้วฟันซ้ำอีกทีหนึ่งที่แก้ม ผู้ร้ายอีกคนหนึ่งที่ถือดาบปราดเข้ามาจะช่วยเพื่อน นายทองดีฟันขาวกลับหน้าไปต่อสู้ผู้ร้ายคนนั้น ผู้ร้ายพลาดท่านายทองดีฟันขาวจ้วงฟันเต็มแรงถูกคอผู้ร้ายศีรษะขาดกระเด็นร่างของผู้ร้ายก็หงายตูมลง โลหิตไหลพุ่งเป็นช่อ พอนายเมฆกับเพื่อนบ้านมาถึง พากันไปดูผู้ร้ายที่ถูกฟันข้อมือขาดยังไม่ตาย จึงช่วยกันหามมามอบให้กรมการตำบลบางโพฐิ์ท่าอิฐๆ ชมเชยนายทองดีฟันขาวและให้เงินเป็นบำเหน็จ 5 ตำลึง

ตั้งแต่นั้นมาชาวบ้านท่าเสาพากันรักใคร่นับถือนายทองดีฟันขาวมากขึ้น ความรักนั้นเกิดจากนายทองดีฟันขาวเป็นคนพูดจริง ทำอะไรทำจริงประกอบด้วยความอารีอารอบต่อเพื่อนหนุ่มด้วยกันเป็นอันดี ความนับถือนั้นเกิดจากนายทองดีฟันขาวมีฝือมือมวยอย่างยอดเยี่ยมกว่าเพื่อนหนุ่มด้วยกัน ทั้งหมดและองอาจกล้าหาญดังปรากฏที่ได้ต่อสู้กับผู้ร้าย 2 คน เอาชัยชนะไปนั้นเป็นตัวอย่าง

อยู่มาเขามีงานมหรสพฉลองพระแท่นศิลาอาสน์มีมวยด้วย นายเมฆชวนนายทองดีฟันขาวไปเปรียบชกมวยกับเขา นายทองดีฟันขาวดีใจนัก ซึ่งจะได้อวดฝีมือในครั้งนี้ เพราะตั้งแต่ฝึกหัดมวยมาก็ยังไม่เคยออกสนามเลยจึงพากันไปถึงพระแท่นก็พอดีเขากำลังเปรียบมวยกัน นายเมฆจึงพานายทองดีฟันขาวเข้าไปเปรียบกับเขาได้คู่กันกับนายถึกชาวบ้านทุ่งยั้ง เป็นศิษย์ของนายนิลครูมวยตัวลือของเมืองทุ่งยั้ง แต่นายถึกจะมีภาษีลำแน่นกว่า จึงกระทำให้นายเมฆผู้เป็นอาจารย์วิตกอยู่บ้าง เกรงนายทองดีฟันขาวจะทานกำลังไม่ไหว แต่อุ่นใจว่านายทองดีฟันขาวฝีมืออย่างยอดเยี่ยม ถึงกำลังจะน้อยกว่าอาจหลบหนีเอาตัวรอดได้ จึงให้โอวาทแก่นายทองดีฟันขาวมิให้ตื่นตกใจในสนามด้วยประการต่างๆ

นายทองดีฟันขาวยกมือไหว้อาจารย์แสดงความขอบคุณแล้ว ก็พอดีเขาขานชื่อเรียกให้ออกชกกัน นายเมฆจึงจูงนายทองดีฟันขาวออกไปกลางสนามแล้วให้นั่งลง นายเมฆเสกดินโรยบนศีรษะนายทองดีฟันขาวตามพิธีของครูมวยเสร็จแล้วให้กราบเจ้าของงาน 3 ครั้งแล้วลุกขึ้น ฝ่ายนายนิลก็ทำให้นายถึกเช่นกัน แล้วต่างก็ย่าง 3 ขุมเข้าหากัน

นายทองดีฟันขาวยิ้มอย่างใจเย็น ย่างเข้าไปด้วยความระมัดระวัง นายถึกเตะหลอกมาพอตีนตก นายทองดีฟันขาวก็กระโดดข้ามศีรษะนายถึกเอาเท้าถีบถูกท้ายทอยแล้วโจนผลอยลงข้างหลังกลับหน้ามาหานายถึกด้วยฉับไวพอนายถึกเหลียวหน้ามาหา ก็ถูกเตะพับเข้าที่เพรียงเต็มแรงล้มผางลงกลางสนามสลบเหมือดอยู่กับที่ กว่าจะฟื้นได้เกือบ 10 นาที นายถึกยอมแพ้ในยกนั้นเอง คนดูพากันตบมือแสดงความพอใจและสรรเสริญนายทองดีฟันขาวลั่นสนาม

ฝ่ายนายนิลอาจารย์ของนายถึก วางหน้าเก้อด้วยความอายที่ศิษย์ของตัวแพ้ศิษย์ของคู่ปรปักษ คือนายนิลกับนายเมฆนี้ได้ต่อยกันในสนามมาหลายครั้งแล้ว เอาชนะกันไม่ได้จึงต่างฝึกหัดศิษย์ให้มาต่อสู้กันเสมอ แต่ศิษย์ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไม่ถึงกับแพ้หลุดลุ่ยเช่นครั้งนี้จึงกระทำให้นายนิลมีความอายยิ่งนักซ้ำถูกนายเมฆทำเป็นท่าทีเย้ยหยันให้ด้วย จึงบันดาลโทสะพูดโพล่งออกไปว่า “อ้ายเมฆ มึงไม่ต้องเยาะเย้ยดอกวะ มึงกับกูมาต่อยกันอีกเถอะ” นายเมฆหัวเราะรับว่า “ ดีนักละเพื่อนมาไปบอกนายสนามด้วยกันเดี๋ยวนี้ ”

นายทองดีฟันขาวได้ยินดังนั้นจึงชิงพูดขึ้นว่า " สู้กับครูฉันไม่ดีหรอก ถ้าครูคิดจะแก้แค้นแทนศิษย์ต้องสู้กับฉันผู้ชนะศิษย์ของครูจึงจะควร " นายนิลย้อนถามว่า " แน่หรือ "  นายทองดีฟันขาวตอบว่า “แน่ซีครับ”   นายเมฆห้ามไม่ให้นายทองดีฟันขาวสู้แกจะสู้เอง

นายทองดีฟันขาวก็ไม่ยอมยกเหตุว่า “ เกิดมาเป็นชายชาตินักมวยได้ลั่นวาจาจะสู้กับเขาแล้วไม่สู้ ก็เสียเกียรติของนักมวย ประการหนึ่งเขาเป็นศิษย์มากับครู จะปล่อยให้ครูไป สู้เช่นนั้นย่อมเสียเกียรติของนักมวยผู้เป็นศิษย์ลงไปอีกโสดหนึ่งด้วย ” พูดเท่านั้นก็รีบชวนนายนิลเข้าไปหาสนามชี้แจงให้ทราบ ตกลงกันแล้วนายเมฆจึงกระซิบนายทองดีฟันขาวว่า “ นายนิลเขามีฝีมือเยี่ยมอยู่และเป็นมวยรุกต้องระวังตัวให้มาก เพราะร่างกายทั้งอายุอานามก็เสียเปรียบเขากว่า 2 เอา 1 ”

พอนายสนามเรียกให้ออกสู้กัน นายเมฆก็จูงนายทองดีฟันขาวออกไปกลางสนามทำพิธีเสกดินโรยศีรษะให้เช่นคราวก่อน พอนายทองดีฟันขาวลุกขึ้นนายนิลก็รำเชิงมวยป๋อเข้ามาหาคนดู เหมือนจะเอาใจช่วยนายทองดีฟันขาวมากพากันร้องเตือนสติว่า “ พ่อหนุ่มน้อยระวังตัวให้ดี ”

นายนิลรำเข้ามาใกล้แล้วก็ขยับหลอกเหมือนจะชกเตะ ท่านั้นท่านี้ได้ทีก็ชกเตะพันลำทีเดียว นายดีฟันขาวถอยพลางปิดหมัดปัดเท้าพลางนายนิลรุกตลอดยกนั้น แต่นายทองดีฟันขาวมิได้ถูกหมัดและเท้าจังเลยนิดเดียว  เมื่อหยุดมานั่งพักอยู่ นายเมฆคงนึกหนักใจอยู่บ้าง จึงกระซิบถามนายทองดีฟันขาวว่า “ เป็นไง หนักอกหนักใจอย่างไรบ้าง ” นายทองดีหัวเราะตอบว่า “ ก็ครูสั่งให้ฉันระวังตัวฉันก็ต้องระวังดูเชิงเขาก่อน บัดนี้รู้แล้วว่าฝีมือเขามีเพียงไร ยกนี้แหละฉันจะปล่อยหมัดเด็ดบ้าง ไม่ตายก็คางเหลืองละ”

พอสิ้นกำหนดพักก็เข้าชกกันอีก นายนิลสะอึกจะเข้ารุกตามเดิม นายทองดีฟันขาวได้ท่า ก็ปล่อยหมัดทั้งซ้ายขวาพร้อมกันถูกที่กกแขนซ้ายขวานิลเต็มแรงจนเซไป นายนิลถ้าจะขัดแขนไม่เห็นชกตอบ ได้แต่เตะนายทองดีฟันขาวจับเท้าไว้ได้ก็กระชากเข้ามาหาตัว แล้วยกเข่าขึ้นกระแทกที่ท้องนายนิล พร้อมด้วยหมัดซ้ายขวา เจิมเข้าที่คางหมัดหนึ่งปากครึ่งจมูกครึ่งหมัดหนึ่งอย่างเต็มรัก นายนิลหงายหลังล้มตูมลงไปชักตาตั้งฟันหลุด 4 ซี่เลือดเต็มปาก แก้ไขกันอยู่เป็นนานกว่าจะฟื้นได้ถึงกระนั้นก็ลุกไม่ขึ้นต้องห้ามกันกลับบ้าน คนดูออกปากชมนายทองดีฟันขาวว่ามวยเทวดาไม่มีใครสู้ได้แล้ว

เมื่อนายเมฆพานายทองดีฟันขาวกลับถึงบ้านแล้วจึงถามว่า “อ้ายท่ากระโดดข้ามศรีษะแล้วกลับมาเตะนั้น ข้าไม่ได้สอนให้เอ็งเลยไปหัดมาจากไหน” นายทองดีฟันขาวตอบว่า “ฉันไปดูงิ้วเล่นที่ศาลเจ้าบางโพธิ์เห็นท่าเหมาะสมไว้ใช้การชกมวยได้ จึงจำเอามาหัดด้วยตนเองจนจำได้เหมือนงิ้วมันเล่น ฉันเห็นนายถึกเป็นเซ่อๆ จึงลองใช้ดูก็เป็นผลสำเร็จดี” นายเมฆได้ฟังจึงตบไหล่นายทองดีเบาๆพูดว่า “อ้ายศิษย์แก้ว ต่อไปจะไม่มีใครมาขันสู้กับเจ้าอีกแล้ว”

ตั้งแต่นั้นมาไม่มีนักมวยคนใดแขวงเมืองพิชัย เมืองทุ่งยั้ง เมืองลับแล เมืองฝาง มาขันสู้กับนายทองดีฟันขาวเลย นายทองดีฟันขาวอยู่กับนายเมฆต่อมาอีกประมาณ 3 เดือน มีพระสงฆ์เมืองสวรรคโลกมาพักอยู่ที่วัดท่าเสานายทองดีฟันขาวไปสนทนาด้วยจนเป็นเหตุที่คุ้นเคยชอบพอกัน พระสงฆ์พระองค์นั้นจึงชักชวนให้ไปเที่ยวเมืองสวรรคโลกด้วยกันและเล่าให้ฟังว่า มีครูนักฟันดาบผู้หนึ่งอยู่ที่เมืองสวรรคโลก มีฝีมือลือลั่นมากเวลานี้เจ้าเมืองสวรรคโลกรับตัวเอาไปเป็นครูหัดบุตรชายท่าน และครูผู้นั้นเป็นอาของพระสงฆ์องค์นั้น รับรองว่า ถ้านายทองดีฟันขาวพอใจจะฝึกหัดเป็นนักฟันดาบแล้วจะฝากให้

เรียนฟันดาบที่สวรรคโลก

นายทองดีฟันขาวได้ทราบดังนั้นมีความยินดีเป็นที่ยิ่ง จึงรับปากจะไปกับพระสงฆ์องค์นั้นพอได้โอกาสจึงเข้าไปลานายเมฆและเล่าความประสงค์ให้ฟัง นายเมฆจึงมีความอาลัยไม่อยากให้ไปแต่จนใจด้วยไม่มีวิชามวยจะสอนให้อีก จึงจำต้องอนุญาตให้ไปตามความประสงค์

พระสงฆ์กับนายทองดีฟันขาวก็ออกจากท่าเสาพากันเดินทางไปเมืองสวรรคโลก พักอยู่ในวัดพระปรางค์กับพระสงฆ์องค์นั้น ได้ทราบว่าครูฟันดาบผู้นั้นฝึกหัดบุตรเจ้าเมืองสำเร็จกลับมาอยู่บ้านแล้ว พระสงฆ์องค์นั้นพานายทองดีฟันขาวไปฝากขอช่วยฝึกหัดดาบให้ ครูผู้นั้นก็ยินดีรับฝึกหัดให้นายทองดีฟันขาวฝึกหัดอยู่ประมาณ 3 เดือน ก็ทำได้คล่องแคล่วทุกท่าทางจบหลักสูตรของครูกับครูออกปากว่า

“ฝึกหัดศิษย์มานักแล้ว ยังไม่ได้รวดเร็วเหมือนนายทองดีฟันขาวเลยและทำได้อย่างดีเสียด้วย” ที่จริงก็ไม่สู้ประหลาดนัก ด้วยทองดีฟันขาวเป็นนักมวยอยู่แล้วอย่างหนึ่ง มีไหวพริบดีอย่างหนึ่ง มีนิสัยทำอะไรทำอะไรทำจริงไม่เกียจคร้านอย่างหนึ่ง จึงฝึกหัดได้รวดเร็ว  ความทราบถึงบุตรชายเจ้าเมืองที่หัดฟันดาบสำเร็จไปแล้ว จึงให้ตามตัวนายทองดีฟันขาวไปซ้อมฟันดาบกันหลายเวลา เป็นที่พอใจของบุตรชายเจ้าเมืองมาก แท้จริงฝีมือบุตรเจ้าเมืองสู้ไม่ได้อย่างหลุดลุ่ย แต่หานายทองดีฟันขาวลดมือให้พอแลกเปลี่ยนเสมอกันไป ถ้าจะรุกให้ถึงกับพ่ายแพ้ก็ไม่ยาก แต่เกรงบุตรเจ้าเมืองจะโกรธ อาจใช้อำนาจข่มเหงเอาด้วยประการทั้งปวง

อยู่มาพระสงฆ์องค์นั้นชวนไปเที่ยวเมืองสุโขทัย นายทองดีฟันขาวไปกับพระสงฆ์องค์นั้นพักอยู่ที่วัดธานีในเมืองสุโขทัย มีจีนแต้จิ๋วผู้หนึ่งชำนาญเพลงมวย ตั้งฝึกหัดเด็กลูกจีนที่ปากคลองอาจม นายทองดีฟันขาวไปดูเขาฝึกหัด เห็นท่าจับต่างๆเช่น จับหักไหปลาร้าเป็นต้นก็ชอบใจ (เห็นจะเป็นชนิดที่สมัยนี้เรียกมวยยูญิตสูกระมัง) จึงเข้าประจบจีนผู้นั้นยอมตัวเป็นศิษย์ขอฝึกหัดมวยด้วยจีนผู้นั้นก็รับฝึกหัดให้โดยไม่รังเกียจ นายทองดีฟันขาวฝึกหัดอยู่ไม่ถึงเดือนก็สำเร็จ ครูจีนผู้นั้นออกปากว่า “ลื้อเป็นเซียนไม่ใช่มนุษย์” จึงเกิดมีข่าวเล่าลือกันทั่วไปว่า นายทองดีฟันขาวเป็นนักกีฬาตัวเองหาผู้เสมอได้ยาก จึงมีเด็กรุ่นหนุ่มมาขอเป็นศิษย์ฝึกหัดเพลงมวยบ้าง เพลงฟันดาบบ้าง นายทองดีฟันขาวก็ฝึกหัดให้

ยังมีเด็กกำพร้าบิดามารดาคนหนึ่งชื่อบุญเกิด อาศัยอยู่ในวัดนั้นอายุ 13 ปี มาขอเป็นศิษย์ยอมไปไหนด้วยกับนายทองดีฟันขาวๆ ยินดีที่ได้เด็กบุญเกิดมาเป็นเพื่อนคู่ทุกข์คู่สุขต่อไปภายหน้า ตั้งแต่นั้นมาเด็กบุญเกิดก็กินอยู่หลับนอนด้วยนายทองดีฟันขาวล่วงมาได้ประมาณ 6 เดือน

มีคนจีนเกิดเมืองไทยผู้หนึ่งมาจากเมืองตากค้างอยู่ในเมืองสุโขทัย หาเพื่อนกลับตากยังไม่ได้ ด้วยหนทางไปเมืองตากมีเสือชุม มักจะทำอันตรายแก่คนเดินทางไปมาเนืองๆ วันหนึ่งจีนผู้นั้นเดินไปที่วัดที่เห็นนายทองดีฟันขาวกำลังฝึกหัดมวยให้พวกเด็กที่ลานวัด จีนผู้นั้นไปนั่งดูจนเลิกการฝึกหัดแล้วจึงสนทนากับนายทองดีฟันขาวจีนผู้นั้นเล่าให้ฟังว่าพระเจ้าตาก(เวลานั้นยังเป็นเจ้าเมืองตาก) โปรดปรานการชกมวยยิ่งนัก กระทำให้ชาวเมืองพากันนิยมฝึกหัดมวยเป็นอันมาก จึงชักชวนนายทองดีฟันขาวไปเที่ยวเมืองตากด้วยกัน นายทองดีฟันขาวยินดีรับจะไปด้วย

เดินทางไปเมืองตาก

พอถึงวันกำหนดนายทองดีฟันขาวกับเด็กบุญเกิดก็ออกเดินทางไปกับจีนผู้นั้น จำเพาะไปค่ำลงในป่าที่เสือชุมจะไปต่อก็เกรงอันตราย จึงพากันพักนอนใต้ต้นไม้ริมทาง ก่อไปรอบที่นอนผลัดกันนอนผลัดกันนั่งยาม คอยสุมไฟให้ลุกอยู่เสมอ ด้วยเกรงเสือจะเข้ามาทำอันตรายพอถึงคราวเด็กบุญเกิดนั่งยามคอยสุมไฟ ง่วงหลับเสียไฟดับเสือก็ย่องเข้ามากัดเอาขาเด็กบุญเกิดลากถูลู่ถูกังไป เด็กบุญเกิดร้องให้ช่วย

นายทองดีฟันขาวตื่นขึ้นเห็นเสือกำลังลากเด็กบุญเกิดไปก็ตกใจความอาลัยในเด็กบุญเกิดลืมกลัวเสือ ฉวยได้มีดซุยยาว 1 คืบ เฉพาะตัวมีดก็วิ่งไล่ตามเสือไป พอทันก็ตรงเข้ากอดคอเสือผลักจะให้เสือล้ม เสือวางแด็กบุญเกิดเลี้ยวอ้าปากมาจะกัดนายทองดีฟันขาวๆแทงด้วยมีดซุยกรอกเข้าไปในปากเสือกดคว้านจนมิดมีด อีกมือหนึ่งก็กอดคอเสือไว้แน่น เท้ายันดินดันเสือมิให้ทรงตัวอยู่ได้ เสือมัวแต่ตะกายดินกลัวจะล้ม ทำไมนายทองดีฟันขาวไม่ได้เสือเจ็บหนักเข้ากระโดดหนีโดยแรงมือนายทองดีฟันขาวหลุดจากคอเสือและมีดก็หลุดติดปากเสือไป

นายทองดีฟันขาวจึงเรียกจีนที่ไปด้วยกันให้มาช่วยหามเด็กบุญเกิดไปพักนอน ตรวจบาดแผลเด็กบุญเกิดเห็นเหวอะหวะมาก และตามหน้าตามตัวก็ถลอดปอกเปิก ชอกช้ำด้วยฤทธิ์เสือพาลากไปจึงช่วยกันคัดเลือดเอาผ้าพันแผลเรียบร้อยแล้วก่อไฟให้ลุก และเคาะไม้บ้างร้องเฮ้อฮ้าบ้างกับจีนผู้นั้นจนตลอดรุ่ง เพราะกลัวเสือจะเข้ามาทำอันตรายอีกแล้วจึงทำแคร่หามเด็กบุญเกิดไป 2 วัน จึงถึงเมืองตากไปขออาศัยอยู่ในวัดใหญ่เมืองตากด้วยท่านพระครูนั้นเป็นหมอเสือขอความกรุณาท่านช่วยรักษาเด็กบุญเกิดท่านรักษาอยู่เกือบ 2 เดือน จึงหายเป็นปกติ

อนึ่ง เมื่อนายทองดีฟันขาวไปอาศัยอยู่ที่วัดนั้นได้ 4-5 วัน มีพวกลูกค้าเกวียนชาวเมืองสุโขทัย 13-14 เล่ม บรรทุกปลาย่างปลาเกลือมาขายที่เมืองตากเล่าว่า เขามาพักนอนที่ตรงเสือกันเด็กบุญเกิด เห็นเลือดแห้งติดอยู่ตามเดินตามใบไม้ใหญ่ ก็ไม่รู้ว่าเลือดอะไร  เมื่อไปหาฟืนในป่าเห็นเลือดตกกองอยู่มากกับมีดซุย 1 เล่ม เขาจึงตามรอยเลือดตกเป็นทางไปพบเสือนอนอ้าปากตาค้างอยู่เห็นลิ้นกับหลอดคอเสือขาดเวอะหวะดังนี้  จึงทราบว่าเสือตัวนั้นตายที่มีดซุยกับเลือดตกกองอยู่มาก ชะรอยเสือจะไปกระอักเลือดกระอักมีดซุยออกตรงนั้นเอง

อยู่มาวันหนึ่ง พระเจ้าตากพร้อมด้วยข้าราชการมาถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยาที่วัด ซึ่งนายทองดีฟันขาวอาศัยอยู่และมีมวยฉลองด้วย นายสนามก็เรียกพวกมวยมาให้เปรียบกับนายทองดีฟันขาวมีครูมวยชื่อนายห้าวจูงเอาพวกมวยเข้ามาเปรียบเทียบกับนายทองดีๆ หาเปรียบกับพวกมวยเหล่านั้นไม่กลับเอียงไหล่เข้าไปเปรียบกับนายห้าว แล้วพูดว่า  “ฉันอยากจะเปรียบกับครู คนอื่นไม่ต้องการ” นายห้าวสำคัญว่านายทองดีฟันขาวพูดล้อเล่นก็หัวเราะ   นายทองดีฟันขาวรู้ทีจึงพูดซ้ำอีกว่า “จริงๆน่าครู ฉันอยากจะชกกับครูมากกว่าคนอื่นเพราะคิดเสียว่าถึงจะแพ้ก็คงจำแต้มครูไว้ได้บ้างไม่มากก็น้อย”  “เอ๊ะนี่จะสู้กับข้าจริงๆ หรือพ่อหนุ่มตะกอ” นายห้าวถาม  “จริงเสียยิ่งกว่าจริงอีกครู” นายทองดีฟันขาวตอบ

นายห้าวจึงบอกให้นายสนามจดชื่อไว้ด้วยกัน กระทำให้นายสนามกับพวกที่เข้าไปอยู่ในสนามพากันพิศวงที่นายทองดีฟันขาวขันสู้กับนายห้าวครูมวยลือเช่นนั้น ทั้งร่างกายหรือก็เสียบเปรียบเหมือนนิ้วก้อยกับหัวแม่มือและนายห้าวก็มีอายุ 36 ปี นายทองดีฟันขาวมีอายุพึ่งย่างเข้า 21 ปี เท่านั้นแล้วนายทองดีฟันขาวก็กลับขึ้นไปบนกุฏิ บอกกับท่านพระครูๆ ตกใจพูดว่า

เจ้าจะต่อสู้กับนายห้าวนั้นอาจมีภัยหลายประการ คือนายห้าวคนนี้เป็นครูมวยตัวลือชื่อดังตลอดแขวงเมืองตากไม่มีใครสู้ได้ ถึงเจ้าจะมีฝีมือเทียมกันก็คงจะแพ้กำลังเขา เพราะรูปร่างเขาใหญ่โตแน่นหนากว่าเจ้าทั้งอายุก็มากกว่าที่สุดถึงแม้เจ้าชนะเจ้าก็อยู่วัดนี้ต่อไปไม่ได้ ศิษย์เขามากย่อมจะคุมแค้นอับอายแทนครูเขา ก็จะหาโอกาสทำอันตรายเจ้าจนได้  เมื่อนายทองดีฟันขาวได้ฟังคำชี้เหตุจะนำผลร้ายมาสู่ตนเช่นนั้นก็เห็นจริงด้วย เกิดปริวิตกร้อนใจวุ่นอยู่พอได้เวลาชกมวยนายสนามร้องขานชื่อนายห้าวกับนายทองดีฟันขาวให้ออกชกกันจึงทราบว่านายทองดีฟันขาว หายหน้าไปไหนเสียแล้ว

พระเจ้าตากสั่งให้ติดตามเอามาให้ได้ เมื่อนายสนามทราบว่านายทองดีฟันขาวอาศัยอยู่ที่วัด จึงขึ้นไปบนกุฏิพบนายทองดีฟันขาวนั่งปรับทุกข์อยู่กับท่านพระครู ได้ช่วยกันขอร้องมิให้นายทองดีฟันขาวชกกับนายห้าว นายสนามไม่ยอมว่าได้นำรายชื่อเสนอพระเจ้าตากเสียแล้ว ให้ไปทูลขอต่อพระเจ้าตากเอง เขาไม่มีอำนาจจะอนุญาตให้ได้

ท่านพระครูจึงพานายทองดีฟันขาวไปเฝ้าพระเจ้าตากพร้อมด้วยนายสนาม ทูลเหตุผลซึ่งจะเป็นภัยแก่นายทองดีฟันขาว พระเจ้าตากทรงรับสั่งว่าข้อที่กลัวนายห้าวกับศิษย์จะผูกอาฆาตร้ายนั้น พระองค์ท่านรับรองเช่นนั้นก็เพราะพระองค์ได้ข่าวว่านายทองดีฟันขาวผู้นี้แหละที่เสือกัดเพื่อนลากเอาไปแย่งกลับมาได้ ซ้ำแทงเสือจนป่วยตาย และนายทองดีฟันขาวก็รู้อยู่แก่ใจ เห็นอยู่แก่ตาแล้วว่านายห้าวแน่นหนากว่า อายุแก่กว่าและเป็นครูมวยลือด้วย เมื่อกล้าขันจะต่อสู้เช่นนั้นคงมีฝีมือเยี่ยมอยู่จึงอยากทอดพระเนตร

เมื่อนายทองดีฟันขาวได้ฟังรับรองเช่นนั้น จึงตกลงยอมจะเข้าชกกับนายห้าวนายสนามจึงเร่งให้นายทองดีฟันขาวคาดเชือกมือ  นายทองดีฟันขาวลั่นศีรษะพูดว่าไม่ต้องคาดก็ได้  จึงให้ออกไปกลางสนามพร้อมกับนายห้าว  นายทองดีฟันขาวถวายบังคมพระเจ้าตาก 3 ครั้ง แล้วลุกขึ้นรำท่ามวยคนดูตบมือลั่นสรรเสริญว่า รำท่าทางแลดูสง่า อำนาจประดุจพระยาราชสีห์กำลังจะเข้าจับสัตว์เป็นภักษาหาร  ส่วนนายห้าวนั้นพอลุกขึ้นก็ย่าง 3 ขุม ตรงเข้าใส่พอใกล้ก็โถมเข้าเตะชกตะบันด้วยกำลังมิให้นายทองดีฟันขาวตั้งตัวได้ นายทองดีฟันขาวก็ปิดปัดด้วยความว่องไวมิให้ถูกจังได้ และถอยรับเรื่อยไปจนชิดเชือกที่ขึงนายห้าวก็ยิ่งเบ่งกล้ามเนื้อชกเตะอย่างตลุมบอน นายทองดีฟันขาวเห็นท่าไม่ดีเลยทำล้มเสีย ก็พอดีถึงกำหนดพักในยกนั้น

ชนะครูมวยเมืองตาก

คนดูที่เอาใจช่วยนายทองดีฟันขาวพากันวิตกว่าจะสู้นายห้าวไม่ได้ถึงกับพระเจ้าตากทรงรับสั่งว่า “จะสู้ต่อไปหรือยอมแพ้” นายทองดีฟันขาวทูลตอบว่า จะขอสู้ลองอีกสักยกหนึ่ง ครั้นแล้วก็เข้าชกกันอีก เมื่อต่างย่างเข้าไปจวนจะถึงตัวกัน  นายทองดีฟันขาวพูด “ว่าคราวนี้แหละครูระวังไว้ให้ดี”  พอขาดคำก็กระโดดเหยียบชายพกเสือกหมัดถูกตานายห้าวเอียงไปถึงเอาศอกซ้ายขวาของศีรษะนายห้าว 2 ทีซ้อนๆกัน  แล้วหกคะเมนผลอยไปยืนอยู่ข้างหลังนายห้าว ซึ่งถูกศอกมึนเซจวนจะล้มยกเท้าซ้ายเตะถูกปากครึ่งจมูกครึ่งนายห้าวหงายหลังหน้าเอียงกระเท่เร่มาข้างซ้าย  นายทองดีฟันขาวยกเท้าเตะสกัด โดยเต็มแรงถูกที่ขาตะไกรนายห้าวล้มสงบอยู่กับที่นั้นเอง ศีรษะที่ถูกศอกแตกทั้ง 2 แผล ฟันหัก 2 ซี่ จมูกฉีกเข้าไปเป็นกอง เลือดหูและศีรษะ ปาก จมูกไหลออกมาเป็นลิ่มหนึ่งพอแก้ฟื้นขึ้นนายห้าวก็ยอมแพ้

พระเจ้าตากรับสั่งถามนายทองดีฟันขาวว่า จะชกกับคนอื่นในเดี๋ยวนี้ได้ไหม นายทองดีฟันขาวทูลรับว่าได้ จึงเรียกครูชกมวยพระองค์ท่านชื่อ นายหมึกอายุราว 40 ปี ผิวเนื้อดำจริงสมชื่อ รูปร่างแน่นหนาใหญ่โตกว่านายห้าวเสียอีก เมื่อนายหมึกเข้าไปยืนเคียงนายทองดีฟันขาว ใครๆพากันเข้าใจว่านายทองดีฟันขาวคงไม่สู้แต่ที่ไหนได้พอพระเจ้าตากรับสั่งถามว่า “เอาไหมเจ้าหนุ่มกระเตาะ” นายทองดีฟันขาวก็ทูลรับว่าเอาทันที จึงให้ออกชกกัน

นายหมึกชกได้ทีหนึ่ง นายทองดีก็ปัดหมัดเสียได้ นายหมึกเตะช้าอีกทีหนึ่ง นายทองดีฟันขาวก็รับศอกได้อีก แล้วเตะสวนไปบ้างถูกนายหมึกที่ขาตะไกรซ้ายอย่างจัง นายหมึกเซไปข้างขวาก็ถูกเตะรับเข้าที่ขาตะไกรขวาอย่างจังอีก คราวนี้นายทองดีฟันขาวเตะเล่นเป็นเตะต้นกล้วยเหมือนคราวเมื่อเด็กถูกขาตะไกรซ้ายขวาทุกทีเอียงไปเอียงมากกว่าจะล้มลงไปได้ ถูกเข้าไปข้างละหลายทีสลบอยู่กับที่นั้นเอง

พระเจ้าตากตบพระเพลาพลางรับสั่งว่า “นักมวยผู้นี้มีฝีมือเลิศล้ำหาตัวมาสู้ไม่ได้อีกแล้ว” จึงเรียกตัวเข้าไปรับเงินรางวัล 5 ตำลัง แล้วชักชวนให้อยู่ด้วย จะชุบเลี้ยงให้มีความสุขต่อไป  นายทองดีฟันขาวก็ถวายตัวเป็นข้าอยู่ในจวนพระเจ้าตากตั้งแต่นั้นมา พระเจ้าตากโปรดปรานมากด้วย นายทองดีฟันขาวเป็นคนขยันขันแข็งไม่เกียจคร้านต่อการงาน เวลาว่าราชการพระเจ้าตากให้นายทองดีฟันขาวรำมวยรำดาบทอดพระเนตรเนืองๆ ทรงชมเชยว่ารำงามทุกท่าทางทอดพระเนตรไม่จืดเลย  พอนายทองดีฟันขาวอายุได้ 21 ปีเต็ม พระเจ้าตากก็จัดการบวชเป็นพระภิกษุสงฆ์ให้แห่แหนผัดช้างผัดม้ากันสนุกสนานมาก นายทองดีฟันขาวเป็นสงฆ์อยู่ 1 พรรษาก็สึกออกมาอยู่กับพระเจ้าตากต่อไป

อุปสมบท

พระเจ้าตากให้เป็นหลวงพิชัยอาษา อนึ่งเด็กบุญเกิดที่เสือกัดนั้นก็ติดตามไปอยู่กับหลวงพิชัยอาษาๆ รักใคร่ไว้เนื้อเชื่อใจมาก  ฝ่ายพระเจ้าตากก็ยิ่งโปรดปรานหลวงพิชัยอาษามาก จึงพระราชทานนางสาวลำยงสาวใช้ของพระมเหสีให้เป็นภรรยา และจะเสด็จไปไหนโปรดให้หลวงพิชัยอาษาเป็นราชองครักษ์ตามเสด็จด้วยทุกครั้ง เป็นคนรับใช้ใกล้ชิดพระองค์

เรื่องราวกำลังสนุกเข้มข้นมากขึ้น อย่าพลาด !  ติดตามประวัติของพระยาพิชัยดาบหัก ตอนที่ 2 กันนะครับ


ขอบคุณ  :  1. หนังสือประวัติพระยาพิชัยดาบหัก จังหวัดอุตรดิตถ์ ปี 2524

                 2. ที่มาของภาพประกอบเรื่อง จากพิพิธภัณฑ์บ้านเกิดพระยาพิชัย และ                                                       จาก https://www.google.co.th/search?q=รูปวาดพระยาพิชัยดาบหัก&tbm

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

หลวงพ่อฮวบ วัดสามัคยาราม ต.บ้านด่าน อ.เมือง จ.อุตรดิตถ์

หลวงพ่อกล่อม พรมสโร วัดป่ากะพี้ อ.พิชัย จ.อุตรดิตถ์

พระครูธรรมฐิติวงศ์คีรีเขตร (บุญใหญ่ อินทปญโญ) วัดเจดีย์คีรีวิหาร อ.ลับแล จ.อุตรดิตถ์