พระพุทธศาสนาลังกาวงศ์ในแคว้นสุโขทัย และศิลปะสุโขทัย

 

แคว้นสุโขทัยในระยะเริ่มแรกเมื่อราวพุทธศตวรรษที่ 18 นั้น ไม่มีหลักฐานที่แน่ชัดว่านับถือพระพุทธศาสนานิกายใด ได้พบพระพิมพ์ชนิดหนึ่ง ซึ่งเหมือนกับพระพิมพ์ที่พบที่เมืองพุกาม ประเทศพม่า และที่เมืองหริภุญไชย(ลำพูน) ทำให้สันนิษฐานได้ว่า แต่เดิมชาวสุโขทัยน่าจะได้นับถือพระพุทธศาสนาลัทธิเถรวาทตามแบบเมืองพุกาม รวมทั้งนับถือพระพุทธศาสนาแบบมหายาน(อิทธิพลจากเขมร)ด้วย ดังปรากฏโบราณสถานวัดพระพายหลวง ศาลตาผาแดง และปรางค์สามองค์ที่วัดศรีสวาย

ในช่วงครึ่งหลังของพุทธศตวรรษที่ 18 มีการเปลี่ยนแปลงราชวงศ์เป็นราชวงศ์พระร่วง พระพุทธศาสนาลังกาวงศ์จากเมืองนครศรีธรรมราชคงได้แพร่หลายเข้ามายังเมืองสุโขทัยแล้วในระยะนี้(ศิลาจารึกหลักที่ 1)

พระพุทธศาสนาลังกาวงศ์ได้เข้ามาสู่แคว้นสุโขทัยอีกครั้งหนึ่งในราวปลายพุทธศตวรรษที่ 19 ถึงต้นพุทธศตวรรษที่ 20 ซึ่งในครั้งนี้พระมหาเถรศรีศรัทธาราชจุฬามุนี ซึ่งเป็นราชนัดดาของพ่อขุนศรีนาวนำถุม(ปฐมกษัตริย์เมืองสุโขทัย) ได้เดินทางไปศึกษาพระศาสนายังเกาะลังกา และนำกลับมาเผยแผ่ยังแคว้นสุโขทัย(ศิลาจารึกหลักที่ 2)


การเข้ามาของพระพุทธศาสนาจากเกาะลังกา(สายสีหล)ครั้งนี้ ทำให้ศิลปะลังกาเข้ามามีอิทธิพลอยู่ในศิลปะสุโขทัยอย่างชัดเจน

ในปลายพุทธศตวรรษที่ 19 ครั้งรัชกาลพระมหาธรรมราชาลิไท(ราชวงศ์พระร่วง) มีพระสงฆ์สุโขทัยสองรูป คือ พระอโนมทัสสีและพระสุมนเถระ เดินทางไปยังเมืองพันหรือเมาะตะมะ เข้าบวชใหม่ในฝ่ายอรัญญวาสีที่สำนักของพระอุทุมพรบุบผามหาสวามี เมื่อเดินทางกลับมา ได้มีการเผยแผ่พระพุทธศาสนาลังกาวงศ์ตามแนวทางของลังกาวงศ์สายรามัญ และได้รับการสนับสนุนจากพระมหาธรรมราชาลิไทเป็นอันมาก

ต่อมาพระมหาธรรมราชาลิไทเสด็จออกผนวช โดยมีพระอุทุมพรบุบผามหาสวามีเป็นพระอุปัชฌาย์ ทรงจำพรรษาอยู่หลายเดือนที่วัดป่ามะม่วงภายหลังที่ทรงลาผนวชแล้ว ได้ส่งพระสงฆ์ที่ได้เคยไปศึกษาพระศาสนาที่เมืองพัน ให้ไปเผยแผ่พระพุทธศาสนาลังกาวงศ์สายรามัญยังเมืองต่างๆ ภายนอกอาณาจักร

คือ พระปิยทัสสี ไปเผยแผ่พระศาสนาที่กรุงศรีอยุธยา พระสุวัณณคีรีไปที่เมืองหลวงพระบาง พระเวสสภูไปเผยแผ่ยังเมืองน่าน ส่วนพระพุทธสาคร พระสุชาตะ พระเขมะ พระสัทธาติสสะ ให้ไปอยู่ที่เมืองสองแคว
และใน พ.ศ.1912 พระสุมนเถระได้เดินทางไปเจริญพระพุทธศาสนาในเมืองเชียงใหม่ตามที่ได้รับนิมนต์จากพระเจ้ากือนา กษัตริย์ล้านนา



พระพุทธศาสนาลังกาวงศ์สองสำนักนิกาย(สายสีหลและสายรามัญ) คงมีความขัดแย้งกัน เนื่องจากแต่ละฝ่ายจะได้รับการสนับสนุนจากเชื้อพระวงศ์และกษัตริย์ของสุโขทัย ดังสะท้อนให้เห็นจากการปราบดาภิเษกของพระมหาธรรมราชาลิไท รวมทั้งความขัดแย้งของสำนักพระพุทธศาสนาลังกาวงศ์ในล้านนา

พระพุทธศาสนาลังกาวงศ์เจริญรุ่งเรืองอยู่ในแคว้นสุโขทัยเป็นอย่างมาก และมีพระสงฆ์เดินทางไปศึกษาพระธรรมวินัยที่เกาะลังกาอีกหลายคณะ โดยเฉพาะในราวครึ่งหลังของพุทธศตวรรษที่ ๒๐ ได้มีพระภิกษุที่อยู่ในเมืองเชียงใหม่กลุ่มหนึ่ง พร้อมด้วยพระภิกษุในแคว้นกัมโพช (ลพบุรี) และมอญรวม ๓๙รูปได้เดินทางไปเกาะลังกา

คณะสงฆ์กลุ่มนี้เป็นคณะสงฆ์ลังกาวงศ์กลุ่มใหม่หรือสีหลสายใหม่เมื่อเดินทางกลับมา ได้เผยแผ่พระพุทธศาสนาและจำพรรษาอยู่ตามเมืองต่างๆ หลายแห่ง เช่นที่กรุงศรีอยุธยา ศรีสัชนาลัย สุโขทัย และเชียงใหม่ ซึ่งพระพุทธศาสนาลังกาวงศ์ฝ่ายสีหลหรือลังกาสายใหม่ที่เข้ามาในระยะนี้ จะมีบทบาทสำคัญอยู่ในแคว้นสุโขทัย โดยเฉพาะในช่วงที่แคว้นสุโขทัยอยู่ใต้อำนาจทางการเมืองของกรุงศรีอยุธยา และน่าจะเป็นพระพุทธศาสนาลังกาวงศ์ระลอกสุดท้ายที่เข้ามาเผยแผ่ในแคว้นสุโขทัย


พระพุทธศาสนาแบบเถรวาทลัทธิลังกาวงศ์ ซึ่งได้เจริญรุ่งเรืองอยู่ที่แคว้นสุโขทัย ทำให้สุโขทัยเป็นศูนย์กลางของพระพุทธศาสนาลังกาวงศ์ ได้เป็นเบ้าหล่อหลอมให้สุโขทัยมีแบบแผนทางศิลปะและวัฒนธรรมเป็นของตนเอง

โดยเฉพาะศิลปะสุโขทัย ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นงานศิลปกรรมและสถาปัตยกรรมที่เกี่ยวเนื่องในพระพุทธศาสนา(อิทธิพลจากศิลปะลังกา) จะมีรูปแบบและลักษณะเฉพาะที่เป็นเอกลักษณ์ของสุโขทัยอย่างแท้จริง

ซึ่งศิลปะสุโขทัยดังกล่าวนี้เอง ที่เผยแผ่ไปพร้อมกับพระพุทธศาสนาลังกาวงศ์ยังดินแดนอื่นๆ อาทิ กรุงศรีอยุธยา ล้านนา ล้านช้าง ฯลฯ ทำให้ศิลปะสุโขทัยมีอิทธิพลเกี่ยวข้องกับศิลปะของบ้านเมืองเหล่านั้น และมีพัฒนาการมาตามลำดับ กลายเป็นศิลปะไทยในทุกวันนี้.

 

 

ขอบคุณ  :   FB สุรพล ดำริห์กุล

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

หลวงพ่อฮวบ วัดสามัคยาราม ต.บ้านด่าน อ.เมือง จ.อุตรดิตถ์

หลวงพ่อกล่อม พรมสโร วัดป่ากะพี้ อ.พิชัย จ.อุตรดิตถ์

พระครูธรรมฐิติวงศ์คีรีเขตร (บุญใหญ่ อินทปญโญ) วัดเจดีย์คีรีวิหาร อ.ลับแล จ.อุตรดิตถ์