ประวัติพระยาพิชัยดาบหัก ตอนที่ 2
สวัสดีครับ ยังคงนำเสนอประวัติของพระยาพิชัยดาบหักต่อเนื่องเป็นตอนที่ 2 ความเดิมตอนที่แล้ว.." ฝ่ายพระเจ้าตากก็ยิ่งโปรดปรานหลวงพิชัยอาษามาก จึงพระราชทานนางสาวลำยงสาวใช้ของพระมเหสีให้เป็นภรรยา และจะเสด็จไปไหนโปรดให้หลวงพิชัยอาษาเป็นราชองครักษ์ตามเสด็จด้วยทุกครั้ง เป็นคนรับใช้ใกล้ชิดพระองค์...."
ที่เมืองตากในสมัยนั้น
พวกกรมการตลอดจนพระเจ้าตากนิยมเล่นการพนันชนไก่กันสนุกสนานมาก
หลวงพิชัยอาษาก็อยู่ในจำนวนที่ชอบเล่นไก่ด้วย
และไก่หลวงพิชัยอาษามีดีอยู่ตัวหนึ่งสีเขียวตาเขียวพร้อมชื่อ พาลี
ตีชนะมาหลายไก่และก็ชนะไม่เลย 3 อันสักครั้งเดียว จนไม่มีใครมาขันสู้
นอกจากหลวงเมือง ซึ่งไก่ของตนแพ้ไป 2 ตัวแล้ว
มานะใช้คนไปเที่ยวหาไก่ที่มีลำแข้งดีเพื่อมาหักไก่ชื่อพาลีให้ได้
คนใช้ไปหาได้มาพร้อมด้วยประวัติของไก่ว่า
เมื่อแม่ไก่จะฟักเจ้าของเอาไข่ชั่งได้น้ำหนักมากกว่าไข่ฟองอื่น 3 ฟอง
จึงให้แม่ไก่ฟักเฉพาะ 3 ฟองเท่านั้น แต่ได้ตัวผู้ตัวเดียวนี้นอกนั้นเน่าหมดไก่ตัวนี้สีเหลือง
ปากเหลือง แข้งเหลือง หางขาว เจ้าของให้ชื่อโทนเฒ่า
เป็นไก่เคยชนะบ่อนมาแล้วเหมือนกัน
แต่หาคู่ตียากด้วยเป็นไก่ชนิดสูงใหญ่กว่าธรรมดาไก่มาก
เจ้าของเกิดเบื่อเลี้ยงขึ้นจึงให้มา หลวงเมืองเห็นไก่ตัวนี้เข้าก็ชอบใจ
จึงหาไก่มาลองซ้อมฝึกดู ไก่โทนเฒ่าก็ตีไก่ตัวนั้นชักผั้บๆ แพ้ในอันนั้นเอง
หลวงเมืองดีใจนักเพราะไก่ตัวนี้สูงใหญ่กว่าไก่พาลีของหลวงเมืองพิชัยอาษากว่า 2 เอา
1 เชื่อใจว่าถ้าหลวงพิชัยอาษากล้าดีแล้ว ไก่พาลีต้องแพ้หลุดลุยทีเดียว
จึงถนอมเลี้ยงไก่โทนเฒ่าไว้ในที่ลับมิให้ใครเห็นจนมีกำลังได้ที่ จึงไปท้าหลวงพิชัยอาษาว่าได้ไก่มาจะชนะกับไก่พาลีตัวลือ
แต่ต้องคลุมถุงชน แปลว่าไม่ต้องเปรียบกันให้เสียเวลา
หลวงพิชัยอาษาก็นึกรู้สึกได้ทันทีว่า
ไก่ตัวนั้นคงจะได้เปรียบพาลีแน่นอน แต่ไก่พาลีเป็นไก่ขนาดกลาง
ถึงแม้จะสูงใหญ่กว่าคงไม่เลย 5 เอา 4 สามสองไปได้ ถ้าเลยไปกว่านี้ก็ผิดธรรมดาไก่ชนไป
เมื่อคิดเช่นนั้นแล้วจึงรับปากนัดชนกัน พอถึงกำหนด หลวงเมือง หลวงพิชัยอาษา
ต่างก็นำไก่ไปที่สังเวียนพวกพ้องของใครต่างก็พอกันไปคอยเล่นคอยดูเต็มแน่นล้อมรอบสังเวียน
ส่วนหลวงเมืองนั้นรีบไปถึงก่อนเอาสุ่มครอบและเอาผ้าคลุมไก่โทนเฒ่าไว้ไม่ยอมให้หลวงพิชัยอาษากับพวกเปิดดู
ในวันนั้นพระเจ้าตากเสด็จทอดพระเนตรด้วย
เมื่อว่าเดิมพันกันเป็นที่ตกลงกันแล้วหลวงเมืองจึงไปเปิดสุ่มอุ้มไก่โทนเฒ่าเข้ามาในสังเวียน หลวงพิชัยอาษาเห็นไก่โทนเฒ่าสีและลักษณะต้องในตำรามีสกุลว่าไก่ของตัวทั้งสูใหญ่กว่า
2 เอา 1 ผิดคาดเช่นนั้น ก็ตกใจหน้าเชียวลง
ในขณะนั้นแล้วกลับนึกมานะว่าไก่เราก็มีฝีแข้งเป็นทุกด้านคงพลาดท่าให้ไก่เราปล่อยแข้งเด็ดได้บ้าง
ถึงชนะได้ก็คงถึงป้อนข้าวกัน ประการที่ 1
ที่ไก่พาลีตีมาแล้วก็ไม่ได้ตีเท่าบ่าเท่าไหล่สักครั้ง ตีเสียเปรียบเขาตั้ง 5 เอา 4 สามสองยังเอาชนะได้
เมื่อต่างทำพิธีเอาผ้าชุบน้ำเคล้าหน้า
เศกเป่าลงที่ศีรษะไก่เสร็จแล้วปล่อยให้เข้าตีกันฝ่ายหลวงเมืองกับพรรคพวกร้องเสมอไก่ของตัวเป็นจ้าละหวั่น
หลวงพิชัยอาษากับพรรคพวกก็รับบ้าง
พอมิให้เสียเหลี่ยมของทางนักเลงด้วยไม่สู้จะเต็มใจเพราะเสียเปรียบมากนัก
ต้องรอดูเชิงไก่ก่อน นับว่าตั้งแต่เมืองตากเล่นชนไก่กันมาคนไม่มากและไม่ออกรสสนุกสนานเหมือนวันนี้
พอไก่ประสานแข้งกันจวนจะเข้าเกี้ยว ไก่โทนเฒ่าเตะสาดไปเฉยๆ ไม่ต้องจิกเสียก่อน
หักเอาไก่พาลีหมุนติ้ว
ไก่โทนเฒ่าเตะซ้ำไก่พาลีถูกแข้งตื่นบินขึ้นจนสุดตัวแล้วก็วิ่งหนี ไก่โทนเฒ่าก็วิ่งไล่ไปรอบสังเวียนฝ่ายหลวงเมืองกับพวกต่างหน้าบานร้องต่อที่สุด
3 เอา 1 และหลวงพิชัยอาษากับพวกหน้าซีดไปตามกันไม่มีใครกล้าร้อง
ผู้ให้น้ำกระโดดเข้าขับประคับประคองแก้ขัดที่ถูกหักจนหายขัดหายยอกแล้วอุ้มวางให้เดิน
พระเจ้าตากจึงทรงตัดสินให้เอาไก่โทนเฒ่าที่ตายขึ้นขาหยั่งให้ไก่พาลีจิกเตะ
ถ้าไก่โทนเฒ่าตกขาหยั่งเป็นแพ้ ถ้าไม่ตกไม่แพ้ ทั้ง 2
ฝ่ายยอมคำตัดสินของพระเจ้าตาก นายบ่อนจึงทำขาหยั่งขึ้นเอาไก่โทนเฒ่าวางลงบนขาหยั่ง
ปล่อยไก่พาลีให้เตะจิก
หลวงพิชัยอาษาร้องบอกไก่ของตัวว่า
“อ้ายลูกแก้วจิกกระชากเข้าจนตกขาหยั่งให้ได้สิหนา” เป็นที่น่าพิศวงยิ่ง
พอหลวงพิชัยอาษาพูดขาดคำลง ไก่พาลีก็ตรงเข้าจิกดึงกระชากๆจนไก่โทนเฒ่าตกจากขาหยั่งเหมือนรู้ภาษาคน เมื่อหลวงเมืองยอมรับแพ้แล้ว
หลวงพิชัยอาษาก็โดดเข้าอุ้มไก่พาลีขึ้นเชิดชูแทบจะว่าทูนหัว ทูลเกล้า
แล้วพรรคพวกก็รับเอาไปเชิดชูจูบกอดกันเสียยกใหญ่เสียงโห่ด้วยความดีใจดังสนั่นหวั่นไหว
ฝ่ายหลวงเมืองหน้าถอดสีด้วยต้องเสียเงินเข้าไปคนละหลายสิบบาท
พระเจ้าตากทรงพระสรวลรับสั่งว่า
“เจ้าของหรือก็มีฝีมือมวยและฟันดาบเป็นเทวดา มีไก่ก็มีฝีแข้งเป็นไก่เทวดาอีกด้วย
เป็นที่น่าประหลาดเหลือ”
ตั้งแต่นั้นมาจึงเป็นธรรมเนียมไก่ตีกันตายต้องเอาขึ้นขาหยั่ง
พึ่งเลิกธรรมเนียมนี้เมื่อสัก 50 ปีล่วงมาแล้ว
คือ ถ้าไก่ของใครตายผู้นั้นเป็นไม่ต้องขึ้นขาหยั่ง
(ในรัชกาลสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว)
อยู่ต่อมาพระเจ้าตากได้รับท้องตราพระแสพระบรมราชโองการโปรดให้พระเจ้าตากลงไปเฝ้าทูลละออกธุลีพระบาท
ณ กรุงศรีอยุธยา จะโปรดเกล้าให้เป็นพระยาวิเชียรปราการครองเมืองกำแพงเพชร
หลวงพิชัยอาษาตามเสด็จพระเจ้าตากด้วย ก็พอดีมีพม่าข้าศึกยกกองทัพมาล้อม
พระนครศรีอยุธยาพระเจ้าตากจึงต้องอยู่ช่วยรบ
ด้วยตระหนักแน่ในพระทัยว่าพระนครศรีอยุธยาจะถึงกาลขาด
เหตุที่อธิบดีเมืองและประชาชนมิเป็นธรรม
จึงชุมนุมพรรคพวกพลทหารไทยจีนประมาณพันเศษสรรพด้วยเครื่องสาตราวุธ
พร้อมทั้งนายทหารผู้จงรักภักดีต่อพระองค์ คือ พระเชียงเงิน หลวงพรหมเสนา
หลวงพิชัยอาษา หลวงราชเสน่หา ขุนอภัยภักดี หมื่นราชเสน่หา ยกออกไปตั้ง ณ วัดพิชัย
อันเป็นมงคลสถาน แล้วยกออกจากวัดพิชัยฝ่ากองทัพพม่าไปเป็นเวลาย่ำค่ำ
หลวงพิชัยอาษาถือดาบสองมือคาดเชือกแน่นออกหน้าพลทหารฟันตลุยออกไป
พม่าตายหลายคนแตกกระจายเปิดทางให้พระเจ้าตากจึงเสด็จโดยสวัสดิภาพไปทางบ้านข้าวเม่าหยุดพักไพร่พลที่บ้านสามบัณฑิต
รุ่งขึ้นยกไปถึงบ้านโพธิ์สาวหาร
พม่ายกกองทัพติดตามมา พระเจ้าตากเตรียมไพร่พลไว้พร้อมสรรพครั้นกองทัพพม่ายกมาถึง
จึงดำเนินนำหน้าพลทหารกับหลวงพิชัยอาษาคู่ชีพของพระองค์
ท่านรบกับพม่าเป็นสามารถพม่าแตกกระจัดกระจายไปเก็บได้เครื่องสาดตราวุธเป็นอันมาก
แล้วเลยไปหยุดประทับแรมอยู่ ณ บ้านพรานนก
ฝ่ายทหารออกไปเที่ยวหาอาหารพม่ายกมาแต่บางคาง พม่าไล่ติดตามมาจวนถึงที่ประทับ
จึงขึ้นม้าพร้อมด้วยหลวงพิชัยเสนา
หลวงหมออาษา ขุนอภัยภักดี หมื่นราชเสน่หา รวม 5 ม้าด้วยกันออกรับกองทัพพม่า
ส่วนพระเชียงเงินหลวงราชเสน่หาพร้อมด้วยพลทหารให้ตั้งเป็นปีกกาออกรบแซก 2 ข้าง
กองทัพพม่า 30 ม้า แตกย่นหกหลังกลับไปถึงพลเดินเท้าแตกกระจายไปสิ้น
รุ่งขึ้นไปประทับร้อนที่บ้านดง
มีรับสั่งให้หาขุนหมื่นพันทนายบ้านมาเฝ้าจะประสานราโชวาทโดยดี
ขุนหมื่นพันทนายบ้านมิได้เชื่อพระบารมีขัดแข็งไม่ยอมมาเฝ้า
กลับซ่องสุมผู้คนไว้จะทำร้ายพระองค์ ได้ให้ทหารไปว่ากล่าวเกลี่ยกล่อมแต่โดยธรรมถึง
3 ครั้ง ก็มิได้อ่อนน้อมกลับท้าทายอีก
จึงตรัสเป็นผลกรรมของเขาแล้วพอรุ่งขึ้นแต่เช้าก็เสด็จขึ้นม้ากับหลวงพิชัยอาษาพร้อมด้วยพลทหารม้า
20 ฝ่าเข้าไป ขุนหมื่นทหารชาวบ้านคงมากกว่าพันออกต่อสู้ยิงปืนสกัดหน้าหลังทำอันตราย
ด้วยเดชบารมีของพระเจ้าตากจะได้ถูกต้องผู้ใดก็หามิได้
จึงขับม้านำหมู่ทหารบุกรุกไปปืนหักเอาค่ายได้
ไล่ตลุมบอนฟันแทงทหารชาวบ้านล้มตายเป็นอันมาก
ที่เหลือก็แตกกระจัดกระจายหนีไปได้ช้างพลายพังรวม 7 ช้าง กับหิรัญสุวรรณธัญญาหารเป็นอันมาก
ประทับแรมที่นั่นอีก 1 คืน รุ่งขึ้นก็เลยไปเป็นอันดับไม่มีเหตุอย่างไรได้สัก 3-4
วัน ในวันยกออกจากเมืองปราจีนประทับร้อนหนองน้ำ
พม่าไล่ฟันแทงคนซึ่งเมื่อยล้าวิ่งหนีมาตามทาง
ทอดพระเนตรเห็นจึงให้นายบุญมีขึ้นมาสวนทางไปดู พบพม่ายกขึ้นมาแต่ปากน้ำเจ้าโล้ทั้งทัพบกทัพเรือก็กลับมากราบทูล
จึงสั่งให้พลทหารตั้งปืนตับใหญ่น้อยดาไว้ต่างค่าย
แล้วให้คนหาบเสบียงครอบครัวไปก่อน แต่พระองค์กับนายพลทหารประมาณ 100 เศษ
เตรียมตัวพร้อมสรรพคอยรับพม่าอยู่ ณ ที่นั้น
ครั้นบ่ายโมงเศษพม่ายกกองทัพมาถึง จึงเสด็จนำหน้าทหารด้วยหลวงพิชัยอาษา
พระเชียงเงิน หลวงชำนาญไพรสณฑ์ นายทองดี นายบุญมี นายแสง
ออกไปรับล่อพม่านอกแถวปืนใหญ่น้อยซึ่งดาไว้ พม่ายกกองทัพเรียบเรียงมาจำเพาะในพงแขม
ครั้นเข้ามาใกล้ได้ทีจึงให้ยิงปืนเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ถูกพม่าล้มตายเป็นอันมาก
พม่าที่ยังอยู่อุดหนุนกันเข้ามาก็ถูกปืนตับยิงย่อยลงอีก พม่าหนุนกันเข้ามาอีก
วางปืนตับเข้าโครมสาม
พม่าแตกกระจัดกระจายพ่ายไป ตั้งแต่นั้นมาพม่ามิได้ยกติดตามไปอีก
ก็เสด็จยกกองทัพไปโดยสวัสดิภาพจนถึงเมืองระยองผู้รั้งเมืองระยองกับกรมการทั้งปวงพากันมาต้อนรับเสด็จ
ภายหลังกลับพากันจะทำร้ายพระองค์ ประชุมนัดกันจะเข้าปล้นค่ายในคืนวันนั้น
จึงสั่งให้ทหารเตรียมตัวไว้ให้พร้อม
ตรัสให้ดับแสงเพลิงเสียจึงเสด็จด้วยหลวงพิชัยอาษา กับนายทหารอีกรวม 15 นาย
ถือปืนและดาบครบมือกันออกเที่ยวตรวจตรารอบค่าย ดูท่าทางข้าศึกพวกเหล่าร้ายยกกำลังล้อมค่ายเข้ามา
ห่างค่ายประมาณ 5 วา จึงสั่งยิงปืนพร้อมกันถูกพวกเหล่าร้ายล้มตายเป็นอันมาก
จึงรับสั่งให้หลวงพิชัยอาษาพร้อมด้วยนายทหาร 15 นาย
ออกไล่ตลุมบอนฟันแทงพวกเหล่าร้ายล้มตายแตกหนีไปหลวงพิชัยอาษาได้ศีรษะขุนจ่าเมืองด้วงหัวหน้าเหล่าร้าย
นำมาถวายพระเจ้าตากดีพระทัยนักทรงชมเชยหลวงพิชัยอาษาว่า
เป็นยอดทหารเสมอด้วยพระยาสีหราชเดโช (น้อย ยะอิปะ) ทหารเอกแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์
ตามที่พระเจ้าตากยกกำลังไปครั้งนั้น มีความมุ่งหมายจะเกลี่ยกล่อมประชาชนได้เป็นกำลังมากแล้วจะเลยไปชักชวนพระยาจันทบุรี
รวมกำลังกันยกไปรบกับพม่าข้าศึกที่ตั้งล้อมพระนครศรีอยุธยาให้พ่ายแพ้ถอยไป
ด้วยพระยาจันทบุรีคุ้นเคยชอบพอกับพระองค์ท่านมาตั้งแต่เป็นมหาดเล็กมาด้วยกัน
เมื่อปราบปรามพวกเหล่าร้ายสงบแล้วหยุดประทับตั้งเกลี่ยกล่อมราษฏรอยู่ที่เมืองระยองหลายเวลา
จึงโปรดให้นายบุญมาน้องพระยาจันทบุรี นายบุญรอด นายบุญมี
เป็นข้าหลวงไปเจรจาถวายเมืองกับพระยาจันบุรีให้นายเผือกญวน
นักมาเขมรเป็นผู้นำข้าหลวง 3 นาย ไปทางชลมารค ข้าหลวง 3 นาย กลับมาทูลว่า
พระยาจันบุรียินดียอมปฏิบัติตามกระแสรับสั่งอีก 10 วัน
จะจัดกรมการมาเฝ้านำเสด็จเข้าไปในเมืองจันบุรี ครั้นถึงกำหนดพระยาจันบุรีกลับคิดประทุษร้ายคิดแต่ป้อมค่ายคู
ประตูหอรบเชิงเทิน ตระเตรียมโยธาทหารไว้สรรพด้วยเครื่องสาตราวุธปืนใหญ่น้อยเสร็จ
จึงให้ตั้งค่ายล้อมเมืองไว้แต่งข้าหลวงไปว่ากล่าวถึง 3 ครั้ง
พระยาจันทบุรีก็ไม่ยอมอ่อนน้อม
จึงตรัสสั่งให้โยธาทั้งปวงหุงหาอาหารกินแล้วเหลือนั้นให้ลาดเททุบต่อยหม้อข้าวหม้อแกงเสียจนสิ้น
ในเพลากลางคืนวันนี้จะเข้าตีเอาเมืองจันทบุรีให้ได้ ไปกินข้าวเช้าเอาในเมือง ถ้ามิได้ก็ให้ตายเสียด้วยกันจนสิ้นทีเดียว
พอเวลา 3 ยาม ตรัสให้นายทัพนายกองยกกำลังเข้าไปประจำอยู่ทุกด้านพร้อมสรรพ
ถ้าเข้าเมืองยังไม่ได้ให้โห่ร้องเข้าได้แล้วให้โห่ร้องเป็นสัญญาณให้รู้ทั่วกัน
จึงเสด็จทรงช้างพระที่นั่ง โปรดให้หลวงพิชัยอาษานายทหารผู้ไว้พระทัย ขุมพลทหารหน้าช้างพระที่นั่งทรงขับช้างพระที่นั่งทลายประตูเมืองพังลง
หลวงพิชัยอาษาพร้อมด้วยพลทหารลอดเข้าไปได้
ได้โห่ร้องขึ้นเป็นสัญญาณแก่นายทัพนายกองซึ่งไปประจำอยู่ทุกด้าน
ต่างพากันบุกรุกตีหักเข้าไปได้พร้อมกัน ไล่ยิงแทงฟันชาวเมืองแตกตื่นหนีออกจากเมือง
พระยาจันบุรีพาบุตรภรรยาหนีลงเรือไปปากน้ำพุทไธมาศ
พลทหารไทยจีนจับได้ครอบครัวพิรัญสุวรรณธัญญาหาร
ปืนจ่ารงมณทกนกสันคาบศิลาสรรพาวุธทั้งปวงเป็นอันมาก
ส่วนหลวงพิชัยอาษาได้ศรีษะหมื่นซ่องตัวศัตรูสำคัญยุพระยาจันทบุรีมิให้อ่อนน้อมนำมาถวาย
รับสั่งให้เอาไปเสียบประจานไว้ที่ประตูเมือง ก็เสด็จยับยั้งอยู่ ณ เมืองจันบุรี
ต้องซ่องสุมผู้คนเสบียงอาหาร ต่อเรือรบอยู่ประมาณ 3 เดือน ได้เรือรบ 100 ลำเศษ
ทราบว่าพระนครศรีอยุธยาเสียแก่พม่าข้าศึกแล้ว
บรรดาหัวเมืองทั้งปวงคิดกำเริบตั้งตัวเป็นเจ้าขึ้นหลายเมือง
แผ่นดินแบ่งออกเป็นหลายส่วนเกิดจลาจลรบพุ่งกันหลายพวก
ประชาชนได้รับความเดือนร้อนหาที่พึ่งไม่ได้
ทรงพระดำริจะปราบยุคเข็ญให้สงบราบคาบจะก่อกู้พระนครศรีอยุธยาให้คืนคงเป็นราชธานี
มีพระราชอาณาเขตของประเทศเมืองสยามเหมือนดังเก่า
จึงดำรัสให้นายทัพนายกองทั้งปวงตรวจเตรียมเรือรบครบด้วยโยธาหารสรรพาวุธ
ปืนใหญ่น้อยและเรือลำเลียงเสบียงอาหารพร้อมเสร็จ แล้วตั้งข้าหลวงผู้มีความชอบอยู่ครองเมืองจันบุรีและเมืองระยอง
จึงเสด็จยกตราทัพเรือ 100 ลำเศษ พลทหารประมาณ 4 พัน
ยกจากเมืองจันบุรีมาทางทะเลเข้าปากน้ำเมืองสมุทรปราการ ถ้าเมืองธนบุรีได้รบกัน
เจ้าทองอินซึ่งพม่าตั้งไว้ให้รักษาเมืองธนบุรีนั้นครู่หนึ่งก็แตกพ่ายข้าหลวงจับตัวให้ได้
ประหารชีวิตเสีย กรมการหนีไปแจ้งแก่สุกี้นายกกองค่ายโพธิ์สามต้น พระนายกองจึงจัดทหารไทยมอญให้ม่วงญาเป็นนายทัพยกทัพเรือมาตั้งรับอยู่
ณ เพนียด
หลวงพิชัยอาษาเป็นนายทัพหน้าเร่งเรือรบขึ้นมาจะรบกับม่วงญา รู้ข่าวว่าพระเจ้าตากเสด็จเป็นจอมทัพมาเอง ก็เกรงพระเดชานุภาพมิได้อยู่สู้รบถอยหนีไป ณ ค่ายโพธิ์สามต้น ตรัสให้หลวงพิชัยอาษาบุกเข้าตีค่ายตะวันออกรบกันอยู่พักหนึ่งค่ายพม่าตะวันออกก็แตก จึงเข้าล้อมค่ายตะวันตกซึ่งมีกำแพงที่พระนายกองอยู่รบกันอยู่ 2 วัน ก็ตีหักเข้าค่ายได้ พระนายกองต่อสู้จนตัวตายอยู่ในค่าย จึงเสด็จพร้อมด้วยนายกองพลทหารเข้าไปในค่ายประทับ ณ จวนพระนายกอง พระยาธิเบศรบดีขุนนางเก่าพระนครศรีอยุธยา ซึ่งตกอยู่ ณ ค่ายโพธิ์สามต้นนั้น นำราชตระกูลและข้าราชการเก่าในกรุงมาถวายตัวเฝ้า ได้ทรงเห็นความทุกข์ยากลำบากก็ทรงสังเวชสลดพระทัย จึงพระราชทานทรัพย์สิ่งของต่างๆ แก่พระราชวงศ์ษานุวงศ์กับขุนนางโดยทั่วหน้า แล้วเสด็จเข้าไปตั้งพลับพลาประทับอยู่ในพระนคร จึงเสด็จทรงช้างพระที่นั่งเที่ยวประพาสทอดพระเนตรทั่วพระนครเห็นปราสาทและตำหนักใหญ่น้อยทั้งข้างหน้าและข้างในเพลิงไหม้เสียบ้างยังดีอยู่บ้างก็ทรงสังเวช
ดำริจะเข้าตั้งดำรงราชอาณาจักรสืบกษัตริย์ครอบครองรักษาแผ่นดินต่อไป
ก็เสด็จประทับแรมอยู่ ณ พระที่นั่งทรงขึ้นบรรมทมอยู่
คืนหนึ่งทรงสุบินว่าพระมหากษัตริย์แต่ก่อนมาขับไล่มิให้อยู่
ครั้นรุ่งเช้าตรัสเล่าให้ขุนนางทั้งปวงฟังแล้วดำรัสว่า
เมื่อเจ้าของเดิมยังหวนแหนอยู่แล้วเราชวนกันไปสร้างเมืองธนบุรีเมืองธนบุรีอยู่เถิดจึงให้เลิกกองทัพกวาดต้อนราษฏรพลเมือง
ทั้งปวงไปตั้งอยู่เมืองธนบุรี ฝ่ายท้าวพระยาข้าราชการไทยจีนผู้น้อยทั้งปวงก็ปรึกษาพร้อมกันอัญเชิญเสด็จเถลิงถวายราชสมบัติเป็นบรมกษัริย์ผ่านพิภพสีมา
ณ กรุงธนบุรี ตั้งขึ้นเป็นราชธานีเมื่อพุทธศักราช 1130 ปีชวดสัมฤทธิศก
ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯตั้งให้หลวงพิชัยอาษาเป็นเจ้าหมื่นไวยวรนาท
มีตำแหน่งเป็นนายทหารเอกองครักษ์ในพระองค์
ในปีชวดนั้น
พม่ายกกองทัพพล 2 หมื่น เศษเข้ามาทางเมืองไทรโยค
จึงเสด็จยกทัพหลวงไปทางชลมารค เจ้าหมื่นไวยวรนารถ โดยเสด็จในกองทัพหลวงด้วย
ถึงเมืองสมุทรสงคราม ตรัสให้พระมหามนตรีแม่ทัพหน้ายกเข้าตีกองทัพพม่าแตกฉานสิ้นเวลาเดียว
พลทหารไทยไล่ตลุมบอนฟันแทงพม่าล้มตายในน้ำบนบกเป็นอันมาก
ทัพพม่าพ่ายหนีกลับไปทางด่านเจ้าขว้าวเก็บได้เครื่องสาตวุธในครั้งนั้นเป็นอันมาก
ในปลายปีชวดนั้น
สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จยกพยุหโยธาไทยจีน พร้อมด้วยสรรพาวุธทั้งทางบกทางเรือขึ้นไปตีเมืองพิษณุโลก
ซึ่งเจ้าพระยาพิษณุโลก (เรือง) ตั้งตัวเป็นเจ้าแข็งเมืองอยู่
ได้รบกันเป็นสามารถข้าศึกยิงปืนมากกระสุนปืนเฉียดขา เจ้าหมื่นไวยรนารถ
ซึ่งนั่งหน้าเรือพระที่นั่งผ้านุ่งขาด กระสุนเลยไปต้องพระองค์เบื้องซ้ายจึงได้ล่าทัพกลับพระนครครั้นประชวรหายแล้ว ยกกองทัพขึ้นไปตีเมืองพิมาย
ซึ่งกรมหมื่นเทพพิพิธตั้งตัวเป็นกษัตริย์ครอบครองอยู่ เจ้าหมื่นไวยวรนารถ
โดยเสด็จในกองทัพหลวงด้วย ฝ่ายกรมหมื่นเทพพิพิธให้นายทัพมาตั้งรับอยู่ ณ ด่านขุนทดทางหนึ่งด่านจอหอทางหนึ่ง
สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวดำรัสให้พระมหามนตรีกับพระราชวรินทร์สองพี่น้องยกไปตีทางด่านขุนทด
พระองค์เสด็จขึ้นทางด่านจอหอ
โปรดให้เจ้าหมื่นไวยวรนารถเป็นแม่ทัพหน้า
เข้าโจมตีค่ายข้าศึกแตกพ่ายในเวลาเดียวกัน จับได้ตัวพระยาศรีสุริวงศ์
พระยามนตรีกับม่วงญาพม่าซึ่งแตกหนีจากค่ายโพธิ์สามต้นเข้าไปด้วยกรมหมื่นเทพพิพิธ ดำรัสให้ประหารชีวิตเสียทั้ง 3 คน
ฝ่ายพระมหามนตรีกับพระราชวรินทร์ก็ตีได้ด่านขุนทด
พระยาวงศาธิราชนายทัพหนีไปเมืองเสียมราฐแดนกรุงกัมพูชาประเทศ
พระมหามนตรีพระราชวรินทร์ตามไปตีเอาเมืองเสียมราฐได้
แต่พระยาวงศาธิราชหนีสูญไปไม่ได้ตัว
ฝ่ายกรมหมื่นเทพพิพิธทราบว่าเสียค่ายทั้ง
2 และเสียพระยาทั้ง 3 แล้ว ก็ตกพระทัยมิได้ตั้งอยู่สู้รบ
พาพรรคพวกหนีไปจากเมืองพิมาย จะขึ้นไปแถบกรุงศรีสัตนาคนหุต
จึงขุนชะนะชาวเมืองนครราชสีมาไปติดตามกรมหมื่นเทพพิพิธได้พร้อมด้วยหม่อมห้ามและบุตรคุมตัวนำมาถวาย
จึงโปรดฯ
ตั้งให้ขุนชะนะเป็นพระยากำแหงสงครามครองเมืองราชสีมาสืบไป แล้วเสด็จกลับกรุงธนบุรี และโปรดฯ ตั้งให้เจ้าหมื่นไวยวรนารถเป็น
พระยาสีหราชเดโช มีตำแหน่งเป็น นายทหารเอกราชองรักษ์ตามเดิม
ลุศักราช 1131
ปีฉลูศก เสด็จยกกองทัพเรือไปตีเมืองนครศรีธรรมราช ซึ่งแข็งเมืองไม่ยอมอ่อนน้อม
พอกองทัพเรือไปตีเมืองนครศรีธรรมราชก็เสด็จยาตราทัพขึ้นบก โดยพระยาสีหราชเดโช
เป็นทัพหน้ายกเข้าตีนครศรีธรรมราช
กองทัพเมืองนครศรีธรรมราชยกกองมาตั้งรับที่ท่าโพธิ์ ก็พ่ายแพ้แก่กองทัพหลวง
หนีกลับเข้าเมือง เจ้านครตกใจกลัวพระเดชานุภาพเป็นกำลัง มิได้ตั้งอยู่สู้รบ
พาพรรคพวกหนีออกจากเมืองไปในเพลานั้น พระเจ้าอยู่หัวเสด็จเข้าเมืองได้โดยง่าย
เสด็จไปประทัพอยู่ที่นครศรีธรรมราชจัดราชการจนสงบเรียบร้อยแล้ว จึงโปรดตั้งพระเจ้าหลานเธอเจ้านราสุริยวงศ์ ครองเมืองนครศรีธรรมราช
แล้วเสด็จกลับกรุงธนบุรี
ลุศักราช 1132
ปีขาลโทศก ทราบว่าพระเจ้าฝางยกองทัพลงมาตีเอาเมืองพิษณุโลกได้แผ่อำนาจมาจนถึงเมืองชัยนาท
จึงดำรัสให้เกณฑ์กองทัพจะยกขึ้นไปปราบพวกเหล่าร้ายฝ่ายเหนือ
จึงโปรดให้พระยาพิชัยราชา เป็นแม่ทัพถือพล 5 พันยกไปฝากตะวันตกทัพหนึ่ง โปรดให้พระยายมราชเป็นแม่ทัพถือพล
5 พันยกไปฝากตะวันออกทัพหนึ่ง
ให้ยกล่วงหน้าไปก่อนแล้วพระองค์ทรงเรือพระที่นั่งยาตราพรั่งพร้อมไปด้วยท้าวพระยาเข้าทูลลอองธุลีพระบาทฝ่ายทหารพลเรือนรวมโวธาหาร
12000 พระยาสีหราชเดโชตามเสด็จในเรือพระที่นั่งด้วย
ฝ่ายพระเจ้าฝางทราบข่าวศึกจึงให้หลวงโกษา
(ยัง) ยกกองทัพลงมาตั้งรับอยู่ ณ เมืองพิษณุโลก จึงตรัสให้พระยาสีหราชเดโชเป็นทัพหน้ายกเข้าตีเมืองพิษณุโลกก็เข้าเมืองได้
ในเพลาคืนวันนั้นหลวงโกษา (ยัง)
หนีขึ้นไปตั้งค่ายรับอยู่ที่ปากยังไม่ทันได้รบกันก็เลิกหนีไป
ครั้นรุ่งเช้าก็เสด็จเข้าเมืองพิษณุโลก พอกองทัพเจ้าพระยายมราชซึ่งมาทางฟากตะวันออกนั้นขึ้นมาถึง
พระราชทานข้าวปลาอาหารทั่วกันแล้ว ให้รีบยกขึ้นไปตีเมืองสว่างบุรี รุ่งขึ้นอีก 2 วัน
ทัพพระยาพิชัยราชาซึ่งยกฟากตะวันตกก็ขึ้นมาถึงจ่ายเสบียงอาหารให้แล้ว
ให้ยกรีบขึ้นไปให้ทันกองทัพพระยายมราช พระองค์จะเสด็จตามไปทีหลัง
ฝ่ายกองทัพพระยายมราช
พระยาพิชัยรายา ยกไปถึงเมืองสว่างบุรีพร้อมกันแล้ว ก็ตั้งค่ายล้อมเมืองไว้สู้รบกันอยู่
3 วัน พระเจ้าผ่างกับพวกก็แตกหนีไปข้างเหนือในเพลากลางคืนกองทัพทั้ง
2 ก็เข้าเมืองได้ แล้วแต่งคนถือหนังสือบอกลงมายังทัพหลวง ณ เมืองพิษณุโลก
จึงเสด็จขึ้นไปถึงเมืองสว่างคบุรี ทรงจัดราชการบ้านเมืองให้ราบคาบ
แล้วเสด็จลงมาประทับ ณ เมืองพิษณุโลก จึงทรงพระกรุณาโปรดตั้งข้าหลวงเดิม
ซึ่งมีความชอบในการสงครามให้ครองหัวเมืองฝ่ายเหนือทั้งปวงที่เป็นเมืองใหญ่
คือ โปรดให้เจ้าพระยายมราช เป็นเจ้าพระยาสุรสีห์อยู่ครองเมืองพิษณุโลก
ประมวลไพร่พลฉกรรจ์มีอยู่ 15000 คน โปรดให้พระยาพิชัยราชาเป็นเจ้าพระยาสวรรคโลกมีไพร่พลอยู่
7 พัน ให้พระยาสีหราชเดโชเป็นพระยาพิชัย มีไพร่อยู่ 9 พัน
โปรดให้ทั้ง 3
เมืองนี้มีอำนาจประหารชีวิตผู้กระทำความผิดโทษถึงตายได้ด้วย
ทรงเห็นยังอยู่ในข่ายปราบเสี้ยนหนามแผ่นดิน และเป็นเมืองหน้าด่านสำคัญ
หาไม่การบังคับบัญชาระวังกีดขวางข้าศึกจะมาย่ำยีจะไม่เฉียบขาดได้เมื่อพระองค์จะเสด็จกลับกรุงธนบุรี
ทรงเรียกพระยาพิชัยให้เข้าไปเฝ้าโดยเฉพาะ
ทรงรับสั่งอาลัยในพระยาพิชัยซึ่งเป็นคู่ร่วมทุกข์สุขอาบเหงื่อต่างน้ำมาด้วยพระองค์
ยังไม่เคยห่างไกลพระองค์เลยแม้แต่ครั้งเดียว
ที่ต้องห่างไกลกันครั้งนี้ก็ด้วยความจำเป็น หาผู้ไว้วางพระทัยเช่น พระยาพิชัย
ไม่ได้
พระยาพิชัยถวายบังคมแล้วกราบทูลว่า
“ข้าพระพุทธเจ้าก็เหลือที่จะอาลัยในใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาทซึ่งได้ทรงพระมหากรุณาชุบเกล้าฯมาไม่อยากจะห่างไกลใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท
แต่หากเมืองพิชัยเป็นเมืองสำคัญยิ่งดังทรงรับสั่ง
ข้าพระพุทธเจ้าผู้เป็นข้าจงรักภักดีในใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาทจำต้องอยู่พิทักษ์รักษาให้ข้าศึกมาย่ำยี่ได้
ให้สมกับใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาทไว้วางพระทัย” จึงพระราชทานเครื่องยศแก่พระยาพิชัยเสมอด้วยเจ้าพระยาสุรสีห์ อนึ่ง นายบุญเกิดคนใช้ของพระยาพิชัย
ที่เสือกัดนั้นได้ออกรบข้าศึกด้วยพระยาพิชัยเสมอ
ทรงรู้จักแลชมความองอาจกล้าหาญมาเนืองๆ จึงโปรดตั้งให้เป็น
หมื่นหาญณรงค์นายทหารคนสนิทของพระยาพิชัย แล้วเสด็จกลับกรุงธนบุรี
เมื่อพระยาพิขัยขึ้นไปครองเมืองพิชัยตามคำสั่ง
ได้ทราบว่าบิดาถึงแก่กรรมเสียแล้ว ยังอยู่แต่มารดาจึงใช้ให้ทหารไปตามตัวมาหา
พอมารดามาถึง ก็หมอบกราบไม่เงยหน้าดูเพราะความกลัวด้วยยังไม่ทราบว่าเป็นบุตรของตัว
พระยาพิชัยรีบลุกไปจับมือมารดาไว้ห้ามกราบไหว้
พลางกราบลงกับเท้ามารดา แล้วเล่าเหตุการณ์ที่ได้เที่ยวซัดเซพเนจรไปให้มารดาฟังตั้งแต่ตนจนได้มาครองเมืองพิชัย
เมื่อมารดาทราบว่าท่านเป็นบุตรก็ร้องไห้ด้วยความดีใจอย่างสุดปลื้ม
แต่ก่อนชาวบ้านเรียกมารดาว่านางนั้นยายนี่ ต้องกลับเรียกว่า
แม่คุณใหญ่นายจวนไปตามกัน อนึ่ง พระยาพิชัยได้ทราบว่า นายเที่ยงบ้านแก่ง นายเมฆบ้านท่าเสา
ซึ่งเป็นครูฝึกหัดมวยให้ท่านยังมีชีวิตอยู่ จึงเรียกตัวมาหากระทำความเคารพทั้ง 2
เหมือนดังเป็นศิษย์อยู่ กระทำให้คนทั้ง 2
รู้สึกปราบปลื้มภูมิใจหาสิ่งใดเปรียบมิได้ พระยาพิชัยจึงตั้งให้คนทั้ง 2
เป็นกำนันปกครองราษฏรในตำบลที่ตนอยู่ต่อไป เพื่อสนองคุณคนทั้ง 2
ซึ่งได้อุปการะท่านมาดังกล่าว
ในปีขาลนั้น
โปมยุง่วน พม่าผู้รักษาเมืองเชียงใหม่ยกกองทัพพม่าทัพลาวลงมาตีเมืองสวรรคโลก
เข้าตั้งค่ายล้อมเมืองไว้
เจ้าพระยาสวรรคโลกก็เกณฑ์ไพร่พลขึ้นรักษาหน้าที่เชิงเทินกำแพงเมืองต่อรบ
ป้องกันเมือง เป็นสามารถพระยาพิชัย ยกกองทัพไปช่วย พร้อมด้วยกองทัพเมืองพิษณุโลก
เมืองสุโขทัยตีทัพพม่าแตกพ่ายหนีกลับเมืองเชียงใหม่ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจึงพระราชดำรัสให้เกณฑ์กองทัพจะเสด็จออกไปตีเมืองเชียงใหม่
เสด็จไปตั้งชุมนุมทัพอยู่ ณ เมืองพิชัย รวมพลได้ 15000 คน จึงเสด็จยกพยุหโยธาไปเมืองเชียงใหม่
ฝ่ายโปมยุง่วน
พม่าผู้รักษาเมืองเชียงใหม่ ก็แต่งทัพพม่าทัพลาว ยกออกมาตั้งค่ายรับนอกเมือง
ทัพหัวเมืองมีเมืองพิชัย เมืองพิษณุโลก เมืองสวรรคโลค ซึ่งเป็นกองทัพหน้าก็พร้อมกันยกเข้าตีค่ายพม่าแตกเลิกถอยเข้าเมืองกองหน้าก็ยกติดตามล่วงเข้าไปในกำแพงดินชั้นนอกแล้วตั้งค่ายรายล้อมกำแพงชั้นในไว้ทัพหลวงก็ยกเข้าไปตั้งค่ายใหญ่ในกำแพงเมืองดินแล้วดำรัสให้ทัพหัวเมืองกองหน้า
ยกพลปล้นเอาบันไดพาดปีนกำแพงเมืองในเพลากลางคืน 3 ยามเศษ พลทหารพม่า
และลาวชาวเมืองต่อรบต้านทานอย่างทรหดจนเพลารุ่ง พลทหารไทยเข้าหักเอาเมืองมิได้ก็ล่าถอยออกมา
พระเจ้าอยู่หัวทรงเห็นจะเอาชนะไม่ได้ในครั้งนี้
จึงให้เลิกทัพหลวงล่วงมา 1 วัน
จึงให้กองทัพหัวเมืองเลิกถอยตามหลังมาพม่าก็ยกเลาะลัดป่าก้าวสกัดติดตามยิงปืนขนาบหน้าหลัง
กองทัพหัวเมืองก็ถอยหนีย่นลงมาจนกระทั่งถึงทัพหลวง อันตั้งหยุดประทับรับอยู่ ณ เขาช่องแคบ
สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวถอดพระแสงดาบไล่ต้อนไพร่พลในกองทัพหลวงออกช่วยพลหัวเมืองรบกับพม่า
ไล่ตลุมบอนฟันแทงถึงอาวุธสั้น
สู้รบกันเป็นสามารถพลพม่าล้มตายมากกว่าก็แตกกระจัดกระจายพ่ายหนีไป
ก็เสด็จดำเนินสวัสดิภาพจนถึงท่าเมืองพิชัย เสด็จลงเรือพระที่นั่งโดยกลับคืนยังกรุงธนบุรี

ลุศักราช 1134
ปีมะโรงจัตวาศก โปสุพลาพม่า ซึ่งมาอยู่ช่วยรักษาเมืองเชียงใหม่
ยกกองทัพลงมาตีเมืองลับแลแตก แล้วยกมาตีเมืองพิชัย ตั้งค่าย ณ วัดเอกาในคลองคอรุม
พระยาพิชัย
จัดการป้องกันเมืองเป็นสามารถ เจ้าพระยาสุรสีห์ผู้ครองเมืองพิษณุโลกก็ยกกองทัพขึ้นมาช่วย
ยกเข้าตีค่ายพม่าพร้อมกับทัพพระยาพิชัยต่อรบกันถึงอาวุธสั้น พระยาพิชัยถือดาบ 2
มือ คาดด้ายแน่น นำหน้าทหารเข้าตลุมบอนฟันแทงพม่าล้มตายเป็นอันมาก
พม่าต้านทานไม่ได้ก็แตกพ่ายหนีกลับไปเมืองเชียงใหม่
ในปีมะโรงนั้น โปสุพลา
ยกกองทัพมาตีเมืองพิชัยอีก พระยาพิชัยยกกำลังออกต่อรบกลางทางใกล้วัดเอกา
เจ้าพระยาสุรสีห์ ผู้ครองเมืองพิษณุโลก ก็ยกทัพขึ้นมาช่วยอีก
พระยาพิชัยถือดาบ
2 มือ คาดด้ายแน่นตามเคยคุมพลทหารออกไล่แทงพม่าจนดาบหักคามือเล่มหนึ่ง
หมื่นหาญณรงค์
นายทหารคู่ชีพของพระยาพิชัยนั้น กระสุนปืนพม่ายิงมาถูกหมื่นหาญณรงค์ตรงอกทะลุหลังล้มฟุบลงขาดใจตาย ในขณะนั้นพระยาพิชัยเห็นหมื่นหาญณรงค์ถูกกระสุนปืนข้าศึกตายดังนั้นก็ตกใจอาลัยหมื่นหาญณรงค์ผู้เพื่อนยากยิ่งนัก
เลยดาลโทสะเข้าไล่ตะลุมบอนฟันแทงพม่ามิได้คิดแก่ชีวิต
พม่าต้านทานไม่ไหวก็แตกพ่ายไป พระยาพิชัยกลับมากอดศพหมื่นหาญณรงค์ร้องไห้รำพันถึงความทุกข์ยาก
เป็นคู่ร่วมชีวิตจิตใจมาด้วยกันพลอยให้ไพร่พลในกองของพระยาพิชัยร้องไห้เศร้าสลดใจด้วยความสงสารนายของตัวไปตามกัน
เมื่อค่อยสงบความโศกลงแล้ว
จึงให้ไพร่พลหามศพหมื่นหาญณรงค์กลับเข้าเมืองกระทำณาปนกิจให้สมเกียรติยศ
ตั้งแต่นั้น พระยาพิชัยจึงได้ชื่อว่า
พระยาพิชัยดาบหัก ปรากฏอยู่ในพระราชพงศาวดารเล่ม 2 นั้นแล้ว
ลุศักราช 1136
ปีมะเมียฉอศก สมเด็กพระเจ้าอยู่หัวโปรดให้เกณฑ์กองทัพในกรุงและหัวเมืองฝ่ายเหนือ
เสด็จไปชุมนุมพลอยู่ที่เมืองตากพร้อมสรรแล้ว โปรดให้พระยาจักกรีเจ้าพระยาสุรสีห์เป็นแม่ทัพหน้า
พระยาพิชัยดาบหักเป็นทัพหน้าของทัพหลวง ยกขึ้นไปตีเมืองเชียงใหม่ตีได้เมืองลำปาง
เมืองลำพูน เมืองเชียงใหม่ ด้วยกำลังของกองทัพหน้าทั้งสิ้น
กองทัพหลวงและกองทัพหน้าของกองทัพหลวงมิได้ต่อรบ
โปรดให้เจ้าพระยาจักกรีอยู่ช่วยจัดราชการที่เชียงใหม่ จนกว่าจะสงบราบคาบ
แล้วเสด็จกลับมาในระหว่างทางได้ทราบว่าพม่ายกกองทัพเข้ามาทางด่านเมืองกาญจนบุรี จึงรีบเสด็จยกองทัพออกไปตั้งรับ
พระยาพิชัยดาบหักตามเสด็จในกองทัพหลวงด้วยได้สู้รบกับพม่าช้านาน
กองทัพพระยาจักกรีก็กลับจากเชียงใหม่ก็มีใบบอกลงกราบทูลว่า โปสุพลา โปยุง่วน แม่ทัพพม่า
จะยกกองทัพลงมาตีเชียงใหม่คืน
จึงโปรดให้พระยาจักกรีเป็นแม่ทัพ
เจ้าพระยาสุรสีห์เป็นทัพหน้ายกขึ้นไปช่วยป้องกันเมืองเชียงใหม่
ฝ่ายแม่ทัพพม่าทราบว่าทัพไทยยกขึ้นไปช่วยเมืองเชียงใหม่จึงถอยทัพไปตั้งอยู่เมืองเชียงแสน
เจ้าพระยาจักกรียกไปถึงเมืองเชียงใหม่กำลังตระเตรียมจะยกไปตีพม่า
ซึ่งตั้งอยู่เมืองเชียงแสน
ก็พอดีได้รับหนังสือบอกว่าอะแซหวุ่นกี้แม่ทัพใหญ่พม่ายกองทัพมาทางตะวันตกจะตีเมืองสวรรคโลก
เมืองสุโขทัย เมืองพิษณุโลก เจ้าพระยาทั้ง 2 จึงรีบกลับทัพลงมา
พอพม่าตีเมืองสวรรคโลกเมืองสุโขทัยได้ เจ้าพระยาทั้ง 2 จึงรีบยกไปเมืองพิษณุโลกจัดการป้องเมืองโดยกวดขัน
แม่ทัพพม่าจึงแบ่งไพร่พลไปตีเมืองพิชัยได้แล้วก็ยกมาตั้งค่ายล้อมเมืองพิษณุโลกไว้
สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวยกกองทัพขึ้นมาช่วยเมืองพิษณุโลก
พระยาพิชัยดาบหักยังคงอยู่ในกองทัพหลวงได้สู้รบกับพม่านานแต่ในเมืองพิษณุโลกขาดเสบียงจึงจำเป็นต้องยกออกจากเมืองตีแหกค่ายพม่าหนีไป
พม่าเข้าเมืองพิษณุโลกได้ก็พอดีพระเจ้าอังวะทิวงคตลง เรียกกองทัพกลับไปกรุงอังวะ
จึงโปรดให้พระยาพิชัยดาบหักยกกลับไปบ้านเมือง
พระยาพิชัยดาบหักรวบรวมผู้คน ซึ่งแตกหนีพม่าเที่ยวซุกซ่อนอยู่ตามป่าเขา
ให้กลับมาอยู่ตามภูมิลำเนาเดิมเป็นปกติแล้ว
จึงยกกองทัพไปบรรจบกับกองทัพระยานครสวรรค์ตามตีพม่าไปทางด่านเมืองตาก จับพม่าได้
49 คนส่งลงไปถวาย ณ กรุงธนบุรี
ครั้นสิ้นแผ่นดินพระเจ้าตาก พระบาทสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1
พระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก เสด็จขึ้นเถลิงถวัลยราชสมบัติ ณ กรุงเทพมหานคร โปรดเกล้าฯ
ให้เสนาบดีเรียกตัวพระยาพิชัยดาบหักลงไปถามว่า จะยอมอยู่ทำราชการต่อไปหรือไม่
ถ้ายอมอยู่จะเลี้ยงเพราะหาความผิดมิได้ พระยาพิชัยดาบหักตรองเห็นว่าขืนอยู่ไปคงได้รับภัยไม่วันใดก็วันหนึ่งเพราะตัวท่านเป็นข้าหลวงอันสนิทของ
พระเจ้าตาก ย่อมเป็นที่ระแวงแก่ท่านผู้จะเป็นประมุขแผ่นดินต่อไป
ทั้งประกอบด้วยความเศร้าโศกอาลัยในพระเจ้าตากเข้ากลัดกลุ้มในหทัย
สิ้นความอาลัยในชีวิตของตน จึงตอบไม่ยอมอยู่จะขอตายตามเสด็จพระเจ้าตาก ขอฝากแต่บุตรชายให้ได้ทำราชการสนองพระเดชพระคุณสืบสกุลต่อไปในภายหน้าฉะนั้น
จึงโปรดเกล้าฯ ให้ประหารชีวิตเสีย
เมื่อพระยาพิชัยดาบหักสิ้นชีพ
อายุได้ 41 ปี แก่กว่าสมเด็จพระอนุชาธิราชมหาสุรสีห์ 1 ปี จึงโปรดเกล้าฯ
ให้นายเสนาบดีมีท้องตราถึงผู้ครองเมืองพิชัยใหม่ให้รับรับบุตรชายพระยาพิชัยดาบหัก จึงเป็นข้าราชการต่อไปตามควรแก่ความสามารถ
ฉะนี้ บุตรหลานพระยาพิชัยดาบหัก
เป็นข้าราชการลำดับลงมาจนทุกวันนี้ แลในสมัยรัชกาลที่
6 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ผู้สืบตระกูลได้รับพระราชทานนามสกุลว่า “วิชัยขัทคะ”
นามนี้ถ้าแปลอนุโลมตามความเข้าใจก็คือ ดาบวิเศษของพระยาพิชัยดาบหัก นั้นเอง
“..ชาวเมืองอุตรดิตถ์ มีความสำนึกและภูมิใจในวีรกรรมของพระยาพิชัยดาบหัก ทั้งในแง่ของความเก่งกาจ ความกล้าหาญ และความกตัญญูจงรักภักดี พร้อมทั้งยกย่องท่านดุจบิดาเสมอมา..
ขอบคุณ : 1. หนังสือประวัติพระยาพิชัยดาบหัก จังหวัดอุตรดิตถ์ ปี 2524
2. ที่มาของภาพประกอบเรื่อง จากพิพิธภัณฑ์บ้านเกิดพระยาพิชัย และ จาก https://www.google.co.th/search?q=รูปวาดพระยาพิชัยดาบหัก&tbm
3. http://pitloknews.com/main/?p=162395
4. https://pantip.com/topic/37225180/desktop
5. https://www.youtube.com/results?
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น