เครื่องถม” งานประณีตศิลป์ชั้นสูงของคนไทย

 “เครื่องถม” เป็นงานประณีตศิลป์ชั้นสูงอย่างหนึ่งที่คนไทยรู้จักกันมาเป็นเวลานานแล้ว ปรากฏในพงศาวดารว่า เครื่องถมเป็นหนึ่งในเครื่องราชูปโภคของไทยมาตั้งแต่ครั้งสมัยกรุงศรีอยุธยา

งานเครื่องถม จะเป็นศิลปะการประดับตกแต่งเครื่องใช้และภาชนะต่างๆให้มีความสวยงาม ด้วยการทำลวดลายที่ขูดลงบนผิวภาชนะที่เป็นเงินหรือทองให้เด่นชัดขึ้น และถมโลหะสีดำลงไปในร่องที่ขูดหรือสลักเป็นลายนั้นให้เต็ม จึงทำให้เครื่องถมนั้นมีลวดลายแกะสลักเป็นสีเงินหรือสีทอง ตัดกับสีพื้น ซึ่งเป็นสีของน้ำยาสีดำสนิท  อาจจำแนกงานเครื่องถมออกได้ ๓ ประเภท ได้แก่

๑. ถมดำ หรือ ถมเงิน เป็นงานถมที่เก่าแก่ที่สุด มีลักษณะเป็นเนื้อถมที่ถมลงไปอยู่บนพื้นตามร่องลายเป็นสีดำมัน ซึ่งเนื้อถมจะขับลวดลายให้เด่นงดงามอยู่บนพื้นสีเงิน



๒. ถมทอง ถมทอง ก็คือถมดำที่ได้ทำการทาทองหรือเปียกทองทับลงไปบนเส้นเงินหรือลวดลายสีเงิน จึงทำให้เครื่องถมนั้นมีลักษณะเป็นลวดลายสีทองอยู่บนพื้นดำ



๓. ถมตะทอง ถมตะทอง เป็นคำเรียกของช่างถม ที่หมายถึงวิธีการระบายทองหรือแต้มทองเป็นแห่งๆ การแต้มทองหรือระบายทองในที่บางแห่งของถมดำนี้ เป็นการเน้นจุดเด่น หรือต้องการแสดงอวดภาพหรือลายเด่นๆ ดังนั้นถมตะทองจึงเป็นของหายากมากกว่าถมเงินหรือถมทอง



การทำเครื่องถมจะทำได้เฉพาะภาชนะเครื่องใช้ที่เป็นเงินหรือทองเท่านั้น เนื่องจากหากทำด้วยโลหะชนิดอื่นๆเช่น ทองแดง แล้วจะถมไม่ติด

เครื่องถมเป็นสิ่งของและภาชนะเครื่องใช้ที่นิยมกันมากสำหรับคนไทยมาแต่โบราณ มีนับตั้งแต่ กระโถน คนโท กล่องยา แอบหมาก เชี่ยนหมาก ฯลฯ และยังใช้เป็นเครื่องประกอบพระอิสริยยศของเจ้านายและขุนนางไทยในสมัยต่างๆอีกด้วย

เครื่องถมจะมีกำเนิดขึ้นในเมืองไทยในสมัยใดไม่ปรากฏหลักฐานเป็นที่แน่ชัด กล่าวกันว่าเครื่องถมที่มีอายุเก่าแก่ที่สุดเป็นของชาวโรมัน ต่อมาความรู้ในการทำเครื่องถมได้แพร่หลายเข้ามาสู่ประเทศไทย มีผู้ให้ความเห็นว่า น่าจะมาจากชาวโปรตุเกส ซึ่งได้เข้ามาทำการค้าครั้งแรกในราชอาณาจักรไทยตามหัวเมืองใหญ่ ๔ หัวเมือง คือ นครศรีธรรมราช ปัตตานี ปะริด และกรุงศรีอยุธยา ทำให้คนไทยรับเอาศิลปะวิทยาการดังกล่าวไว้


แม้ว่าความรู้ที่เกี่ยวกับการทำเครื่องถมจะเป็นวิทยาการที่คนไทยรับมาจากต่างชาติ แต่เมื่อได้นำมาใช้อยู่ในสังคมไทยแล้ว ช่างไทยได้ใช้ในการทำสิ่งของเครื่องใช้อย่างไทย และทำลวดลายประดับเป็นอย่างไทย จึงทำให้งานเครื่องถมมีพัฒนาการกลายมาเป็นงานช่างศิลป์ไทยไปในที่สุด

การทำเครื่องถมปรากฏอยู่ในสังคมไทยมาเป็นเวลานาน ดังปรากฏหลักฐานกล่าวถึงอยู่ในกฏมนเฑียรบาล ที่ตราขึ้นในสมัยของสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ กล่าวว่า “ขุนนางศักดินา ๑๐๐๐๐ กินเมือง กินเจียดเงินถมยาดำรองตะลุ่ม”

ซึ่งแสดงให้เห็นว่าคนไทยรู้จักทำเครื่องถมมาแล้วอย่างน้อยก็ตั้งแต่สมัยอยุธยาตอนต้น และในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่กรุงศรีอยุธยามีการติดต่อค้าขายกับต่างประเทศมาก ทรงโปรดให้ใช้เครื่องถมเป็นเครื่องราชบรรณาการถวายแก่พระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๔ แห่งฝรั่งเศส


ต่อมาในสมัยรัตนโกสินทร์งานเครื่องถมคงมีการทำสืบทอดต่อมาจากสมัยกรุงศรีอยุธยา ดังเช่น พระแท่นออกขุนนางถม และพระเสลี่ยงถม ที่ทำถวายพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓ และเจ้าพระยาสุธรรมมนตรี(หนูพร้อม) ก็ได้นำช่างถมเมืองนครศรีธรรมราชมาสร้างพระที่นั่งพุดตานกาญจนสิงหาสน์ ซึ่งเป็นพระที่นั่งถมทองขนาดใหญ่ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว      รัชกาลที่ ๕

นอกจากนี้ในกรุงเทพฯ ยังปรากฏมีหมู่บ้านแห่งหนึ่ง เรียกชื่อว่า “บ้านพานถม” อยู่หลังวัดปรินายก ใกล้สะพานเฉลิมวันชาติ ถนนพระสุเมรุ ชาวบ้านนี้ทำพานถม ขันถม ขายมาแต่โบราณ เล่ากันว่าชาวบ้านเหล่านี้อพยพมาจากเมืองนครศรีธรรมราชในสมัยรัชกาลที่ ๑ ทุกวันนี้หมู่บ้านแห่งนี้ไม่ได้ทำเครื่องถมอีกแล้ว

ปัจจุบันศิลปะการทำเครื่องถมมีเหลือน้อยมาก ทั้งนี้คงเป็นเพราะเครื่องถมเป็นของที่มีค่าและมีราคาสูง จึงใช้กันอยู่แต่ในราชสำนัก และในแวดวงผู้มีฐานะดีเท่านั้น ขณะเดียวกันการทำเครื่องถมต้องเป็นงานที่ใช้ฝีมือและความละเอียดประณีตสูงซึ่งต้องทำด้วยมือล้วนๆ อีกทั้งต้นทุนการผลิตก็สูงขึ้น และช่างฝีมือดีๆ ก็นับวันจะลดลง



ขอบคุณ  FB สุรพล ดำริห์กุล

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

หลวงพ่อฮวบ วัดสามัคยาราม ต.บ้านด่าน อ.เมือง จ.อุตรดิตถ์

หลวงพ่อกล่อม พรมสโร วัดป่ากะพี้ อ.พิชัย จ.อุตรดิตถ์

พระครูธรรมฐิติวงศ์คีรีเขตร (บุญใหญ่ อินทปญโญ) วัดเจดีย์คีรีวิหาร อ.ลับแล จ.อุตรดิตถ์