ทัวร์เรือนไทยโบราณ..ไปครับไปทัวร์กัน

จากกระแสความรักชื่นชอบและความนิยมในสถาปัตยกรรมยุค “สยามใหม่” (หรือที่หลายคนเรียกกันติดปากว่า “โคโลเนี่ยล”) เป็นประวัติศาสตร์ย่อยในยุครัตนโกสินทร์ นับโดยประมาณตั้งแต่การทำสนธิสัญญาเบาริ่งเป็นต้นมา มีองค์ประกอบด้านความงามจากหลายสกุลช่างฝรั่ง มาผสมผสานกับงานไทย จีน ที่มีอยู่ก่อนนั้น เกิดเป็นพิมพ์นิยมหลายชุดที่แตกต่างกันไปในแต่ละรัชกาล ..


ภาพจากหนังสือ “ลายไม้ฉลุแบบขนมปังขิง สุนทรียภาพแห่งกรุงรัตนโกสินทร์” กรมศิลปากร

หนึ่งในพิมพ์นิยมยุคสยามใหม่ที่ “เตะตา” มากที่สุด คือ เรือนทางซ้ายของหมู่เรือนฝ่ายในวังสวนดุสิต (ที่รื้อไปหมดแล้ว)องค์ประกอบด้านความงามของเรือนหลังนี้ น่าจะเป็นต้นแบบให้กับเรือนรูปแบบนี้ทุกหลังในประเทศ ไม่ว่าจะเป็นบ้านท่านพระยาหลังต่างๆ ในเขตพระนคร กรุงเทพฯ โรงเรียนปริยัติธรรมในวัดกลุ่มจังหวัดภาคกลาง และอาจรวมถึงคุ้มเจ้านาย หน่วยงาน บริษัทค้าไม้ และอื่นๆ ในภาคเหนือ และภาคอื่นๆ  และจากภาพและข้อมูล FB ของคุณ รัตนโกสิเนหา Rattanakosineha  ทำให้เกิดไอเดียต่อการพาทุกท่านไปทัวร์เรือนไทยโบราณกันในครั้งนี้ครับ...ไปครับไปทัวร์กันเลย


วัดหงอนไก่ สมุทรสาคร   ภาพจากคุณ KS Black


บ้านสวยริมแม่น้ำเจ้าพระยา จังหวัดนนทบุรีหลังนี้ ไม่ทราบข้อมูล และหากดูโดยละเอียด โดยลวดลาย รูปทรง วัสดุ แอดคาดว่าเป็นบ้านสร้างใหม่ หรือหากเป็นบ้านเก่า ตอนบูรณะ คงมีการเติม และดัดแปลงไปไม่น้อย แต่จะสร้างใหม่สร้างเก่าก็สวยอยู่ดี สีเขียวโศกโบราณแบบนี้ "มันมีคลาสสส" ภาพจากคุณปลา Nattakan Thaijirachote


เฮือนโบราณ ๑๐๐ ปีในหมู่บ้านแสนคันธา  หมู่บ้านแสนคันธา ตั้งอยู่อำเภอแม่วาง ห่างตัวเมืองเชียงใหม่ออกไป 60 กิโลเมตร ชาวบ้านแสนคันธามีเชื้อสายไทยเขิน อพยพมาจากเขตสิบสองปันนา


บ้านหลังนี้ตั้งอยู่บริเวณร้านอาหารครัวสมเด็จ ข้างวัดอนงคาราม ถนนสมเด็จเจ้าพระยา คลองสาน ทราบข้อมูลคร่าวๆ ว่าเป็นบ้านของทายาทท่านเจ้าพระยาสุรวงศ์ไวยวัฒน์ (วร บุนนาค) บ้านท่านเจ้าพระยาฯ เองก็ตั้งอยู่ถัดไปไม่ไกล  ภาพโดยคุณ Sattakhun Vileypana


ตรอกสาเก  ย่านวังพระราชโอรสในรัชกาลที่ 4 มีวังตรอกสาเกของกรมหลวงประจักษ์ศิลปาคม เจ้าเมืองอุดร และบ้านเหล่าข้าราชบริพาร เช่น บ้านพระยาพิทักษ์เทพมณเฑียร (กระจ่าง หงสกุล) และบ้านขุนวิสุทธิสมบัติ และยังเป็นถิ่นเดิมของสมเด็จย่า สมัยพักอยู่กับป้าหวน หงสกุล .. ภาพโดยคุณ Yui Pattaya


บ้านสไตล์รัชกาลที่ 7 สร้าง พ.ศ.​ 2490 สีเขียวโศกหวานนวลตาหลังนี้ ตั้งอยู่หน้าร้านอาหารไทย “นั่งจ้อ” ริมแม่น้ำบางประกง จังหวัดฉะเชิงเทรา ทราบเพียงว่าบรรยากาศดี ..ภาพโดยคุณ Anan Youto


โรงเรียนธรรมวิทยากร วัดขวาง บางปลาม้า จังหวัดสุพรรณบุรี .. ลายฉลุระยิบระยับ กึ่งพฤกษากึ่งเรขาคณิตแบบนี้ เห็นแล้วนึกถึงเรือนพระนเรศวร พระราชวังสนามจันทร์เลยขอรับ..ภาพโดยพี่อั๋น ปที ปทวี


บ้านสยามใหม่ขนมขิงในท่ามกลางหมู่บ้านจัดสรร  นี่คือวิวระเบียงขนาดกระทัดรัดของบ้านพระยาศุภกรณ์บรรณสาร หลังเล็ก จากซอยหลานหลวง 5 บูรณะใหม่มาอยู่ที่คลองสามวา สังเกตดีๆ จะเห็นว่าเขาใส่ฉลุหยาดน้ำฝนไว้ 2 ชั้นเลย..


บ้านของคุณหลวงท่านหนึ่ง  บริเวณแยกสุโขทัย (ถนนสุโขทัยตัดถนนพระราม 5)  ภาพโดยพี่กุ๊ก กมลวรรณ กุหลาบวงษ์


บ้านจินตกานนท์ หลังในสุด  แม้จะไม่ทราบว่าผู้ที่อยู่บ้านหลังนี้ในปัจจุบันเป็นทายาทของพระยาอรรถวิรัชวาทเศรณี (ปลั่ง จินตกานนท์) หรือไม่ แต่ตัวบ้านที่ตั้งอยู่ใกล้กันมาก จึงเชื่อว่าบ้านที่เพิ่งค้นพบหลังนี้ เป็นส่วนใดส่วนหนึ่งของลูกหลานท่านพระยาฯ ค่อนข้างแน่นอน


บ้านคหบดีมุสลิม ชุมชนบ้านครัว ถนนพระราม ๑ .. บ้านหลังนี้มีทั้งจั่วสรไน จั่วตัด มุขหกเหลี่ยม หน้าต่างบานเกล็ดกระทุ้ง ลายฉลุ กระจกสี ครบเครื่องเรื่องแฟชั่นการสร้างบ้านในยุคสมัยนั้น .. กรุงเทพฯ ยังมีบ้านโบราณตกสำรวจไปอีกหรือนี่ เหลือเชื่อ!  ภาพโดยคุณ Chantarakul Kritsakorn


บ้านพระยามไหสวรรย์ (กอ สมบัติศิริ)  พระยามไหสวรรย์ (พ.ศ. 2430-2518) รับราชการตั้งแต่แผ่นดินรัชกาลที่ 5 จนได้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ในรัชกาลที่ 9


ภาพก่อนบูรณะ บ้านขุนอินทร์ ถนนมนตรี 2 อำเภอตะกั่วป่า จังหวัดพังงา สร้างราว พ.ศ. 2460 เป็นบ้านของ ร.อ.ท. ขุนอินทรคีรี (ช้อย ณ นคร) หลานพระยาเสนานุชิต (นุช ณ นคร) ผู้สำเร็จราชการเมืองตะกั่วป่า และนายอำเภอตะกั่วป่า .. ปัจจุบันบ้านได้รับการบูรณะแล้วโดยลูกๆ หลานๆ ในครอบครัว ณ นคร  ภาพโดยชิด ชยากร


บ้านเก่าเรือนเดิมของเจ้าจอมยี่สุ่น แม่นมของล้นเกล้ารัชกาลที่ ๕ พระองค์เสด็จประพาสพังงาสองครั้ง และทรงเสด็จมาเยี่ยมเจ้าจอมฯ ถึงเรือนหลังนี้ .. เรือนหลังนี้ตั้งอยู่ในวัดประชุมโยธี อำเภอเมือง จังหวัดพังงา ที่ดินสร้างวัดคือที่ดินที่เจ้าจอมฯ อุทิศให้ ปัจจุบันบ้านหลังนี้อยู่ในความดูแลของ อ.นพพร ณ ถลาง... ภาพ Ampon Phasuk


บ้านหลังนี้ตั้งอยู่ตัวเมืองพังงา ไม่มีข้อมูลอื่นใดอีก ....ภาพจากคุณธนกิจ แซ่ลิ้ม ทนายความ


สยามใหม่ในภาคอีสาน...อาคารฝรั่งโบราณ มุขแฝด บัวปูนซุ้มประตูและหน้าต่างเป็น French Indochina หน้าตาเดียวกันทั้งแถบภาคอีสาน(และในประเทศเพื่อนบ้าน) อาคารหลังนี้ตั้งอยู่ถนนอุบลกิจ เมืองอุบลราชธานี เคยใช้เป็นทั้งภัตตาคารและธนาคารมาก่อน แต่เริ่มแรกจริงๆ คือบ้านของใคร ประวัติยังคงลางเลือน ..ภาพโดยคุณ Tanate Ngamsangsirisub
 

บ้านหลุยส์ ที เลียวโนเวนส์ ท่ามะโอ จังหวัดลำปาง ก็ได้รับการซ่อมแซมและปรับปรุงด้วยวงเงินสองล้านเก้า


โรงเรียนวัดโพธิ์ลังกา จังหวัดสิงห์บุรี...ตัวเรือนน่าจะได้รับการบูรณะเมื่อไม่นานมานี้ อาจจะมีการเปลี่ยนวัสดุหลังคา วัสดุเสาเรือนและเปลี่ยนบันได ฉลุที่ระเบียงหน้าไม่แน่ใจว่าของเก่าหรือใหม่ แต่เครื่องหน้าจั่ว (เสาสรไน และฉลุหน้าบันแบบนี้) ซึ่งน่าจะมีแม่แบบมาจากตำหนักเก่าในพระราชวังดุสิต จึงเชื่อว่าเป็นของเดิมขอรับ .. ภาพจากคุณ Jokey Joke


จั่วด้านข้างของบ้านโรงพยาบาลกลาง...จั่วตัด ล้อมกรอบช่องลมด้วยอุบะ (มาลัยปูนปั้น) .. สมัยก่อน ข้างบ้านฝั่งนี้มีตึกสูงตั้งประชิด เราจึงไม่เคยเห็นภาพจากมุมนี้ จนไม่กี่วันที่ผ่านมา ตึกถูกทุบลง เราจึงได้ยลมุม Unseen มุมนี้ ..ภาพโดยคุณ Chantarakul Kritsakorn


เรือนบริวารในพระราชวังสนามจันทร์ จังหวัดนครปฐม ถือเป็นกรณีศึกษาชื่นชมได้ไม่รู้เบื่อ แต่วันนั้นระหว่างทาง บนถนนเส้นเดียวกับร้านกาแฟคำนำ(เดิม) ได้พบ “บ้านจันทร์จารุวัฒน์” หลังนี้ โดยทรงและสัดส่วน  คาดว่าเป็นบ้านโบราณยุคสยามใหม่โดยแท้ และพึ่งจะได้รับการบูรณะเสียใหม่เอี่ยมอ่อง


บ้านอายุ 130 ปีหลังนี้ บ้านครูไมตรี หมั่นมาก ครูโรงเรียนสารสิทธิ์ พิทยาลัย บ้านตั้งอยู่ถนนเลียบสถานีรถไฟบ้านโป่ง


บ้านพายัพ เป็นชื่อเรียกโดยหน่วยงานราชการ เนื่องจากบ้านหลังนี้ตั้งอยู่ท่าพายัพ ศรีย่าน แต่เดิมคือ บ้านพระยาดำรงแพทยคุณ ฮวด วีระไวทยะ นายแพทย์ใหญ่ทหารบก และแพทย์หลวงประจำพระองค์สมเด็จศรีพัชรินทร์บรมราชินีนาถ พระราชชนนีพันปีหลวง  ปัจจุบันบ้านหลังนี้ใช้เป็นที่ตั้งของสำนักงานศูนย์ดำเนินการเกี่ยวกับผู้อพยพ กระทรวงมหาดไทย ปลายปีที่ผ่านมากระทรวงมหาดไทยได้อนุมัติงบประมาณมาบูรณะสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์แห่งนี้


บ้านคหบดีค้าข้าว นายครอง วาดเวียงไชย สร้างด้วยฝีมือช่างชาวจีนและไทย ด้วยงบสามหมื่นบาทเมื่อร้อยปีที่แล้ว ปัจจุบันบ้านหลังนี้ตกทอดมาสู่ ศฤงคาร วาดเวียงไชย นักเขียนเจ้าของนามปากกา “ธัญญา ธัญญามาศ” ผู้เป็นทายาท  บ้านหลังนี้ตั้งอยู่ชุมชนวัดเกาะ ถนนพานิชเจริญ ถนนเส้นสั้นๆเลียบแม่น้ำเพชรบุรี


บ้านโรจนศักดิ์ กาดกองต้า ลำปาง...ครั้งหนึ่งเคยเป็นที่ทำการพรรคประชาธิปัตย์สาขาลำปาง มรว.คึกฤทธิ์ ปราโมชและครอบครัวเคยพักที่บ้านหลังนี้ รวมถึงรงค์ วงษ์สวรรค์ นักเขียนศิลปินแห่งชาติก็ด้วย ..


หอพิพิธภัณฑ์ ค่ายจักรพงษ์ จังหวัดปราจีนบุรี สร้าง พ.ศ. 2467   ใครมีโอกาสผ่านไป แวะชมได้ บอกตรงป้อมทางเข้าว่า มาขอชมพิพิธภัณฑ์ .. ภาพโดย Han Ajung


บ้านเลขที่ ๑ บางขุนพรหม  ตั้งอยู่ในซอกตรงข้ามวังบางขุนพรหม ลักษณะเป็นทรงจั่วตัด ลายฉลุส่วนใหญ่ดูวิจิตร บรรจง ยกเว้นบริเวณหยาดน้ำฝน(เชิงชาย) ถ้าเป็นของดั้งเดิมจริง ต้องเป็นงานมือไม่ใช่เครื่องจักร สันนิษฐานว่าเติมเข้าภายหลัง แต่อย่างไร ก็ไม่ได้ลดความงามลงไปแม้แต่น้อย .. ภาพโดย Sasi Sukmongkol


ตำหนักหม่อมเจ้าจงจิตรถนอม ดิศกุล  หลังนี้ เคยตั้งอยู่วังวรดิศ ถนนหลานหลวง กรุงเทพฯ หม่อมเจ้าจงจิตรถนอมเป็นพระธิดาองค์ใหญ่ในกรมพระยาดำรงราชานุภาพ เมื่อหม่อมเจ้าหญิงสิ้นใน พ.ศ. 2521 เรือนหลังนี้ก็ถูกถวายให้วัดชูจิตธรรมาราม อำเภอวังน้อย พระนครศรีอยุธยา ..ปัจจุบันเป็นกุฏิของพระรูปหนึ่ง (เป็นพระเลขาฯ ของท่านเจ้าอาวาส)


บ้านคมสัน...ในช่วงเวลาสยามใหม่ เราเห็นกันมามาก สำหรับเรือนฝรั่งครึ่งไม้ครึ่งปูน (เช่น เรือนข้าราชบริพารในพระราชวังสนามจันทร์) แต่บ้านคมสัน กาดกองต้า จังหวัดลำปางหลังนี้ไม่เหมือนใคร คือ เป็นเรือนฝรั่งใต้ถุนสูงแบบไทย แต่สร้างด้วยปูนทั้งหลัง


บ้านวัฒนพันธุ์ เมืองแปดริ้ว ทราบข้อมูลเพียงเล็กน้อยว่าเป็นญาติกับบ้านย่าแดงที่ตั้งอยู่ข้างๆ กัน ..


บ้านเครือญาติของ ขุนทรงสุภาพ บุณยะรัตเวช เจ้าของยาหอมสุคนธโอสถตราม้าอันโด่งดังในอดีต .. ปัจจุบัน การเปลี่ยนมือครั้งล่าสุด ถูกปรับปรุงใหม่ด้วยสีละมุนตา พร้อมชื่อ Baan Yindee Bed n Bistro  ภาพโดยคุณป้อ Wararat Tumtuti

ยังมีเรือนไทยโบราณอีกจำนวนมากมาย ที่ไม่สามารถพาท่านไปทัวร์ได้  แต่ก็ยังหวังว่าการทัวร์ครั้งนี้คงทำให้หลายท่าน โดยเฉพาะท่านผู้สูงวัย หรือเริ่มเข้าสู่ผู้สูงวัยก็ตาม จะสนุกสนานโดยทั่วกัน..และต้องไม่ลืมที่จะช่วยกันดูแลอาคารบ้านเรือนโบราณให้คงสภาพได้นานมากที่สุด เก็บไว้ให้อนุชนรุ่นต่อไปได้ชื่นชมกันต่อไปครับ



ขอบคุณ  FB รัตนโกสิเนหา Rattanakosineha 

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

หลวงพ่อฮวบ วัดสามัคยาราม ต.บ้านด่าน อ.เมือง จ.อุตรดิตถ์

หลวงพ่อกล่อม พรมสโร วัดป่ากะพี้ อ.พิชัย จ.อุตรดิตถ์

พระครูธรรมฐิติวงศ์คีรีเขตร (บุญใหญ่ อินทปญโญ) วัดเจดีย์คีรีวิหาร อ.ลับแล จ.อุตรดิตถ์