การปลูกข้าวในวงบ่อซีเมนต์ : ทางเลือกที่พอเพียงในปัจจุบัน

 


ในสถานการณ์ของประเทศไทยและโลก ที่ต้องต่อสู้เอาชนะโรคระบาดที่ร้ายแรง "โควิด-19" ที่มีส่วนสำคัญที่ทำให้สภาพเศรษฐกิจทั่วโลกไม่เป็นไปตามธรรมชาติ อีกทั้งยังฉุดรั้งให้สภาพเศรษฐกิจที่ถดถอยอยู่แล้วถดถอยมากยิ่งขึ้น และคงอีกหลายปีทีเดียวที่จะกลับฟื้นตัวได้ดังเดิม จำเป็นที่คนไทยทุกคนต้องมีความรู้เท่าทัน ตื่นตัว ปรับตัว ให้สามารถดำเนินชีวิตอยู่ได้อย่างพอเพียง

การปลูกข้าวในวงบ่อซีเมนต์เป็นอีกแนวความคิดทางเลือกหนึ่ง ที่มีหลายคนได้นำมาปฏิบัติกันในปัจจุบัน ผู้เขียนแม้จะไม่ได้เป็นเกษตรกรโดยตรง แต่ก็มีความสนใจ และสนับสนุนในแนวคิดดังกล่าว และยังเชื่อมันว่าจะเป็นทางเลือกที่ช่วยให้อีกหลายคนดำรงชีวิตอยู่ได้ดีทีเดียว ภาพรวมที่เห็นได้ชัดเจน อาทิ ประหยัดในการใช้พื้นที่ ประหยัดต้นทุนและแรงงาน ประหยัดน้ำ อีกทั้งง่ายต่อการดูแลสะดวกสบาย เรียกได้ว่า แม้จะผลิตได้น้อย/ครั้ง...แต่เป็นผลผลิตที่มีคุณภาพ

ข้อดีของการปลูกข้าวในวงบ่อซีเมนต์

  • ซื้อบ่อซีเมนต์ครั้งเดียวก็เก็บไว้ใช้ได้นานกว่า 10 ปี
  • ถ้าปลูกรวมถึงดูแลอย่างถูกวิธี ได้ผลผลิตที่มีคุณภาพไม่แพ้การปลูกข้าวในนาข้าว
  • เหมาะสมอย่างยิ่งกับการปลูกข้าวอินทรีย์ไว้กินเอง 

การเตรียมบ่อซีเมนต์

ให้ใช้บ่อขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 85 เซนติเมตร สูง 1 เมตร ซึ่งจะกินพื้นที่ประมาณ 1 ตารางเมตรต่อบ่อ โดยมีต้นทุนเพื่อนำไปซื้อบ่อซีเมนต์ประมาณ 3,000 บาทต้น ๆ

การเตรียมเมล็ดข้าว

เมล็ดพันธุ์ข้าวให้ใช้เมล็ดพันธุ์ข้าวเบาหรือพันธุ์ข้าวลูกผสม อายุการเก็บเกี่ยวไม่ขึ้นกับช่วงแสง ซึ่งพันธุ์ที่แนะนำ ปลูกแล้วได้ผลผลิตดี คงทนแข็งแรงต่อโรคและแมลง ได้แก่ ข้าวสุพรรณบุรี 1 ปลูกได้ 4 ครั้งต่อปี ใน 1 บ่อ ให้ผลผลิตข้าวเปลือกประมาณ 50-60 กิโลกรัมต่อปี หรือมีอีกทางเลือกหนึ่งคือ การปลูกข้าวหอม ปทุมธานี 1 ก็จะให้ผลผลิตในระดับดี แต่อาจจะน้อยกว่าพันธุ์สุพรรณบุรี 1 เล็กน้อย


ขั้นตอนการปลูกข้าวในวงบ่อซีเมนต์

  1. สร้างบ่อนาซีเมนต์
    เริ่มจากการปรับพื้นที่ที่จะสร้างบ่อนาซีเมนต์ให้อยู่ในสภาพเรียบร้อย แล้วนำก้อนอิฐบล็อกมาก่อตามความสูงที่ต้องการ เมื่อก่อสร้างแล้วให้เทพื้นบ่อด้วยปูนซีเมนต์หนาประมาณ 2-3 นิ้ว โดยประมาณ และอย่าลืมผสมน้ำยากันซึมแล้วฉาบด้านบนให้เรียบร้อย เพื่อป้องกันการรั่วซึม
  2. เตรียมดิน
    ใส่ดินลงไปในบ่อวงจนสูง 20-30 เซนติเมตร ผสมมูลวัวหรือปุ๋ยอินทรีย์ให้ดินประมาณ 1 กิโลกรัมต่อบ่อ จากนั้นใส่น้ำลงไปให้ท่วมดิน แช่น้ำทิ้งไว้ 2 คืน
  3. ลงมือปลูก
    ก่อนปลูกต้องย่ำดินให้เละ จากนั้นนำต้นกล้าที่เพาะจนมีอายุได้ 20-25 วัน มาปักดำ โดยข้าว 1 กอที่จะปักดำ ควรมีต้นข้าวประมาณ 3-4  ต้น ปักดำโดยห่างจากขอบวงบ่อระหว่างกอข้าวแต่ละกอประมาณ 1 ฝ่ามือ หรือ 3-5 นิ้ว ในบ่อวง 1 บ่อจะปักดำได้ 10 กอ
  4. ให้น้ำ
    เมื่อดำข้าวได้ 2-3 วัน ให้ใส่น้ำในบ่อจนสูง 2 นิ้ว แล้วรักษาระดับน้ำไว้ตลอด หลังจากดำกล้าได้ 50 วัน จะเป็นช่วงที่ข้าวตั้งท้อง ให้งดให้น้ำเป็นเวลา 7 วัน หลังจากนั้นค่อยให้น้ำต่อถึงช่วงก่อนเกี่ยวข้าว 7 วัน จึงงดให้น้ำอีกครั้งหนึ่ง
  5. ใส่ปุ๋ย
    หลังจากปักดำข้าวได้ 7 วัน ค่อยให้ปุ๋ยอินทรีย์ครึ่งกิโลกรัม ต่อ 1 บ่อ และให้ปุ๋ยอินทรีย์อีกครั้งเมื่อข้าวอายุได้ 20 วัน ในปริมาณครึ่งกิโลกรัมต่อบ่อเหมือนเดิม
  6. เก็บเกี่ยวผลผลิต
    ในวงบ่อ 1 บ่อ จะให้ผลผลิตข้าวเปลือกประมาณ 1 กิโลกรัมต่อ 1 รอบการปลูก

นอกจากปลูกแล้ว ยังสามารถใช้วงบ่อซีเมนต์เป็นที่เพาะกล้าเพื่อนำไปปักดำได้ด้วย โดยให้เตรียมเมล็ดข้าวปลูกที่ผ่านการแช่น้ำมาแล้ว 1 คืน และบ่มในกระสอบอีก 1 คืน แล้วหว่านข้าวปลูก 2 กำมือลงไปในบ่อวงซีเมนต์ที่มีดินสูง 20-30 เซนติเมตร ซึ่งได้เปิดน้ำแช่ดินไว้ 2 คืนแล้ว จากนั้นหลังหว่านไป 4 วัน เมล็ดข้าวจะแตกใบดูแลอย่าให้ขาดน้ำ จนกระทั่งต้นกล้าอายุได้ 20-25 วันจึงถอนกล้าไปปักดำได้




นอกเหนือไปจากนี้ ภาคการศึกษาทั้งที่เป็นเด็กนักเรียนตัวเล็กๆ จนถึงนักศึกษาที่เป็นเยาวชน  หากได้นำแนวคิดความรู้ดังกล่าวข้างต้น ไปจัดเป็นสาระการเรียนรู้ และเป็นห้องเรียนที่เหมาะสมตามวัยแล้ว จะเป็นตัวเพิ่มขีดความสามารถของคนไทยในอนาคตอย่างแสนวิเศษ เพื่อหล่อหลอมความรักความศรัทธาในอาชีพการเกษตรแบบพึ่งตนเอง สร้างเกษตรกรที่เก่ง คัดเลือกสายพันุธ์ข้าวที่เหมาะสม มีการวิจัยได้ด้วยตนเอง และผลิตข้าวคุณภาพดีให้เราได้บริโภคกันต่อไป

 

 

ขอบคุณ  :  http://www.princechak.com/rice-detail

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

หลวงพ่อฮวบ วัดสามัคยาราม ต.บ้านด่าน อ.เมือง จ.อุตรดิตถ์

หลวงพ่อกล่อม พรมสโร วัดป่ากะพี้ อ.พิชัย จ.อุตรดิตถ์

พระครูธรรมฐิติวงศ์คีรีเขตร (บุญใหญ่ อินทปญโญ) วัดเจดีย์คีรีวิหาร อ.ลับแล จ.อุตรดิตถ์