แม่ไม้มวยไทย(Mae Mai Muay Thai)

 

สวัสดีครับ พบกันอีกครั้งหนึ่ง ครั้งนี้รู้สึกภาคภูมิใจที่จะนำเสนอเรื่องที่น่าสนใจไม่เฉพาะคนไทยเท่านั้น  คนต่างชาติทั่วโลกเองต่างก็ให้ความสนใจ อยากที่จะได้เรียนรู้และฝึกฝนในเรื่องดังกล่าวเป็นที่สุด เพราะเรื่องที่จะกล่าวถึงต่อไปนี้ คือ “แม่ไม้มวยไทย หรือ มวยไทย”    

ความเป็นมา

มวยไทยเป็นศิลปะประจำชาติ และเป็นเอกลักษณ์ของชาติไทย มวยไทยสมัยก่อนมีการฝึกฝนอยู่ในหมู่ทหารโบราณ เพราะการสู้รบในสมัยนั้นมีแต่ดาบ พลอง ง้าว ดั้ง เขน  ซึ่งเป็นการรบที่ประชิดตัวด้วยอาวุธในมือ คนไทยจึงได้ฝึกหัดการเตะถีบคู่ต่อสู้พร้อมกับการใช้มือ จึงเกิดการฝึกหัดการต่อสู้ เพื่อสู้กับข้าศึกเพื่อป้องกันตัว (Self – defense)  ศิลปะการต่อสู้แบบมวยไทยมีพัฒนาการควบคู่มากับวิถีชีวิตของคนไทย แล้วยังรวมเอาการแสดงศิลปะลีลาของการใช้อวัยวะเป็นอาวุธ ซึ่งมีท่าต่างๆ เรียกว่า แม่ไม้มวยไทย เป็นท่าของการผสมผสานการใช้หมัด เท้า เข่า ศอก เพื่อการรุกหรือรับในการต่อสู้  มวยไทยใช้อวัยวะทุกส่วนของร่างกาย คือ หมัด 2 หมัด เท้า 2 เท้า เข่า 2 เข่า ศอก 2 ศอก และศีรษะ รวมเป็นอาวุธทั้ง 9 จาก 5 อวัยวะ หรือเรียกว่า นวอาวุธ

มวยไทย มีหลักสำคัญ คือการป้องกัน ด้วยการยืน มั่นคง เข้มแข็ง สูงเด่น การตั้งแขป้องกัน (การการ์ดมวย) และการเก็บคาง เปรียบเสมือนป้อมปราการ พร้อมที่จะตั้งรับและโจมตีตอบโต้ด้วยแม่ไม้ ลูกไม้ และการแจกลูกต่างๆ มีการเคลื่อนไหวที่องอาจ มีจังหวะ มีการล่อหลอก และขู่ขวัญประดุจพระยาราชสีห์ และพญาคชสีห์  อาวุธมวยที่ออกไปต้องมีเป้าหมายและจุดประสงค์แน่นอน (แต่มักซ้อนกลลวงไว้)  มีการต่อสู้ระยะไกล(วงนอก) และระยะประชิด(วงใน) และมีทีเด็จในการพิชิตคู่ต่อสู้ นอกจากจะมีการใช้ แม่ไม้และลูกไม้แล้ว ยังมีการใช้ส่วนที่ไม่เป็นอาวุธ เพื่อป้องกัน/สร้างจังหวะในการตอบโต้ เช่น การใช้ฝ่ามือในการบัง ปิด ปัด ดึง ดัน ผลัก โหน ค้ำ ขวาง กด ใช้เท้าในการเต้น กระโดด ใช้หัวไหล่หรือลำตัวในการหลอกล่อ เป็นต้น

แม่ไม้มวยไทย 15 ไม้

1. สลับฟันปลา รับวงนอก  แม่ไม้นี้เป็นไม้หลักหรือไม้ครูเบื้องต้น ใช้รับและหลบหมัดตรงของคู่ต่อสู้ที่ชกนำ โดยหลบออกวงนอก นอกรำแขนของคู่ต่อสู้ ทำให้หมัดเลยหน้าไป

     ฝ่ายรุก  ชกด้วยหมัดซ้ายตรงที่หมายใบหน้าของฝ่ายรับ พร้อมกับก้าวเท้าซ้ายสืบไปข้างหน้า

     ฝ่ายรับ  ก้าวเท้าขวาหลบไปทางกึ่งขวา 1 ก้าว พร้อมทั้งโน้มตัวเอนไปทางขวาประมาณ 60 องศา  น้ำหนักตัวอยู่บนเท้าขวา ขาขวางอเล็กน้อย ศีรษะและตัวหลบออกวงนอกของหมัดฝ่ายรุก ใช้มือขวาจับค่ำมือที่แขท่อนบนของฝ่ายรุก มือซ้ายจับกำหงายที่ข้อมือของฝ่ายรุก (ท่าคล้ายจับหักแขน)


 2. ปักษาแหวกรัง รับวงใน   แม่ไม้นี้เป็นไม้ครูของการเข้าสู่วงในเพื่อใช้ลูกไม้อื่นต่อไป

     ฝ่ายรุก  ชกด้วยหมัดซ้ายตรงที่หน้าฝ่ายรับ พร้อมกับก้าวเท้าซ้ายไปข้างหน้า

     ฝ่ายรับ  รีบก้าวเท้าสืบไปข้างหน้าเฉียงไปทางกึ่งซ้ายเล็กน้อยภายในแขนซ้ายของฝ่ายรุก ตัวเอนประมาณ  60 องศา น้ำหนักตัวอยู่บนเท้าซ้าย พร้อมกับงอแขนทั้งสองขึ้นปะทะแขนท่อนบนและท่อนล่างของฝ่ายรุกไว้โดยเร็ว หมัดของฝ่ายรับทั้งคู่ชิดกัน(คล้ายท่าพนมมือ) ศอกกางประมาณ 1 คืบ ศีรษะและใบหน้ากำบังอยู่ระหว่างแขทั้งสอง ตาคอยชำเลืองดูหมัดขวาของฝ่ายรุก

3. ขวาซัดหอก ศอกวงใน  แม่ไม้นี้ใช้เป็นหลักสำหรับหลบหมัดตรงออกทางวงนอก แล้วโต้กลับด้วยศอก

     ฝ่ายรุก  ชกด้วยหมัดซ้ายตรงบริเวณใบหน้าของฝ่ายรับ พร้อมกับก้าวเท้าซ้ายสืบไปข้างหน้า

     ฝ่ายรับ  รีบก้าวเท้าเอนไปทางกึ่งขวา ตัวเอนประมาณ 30 องศา น้ำหนักตัวอยู่บนเท้าขวา พร้อมงอแขนซ้าย ใช้ศอกกระแทกชายโครงใต้แขนของฝ่ายรุก

4. อิเหนาแทงกฤช ศอกวงใน  แม่ไม้นี้เป็นหลักในการรับหมัด และใช้ศอกเข้าคลุกวงใน

      ฝ่ายรุก   ชกด้วยหมักซ้ายตรงบริเวณหน้าฝ่ายรับ พร้อมกับสืบเท้าไปข้างหน้า

     ฝ่ายรับ   รีบก้าวเท้าซ้ายไปข้างหน้า ตัวเอียงไปทางซ้ายเล็กน้อย ตัวเอนประมาณ 60 องศา น้ำหนักตัวอยู่บนเท้าซ้าย งอศอกขวาขนานกับพื้น ตีระดับชายโครงฝ่ายรุก

5. ยกเขาพระสุเมรุ   เป็นแม่ไม้ที่ใช้ป้องกันคู่ต่อสู้เหวี่ยงแข้ง และตอบโต้โวยการจับทุ่ม

    ฝ่ายรุก  ใช้ขาขวาเหวี่ยงแข้งสูงเข้าบริเวณลำคอด้านซ้ายของฝ่ายรับ ขาซ้ายตึง ย่อตัวต่ำเอนไปข้างหน้า 45 องศา

    ฝ่ายรับ หลบตัวลงต่ำ พร้อมสืบเท้าไปข้างหน้า แล้วใช้ฝ่ามือขวากันขาฝ่ายรุกไว้เป็นการป้องกัน ในขณะเดียวกันก็ใช้มือซ้ายโอบขาขวาฝ่ายรุกไว้ยกขึ้นใส่บ่า แล้วยกขาขวาฝ่ายรุกขึ้นสูงพร้อมกับดันไปข้างหน้า ทำให้ฝ่ายรุกเสียหลักล้มลง

6. ตาเถรค้ำฟัก ชกคางหมัดสูงก้มตัว 60 องศา  แม่ไม้นี้เป็นหลักเบื้องต้นในการป้องกันหมัด โดยใช้แขนปัดหมัดที่ชกมาขึ้นข้างบน

     ฝ่ายรุก   ชกด้วยหมัดซ้ายตรงที่บริเวณใบหน้าฝ่ายรับ พร้อมกับก้าวเท้าซ้ายไปข้างหน้า

    ฝ่ายรับ   รีบก้าวเท้าซ้ายสืบไปข้างหน้าทางกึ่งขวาเข้าวงในของฝ่ายรุก แล้วใช้ฝ่ามือขวากันแขนขวาของฝ่ายรุกเพื่อเป็นการป้องกันตัว หมัดซ้ายที่ชกมาปัดขึ้นให้พ้นตัว งอเข่าซ้ายเล็กน้อย ใช้หมัดซ้ายชกใต้คางของฝ่ายรุกเป็นการตอบโต้


7. มอญยันหลัก  รับหมัดด้วยถีบ  แม่ไม้นี้เป็นหลักสำคัญในการรับหมัด  ด้วยการใช้เท้าถีบยอดอก หรือท้อง

    ฝ่ายรุก  ชกด้วยหมัดซ้ายตรง พร้อมกับก้าวเท้าซ้ายไปข้างหน้า

     ฝ่ายรับ  โยกตัวเอนไปทางขวา เอนตัวหนีฝ่ายรุกประมาณ 45 องศา ยืนบนเท้าขวา แขนทั้งสองยกงอป้องกันตรงหน้า พร้อมกับยกเท้าซ้ายถีบที่ยอดอกหรือท้องของฝ่ายรุกให้กระเด็นห่าออกไป


8. ปักลูกทอย รับเตะด้วยศอก  แม่ไม้นี้ใช้เป็นหลักในการรับการเตะกราด โดยใช้ศอกกระแทกที่หน้าแข้ง

     ฝ่ายรุก ยืนตรงหน้าพอได้ระยะเตะ ยกเท้าขวาเตะกราดไปยังบริเวณชายโครงของฝ่ายรับ จากขวาไปทางซ้าย โน้มตัวเล็กน้อย งอแขนทั้งสองป้องกันหน้า

     ฝ่ายรับ   รีบยกตัวไปทางซ้ายพร้อมกับก้าวเท้าซ้าย ฉากไปข้างหลัง ใช้แขขวางอศอกขึ้นรับเท้าของฝ่ายรุกที่เตะมา แขนซ้ายงอป้องกันอยู่ตรงหน้าสูงกว่าแขนขวาเพื่อป้องกันพลาดถูกหน้า


9. จระเข้ฟาดหาง รับหมัดเตะ   แม่ไม้นี้ใช้ส้นเท้าฟาดไปทางด้านหลัง เมื่อคู่ต่อสู้พลาดแล้วถลันเสียหลัก จึงหมุนตัวเตะด้วยลูกเหวี่ยงส้นเท้า

      ฝ่ายรุก  ชกด้วยหมัดซ้ายตรง พร้อมกับสืบเท้าไปข้างหน้า

      ฝ่ายรับ  รีบก้าวเท้าขวากระโดดไปทางกึ่งขวาให้พ้นหมัดฝ่ายรุกแขนงอกำบังตรงหน้า แล้วใช้เท้าซ้ายเป็นหลักหมุนตัว เตะด้วยส้นเท้าขวาบริเวณท้องหรือคอ 


10. หักงวงไอยรา  ศอกโคนขา  แม่ไม้นี้ใช้แก้การเตะโดยตัดกำลังขา ด้วยการใช้ศอกกระทุ้งที่โคนขา

      ฝ่ายรุก  ยกเท้าขวาเตะกราดไปยังบริเวณชายโครงของฝ่ายรับ ขอแขนทั้งสองบังอยู่ตรงหน้า

      ฝ่ายรับ  รีบก้าวเท้าขวาเข้าหาฝ่ายรุกตรงหน้าเกือบประชิดตัว หันข้างตัวไปทางซ้าย เข่าขวางอเท้าซ้ายเหยียดตรง พร้อมกับใช้มือซ้ายจับเท้าขวาของฝ่ายรุกให้สูง ศอกขวากระแทกที่โคนขาฝ่ายรุก ยกเท้าขวาฝ่ายรุกให้สูงขึ้นเพื่อให้เสียหลัก กันฝ่ายรุกใช้ศอกกระแทกศีรษะ


11. นาคาบิดหาง บิดขาจับตีเข่าที่น่อง  แม่ไม้นี้ใช้รับการเตะโดยใช้มือทั้งสองจับปลายเท้าบิด พร้อมทั้งใช้เข่ากระแทกขา

       ฝ่ายรุก   ยกเท้าขวาเตะกราดไปยังบริเวณชายโครงของฝ่ายรับ

       ฝ่ายรับ  รีบโยกตัวไปทางซ้าย ยืนบนเท้าซ้าย มือซ้ายจับส้นเท้าของฝ่ายรุก มือขวาจับที่ปลายเท้าบิดออกนอกตัว พร้อมกับยกเข่าขวาตีที่น่องของฝ่ายรุก


12. วิรุณหกกลับ รับเตะด้วยถีบ  แม่ไม้นี้ใช้รับการเตะโดยใช้ส้นเท้ากระแทกที่บริเวณโคนขา

      ฝ่ายรุก  ยกเท้าซ้ายเตะกลางลำตัวบริเวณชายโครงของฝ่ายรับ

      ฝ่ายรับ รีบยกเท้าซ้ายถีบไปที่บริเวณโคนขาซ้ายของฝ่ายรุก พร้อมยกแขนทั้งสองกันด้านหน้า การถีบนั้นต้องถีบให้เร็วและแรง ถึงขนาดฝ่ายรุกหมุนกลับเสียหลัก


13. ดับชวาลา ปัดหมัดชกตอบ  แม่ไม้นี้ใช้แก้การชกด้วยหมัดตรง โดยชกสวนที่ใบหน้า

      ฝ่ายรุก  ชกด้วยหมัดซ้ายไปยังบริเวณใบหน้าของฝ่ายรับ พร้อมกับก้าวเท้าซ้ายไปข้างหน้า แขนขวาคุมบริเวณปลายคาง

      ฝ่ายรับ  ก้าวเท้าขวาไปข้างหน้ากึ่งขวาหลบอยู่นอกหมัดซ้ายของฝ่ายรุก เอี้ยวตัวไปทางขวา ปัดและกดแขนซ้ายของฝ่ายรุกที่ชกมาให้ต่ำลง พร้อมกับใช้หมัดซ้ายชกบริเวณหน้า แล้วพุ่งตัวกระโดดไปทางกึ่งขวา

14. ขุนยักษ์จับลิง  รับ-หมัด-เตะ-ต่อย  แม่ไม้นี้เป็นไม้สำคัญมาก ใช้ป้องกันคู่ต่อสู้ที่ไวในการชก เตะและศอกติดพันกัน การฝึกแบ่งออกเป็น 3 ตอน คือ


      ตอนที่ 1   ฝ่ายรุก  ชกหมัดซ้ายตรงไปยังใบหน้าของฝ่ายรับ พร้อมกับก้าวเท้าซ้ายสืบไปข้างหน้า

                      ฝ่ายรับ  รีบก้วเท้าซ้ายสืบเท้าเข้าหาตัวฝ่ายรุกตรงหน้า แขนขวาปัดแขนซ้ายฝ่ายรุกให้พ้นจากตัว


      ตอนที่ 2   ฝ่ายรุก  ยกเท้าขวาเตะกราดบริเวณชายโครงของฝ่ายรับ

                   ฝ่ายรับ  รีบโยกตัวถอยเท้าซ้ายไปข้างหลังราวกึ่งซ้าย ย่อตัว ใช้ศอกขวากระแทกที่ขาขวาท่อนบนของฝ่ายรุก

     

       ตอนที่ 3  ฝ่ายรุก  งอแขนขวา โน้มตัวกระแทกศอกที่ศีรษะของฝ่ายรับ

                       ฝ่ายรับ  รีบขอแขนขึ้นรับปะทะใต้ศอกของฝ่ายรุก แล้วโยกตัวก้าวเท้าขวาถอยไปทางหลังประมาณครึ่งก้าว

       

15. หักคอเอราวัณ  โน้มคอตีเข่า  

       ฝ่ายรุก  ชกด้วยหมัดซ้ายตรง  พร้อมกับสืบเท้าซ้ายไปข้างหน้า หมัดขวาคุมอยู่บริเวณคาง

      ฝ่ายรับ  ก้าวเท้าซ้ายสืบไปตรงหน้าฝ่ายรุกอย่างรวดเร็ว พร้อมกับยกแขนขวาสอดกดแขนซ้ายของฝ่ายรุก แล้วกระโดดเข้าเหวี่ยงคอฝ่ายรุกโน้มลงมาโดยแรง แล้วตีด้วยเข่าบริเวณใบหน้า 

ท้ายนี้  หวังว่าเรื่องของแม่ไม้มวยไทยทั้ง 15 แม่ไม้ จะถูกใจทุกท่านที่แวะเวียนเข้ามาอ่านกัน ในครั้งหน้ายังคงนำเสนอต่อเนื่องด้วย เรื่อง ลูกไม้มวยไทย 15 ไม้  โปรดอย่าพลาดการติดตามกันนะครับ...สวัสดี


ขอบคุณ  :   สมุดบันทึกเรื่อง มวยไทย  โครงการวิจัย เรื่อง การบูรณาการความรู้กับความเข้มแข็งในชุมชน เพื่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตของเด็กและเยาวชน :  กรณีศึกษาในพื้นที่โครงการตามพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

หลวงพ่อฮวบ วัดสามัคยาราม ต.บ้านด่าน อ.เมือง จ.อุตรดิตถ์

หลวงพ่อกล่อม พรมสโร วัดป่ากะพี้ อ.พิชัย จ.อุตรดิตถ์

พระครูธรรมฐิติวงศ์คีรีเขตร (บุญใหญ่ อินทปญโญ) วัดเจดีย์คีรีวิหาร อ.ลับแล จ.อุตรดิตถ์