ชี้สถานการณ์เด็กเหนือ 60%สุดยากจน เร่งมอบทุนครูสอนดีพลิกชีวิต
ที่ปรึกษารมว.ศึกษารับการศึกษาไทยยังมีความเหลื่อมล้ำ สสค.เปิดมหกรรมครูสอนดีภาคเหนือ ชี้สถานการณ์เด็กและเยาวชนภาคเหนือ 60% เผชิญปัญหาความยากจน เดินหน้าสนับสนุนทุนครูสอนดีพลิกชีวิตเด็กด้อยโอกาส
เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม ที่โรงแรมคุ้มภูคำ จ.เชียงใหม่ สำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน (สสค.) จัดงานมหกรรมครูสอนดีภาคเหนือ เวทีจัดการความรู้และกิจกรรมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ โครงการส่งเสริมคุณภาพการเรียนรู้ เด็กด้อยโอกาส โดยครูสอนดี (ทุนครูสอนดี) ระดับภาคเหนือ โดยมีครูผู้ได้รับทุนครูสอนดี และผู้บริหารสถานศึกษาเข้าร่วม 300 คน
ศ.ดร.ธเนศวร์ เจริญเมือง ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ บรรยายพิเศษในหัวข้อ “เด็กและเยาวชนไทยทุกคนจะมีหลักประกันในการเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพได้อย่างไร”ว่า ประเทศไทยกำลังเผชิญกับโจทย์ท้าทายที่ต้องมีการยกระดับคุณภาพการเรียนรู้ของเด็กและเยาวชนไทย ซึ่งการจัดอันดับคุณภาพการศึกษาไทยโดยเวทีเศรษฐกิจโลก หรือเวิลด์อีโคโนมิคฟอรั่ม ประจำปี 2555-2556 พบว่าคุณภาพการศึกษาไทยอยู่ในอันดับรั้งท้าย โดยอยู่ในลำดับ 8 ใน 10 ประเทศเมื่อเทียบกับกลุ่มประเทศอาเซียน ซึ่งตนมองว่าการศึกษาไทยมี 3 ปัญหา คือ 1 การเมืองที่ไม่มั่นคง การเปลี่ยนรัฐมนตรีทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางนโยบายและการโยกย้ายกำลังคน โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการในสมัยของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร มีการเปลี่ยนรัฐมนตรีแล้วถึง 4 คน ทำงานเฉลี่ยคนละ 6 เดือน ทำให้นโยบายการจัดการศึกษาไม่ต่อเนื่อง 2 ข้าราชการกระทรวงไม่ตั้งใจจริง และ 3 ครูจำนวนมากไม่มุ่งมั่นแก้ปัญหาการศึกษาอย่างจริงจัง ไม่มีเหตุการณ์ที่ครูเดินขบวนประท้วงว่าเดือนร้อนจากคุณภาพการศึกษาไทยที่ตกต่ำ หรือเด็กอ่านไม่ออก แต่มีขบวนเรียกร้องขอขึ้นเงินเดือนหรือการผลักดันเรื่องส่วนตัวทั้งสิ้น
“การศึกษาไทยยังมีความเหลื่อมล้ำ โรงเรียนบางแห่งมีครูเกินจำนวน ขณะที่ครูในชนบทมีครูไม่ครบชั้น เช่น ที่อ.หางดง จ.เชียงใหม่ มีครูเพียง 1 คน สอนเด็กถึง 6 ชั้นเรียนและต้องทำอาหารกลางวันให้เด็กเพียงลำพัง ขณะที่เขตพื้นที่การศึกษามีเจ้าหน้าที่จำนวนมาก บางส่วนกำลังเล่นเฟสบุ๊ก จึงตั้งคำถามว่า เวลาว่างของคนเหล่านี้น่าจะมาช่วยสอน ปัญหาการศึกษายังมีอีกมาก ต้องช่วยกันผลักดันให้การศึกษาไทยดีขึ้น ซึ่งครู ผู้บริหารสถานศึกษา และผู้ปกครองต้องช่วยกัน จากนี้ไปจะเป็นยุคแห่งการปฏิรูปการศึกษาที่ต้องเดินหน้า และไม่ได้เกิดขึ้นใน 1-2 วันนี้ เราคงต้องเหน็ดเหนื่อยในการปฏิรูปการศึกษาครั้งใหญ่ ผมชื่นชมสสค.ที่ให้ทุนแก่ครูสอนดีที่สอนเด็กด้อยโอกาสได้ทำงาน ซึ่งปัญหาการทำงานของครูที่ต่างจังหวัดต่างจากในเมือง จึงจำเป็นต้องรวมตัวกัน และช่วยกันเสนอให้มากขึ้นเพื่อให้ส่วนกลางได้รับรู้ถึงปัญหาที่แท้จริง”ศ.ดร.ธเนศวร์ กล่าว
นายนคร ตังคะพิภพ ผู้ทรงคุณวุฒิ สสค. กล่าวว่า จากข้อมูลของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ปี 2554 พบว่า ในจำนวนเด็กและเยาวชนภาคเหนือที่อยู่ในระบบการศึกษา มีเด็กที่ยากจนอยู่ถึง 422,834คน หรือคิดเป็น 63% ของเด็กที่อยู่ในโรงเรียน ซึ่งภาคเหนือมีความพิเศษคือ มีกลุ่มเด็กชนเผ่า เด็กในถิ่นทุรกันดาร ซึ่งส่วนใหญ่ไม่เรียนต่อ การเรียนเพื่ออาชีพและฝึกทักษะชีวิตจึงเป็นเรื่องสำคัญ เพื่อเตรียมเด็กให้พร้อมก่อนเข้าสู่ตลาดแรงงาน สสค.จึงสนับสนุนการทำงานแก่ครูสอนดีผู้ได้รับการคัดเลือกในระดับท้องถิ่นและจังหวัด พร้อมกับให้ทุนสนับสนุนการทำงานแก่ครูสอนดีผู้สอนเด็กด้อยโอกาส จำนวน 115 ทุน เพื่อส่งเสริมการจัดการเรียน การพัฒนาทักษะชีวิตและทักษะอาชีพ
นายสามารถ สุทะ อดีตนักกีฬามวยปล้ำทีมชาติที่ผันตัวเองมาเป็น “ครู” ในห้องเรียนเรือนแพ ร.ร.บ้านก้อจัดสรร อ.ลี้ จ.ลำพูน เพื่อสอนลูกหลานชาวประมงบนเขื่อนภูมิพลที่ไม่ได้เรียนหนังสือ กล่าวว่า ได้เห็นเด็กขาดโอกาสเพราะไม่มีครูมาสอน ฐานะครอบครัวก็ยากจน ทำให้สะท้อนชีวิตของตัวเองในวัยเด็กที่ต้องมาบวชเรียน จึงไม่สนใจว่ามันจะอยู่ไกลขนาดไหน สนใจแค่ว่า เด็กพวกนี้ต้องการคนที่จะมาให้โอกาส ปัจจุบันจึงสอนลูกหลานชาวประมงบนเขื่อนภูมิพลตั้งแต่ระดับชั้นอนุบาลจนถึงป.6 โดยให้เด็กได้เรียนรู้แบบบูรณาการที่เกี่ยวข้องกับวิถีชีวิตที่อยู่บนเรือนแพ เช่น ควรใช้วิถีชีวิตแบบไหน ควรประกอบอาชีพอะไร โดยใช้ชีวิตอยู่กับลูกศิษย์ตลอด 24 ชั่วโมง ทั้งขับเรือ กินนอนบนห้องเรียนเรือนแพ ทำอาหารให้เด็กรับประทาน อ่านหนังสือให้เด็กฟังก่อนนอน จึงต้องเป็นทุกอย่างทั้งครู พ่อแม่ ภารโรง จนถึงพ่อครัว
น.ส.เสาวภา เพียรจริง ครูผู้สอนเด็กบกพร่องการเรียนรู้ ร.ร.เชียงรายปัญญานุกูล จ.เชียงราย ผู้ได้รับทุนครูสอนดี กล่าวว่า การจัดการศึกษาให้กับเด็กที่มีความบกพร่องทางสติปัญญาที่ผ่านมาได้มีการฝึกทักษะการใช้ชีวิตและอาชีพให้กับเด็กพิเศษ แต่กลับไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร เพราะเด็กได้ฝึกเฉพาะแค่ในโรงเรียน แต่พอกลับบ้านเขาก็ไม่สามารถนำสิ่งที่ได้เรียนรู้ไปประกอบอาชีพได้ เพราะขาดความรู้เรื่องการตลาดหรือการขาย หากไม่มีคนซื้อ ผลงานที่ทำขึ้นมาก็ขายไม่ได้ จึงหาสถานที่จำหน่ายควบคู่ไปด้วย จึงเป็นที่มาของ “ร้านกาแฟไม่ธรรมดา” ตั้งอยู่ฝั่งตรงกันข้ามวัดร่องขุ่น โดยสำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดเชียงรายสนับสนุนสถานที่ ทำให้เป็น“ห้องเรียนชีวิต”ของเด็กพิเศษ ซึ่งในทุกเช้าเด็กจะเดินทางพร้อมคณะครูมาจัดเตรียมสถานที่และข้าวของต่างๆ อาทิ กาแฟสด, เครื่องดื่มอิตาเลี่ยนโซดา, กาแฟโบราณ, ขนมอบวาฟเฟิล, โดนัทจิ๋ว, งานศิลปะแขนงต่างๆ, งานประดิษฐ์ตุงมหามงคล กิ๊ฟช้อป ฯลฯ ซึ่งทุกอาชีพครูไม่ได้เป็นผู้คิดให้ แต่กลับเป็นเด็กๆ ที่เปิดประตูหัวใจให้ “ครู” ได้เข้ามาเรียนรู้และค้นหาศักยภาพที่อยู่ข้างในตัวของเด็กแต่ละคน
นายชัยยศ สุขต้อ ครูผู้ทุ่มเทเวลากว่าค่อนชีวิตในการดูแลเด็กด้อยโอกาสบนดอย ร.ร.บ้านยางเปา อ.อมก๋อย จ.เชียงใหม่ กล่าวว่า นักเรียนทั้งหมดเป็นชาวเขาเผ่าปกากะญอ ซึ่งมีปัญหาเหมือนกับกลุ่มชนเผ่าอื่นๆคือไม่เก่งด้านวิชาการ เมื่อเขาเรียนไม่เก่งก็ไม่อยากมาเรียนเพราะมาแล้วไม่มีความสุข จึงหาวิธีให้นักเรียนมีความสุข เลยนำเอาความสามารถที่ตัวเองถนัดคือศิลปะมาถ่ายทอด เพื่อให้นักเรียนเกิดความภาคภูมิใจในตัวเอง จึงสอนทั้งดนตรี กีฬา และศิลปะตามความสนใจของเด็ก และที่เป็นเอกลักษณ์เพียงหนึ่งเดียวของโรงเรียนแห่งนี้คือ “ระบำกระด้ง” ซึ่งเกิดจากวิถีการดำเนินชีวิตของชาวปกากะญอ ตั้งแต่เช้ามาตำข้าว ฝัดข้าว จึงเอาเสน่ห์ตรงนี้มาเป็นจุดขาย นำท่าทางมาประกอบกับดนตรี เป็นท่ารำที่ช้าๆ ต่อมาก็เติมด้วยความสนุกสนาน และก็ดัดแปลงท่ารำบางส่วนมาจากวิถีชีวิตประจำวันของชนเผ่า มีการใช้เท้าขยับและเคลื่อนไหวประกอบการแสดง จนเป็นการแสดงของโรงเรียนและนำไปออกงานทั้งในระดับอำเภอและจังหวัด
ขอบคุณ : http://education.enn.co.th
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น