พระครูธรรมกิจจาภิบาล (กลม สุวณฺโณ) วัดดอยท่าเสา อ.เมือง จ.อุตรดิตถ์

                                  พระครูธรรมกิจจาภิบาล (กลม สุวณฺโณ)  พระเถระซึ่งเป็นที่นับถือของชาวจังหวัดอุตรดิตถ์ในสมัยช่วงปี ก่อน พ.ศ. 2500
                      พระครูธรรมกิจจาภิบาล (กลม สุวณฺโณ) วัดดอยท่าเสา อ.เมือง จ.อุตรดิตถ์ 

พระครูธรรมกิจจาภิบาล (กลม สุวณฺโณ) (นามเดิม : กลม ไกรเดช) อดีตเจ้าอาวาสวัดดอยท่าเสา อำเภอเมือง จังหวัดอุตรดิตถ์ (พ.ศ. 2421 - พ.ศ. 2492) เป็นพระเกจิอาจารย์รูปสำคัญที่มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักยิ่งรูปหนึ่งในจังหวัดอุตรดิตถ์ ร่วมสมัยกับพระเกจิอาจารย์ผู้มีชื่อเสียงในสมัยที่ท่านยังมีชีวิตอยู่ ท่านเป็นพระเกจิอาจารย์รุ่นเก่า (เกจิอาจารย์ยุคก่อน พ.ศ.2500) ก่อนหน้าหลวงปู่พระนิมมานโกวิท (ทองดำ ฐิตวณฺโณ) ซึ่งเป็นพระเกจิอาจารย์แห่งเมืองอุตรดิตถ์ในยุคหลัง  ท่านมรณภาพในปี พ.ศ.2492 ปัจจุบันวัตถุมงคลของท่านเป็นที่เลื่องลือในด้านแคล้วคลาดและอยู่ยงคงกระพัน

พระครูธรรมกิจจาภิบาล (กลม)หรือหลวงพ่อกลม ท่านเป็นคนบ้านคุ้งตะเภา ตำบลท่าเสา แขวงบางโพ เมืองพิชัย (บ้านคุ้งตะเภา ตำบลคุ้งตะเภา อำเภอเมืองอุตรดิตถ์ จังหวัดอุตรดิตถ์ ในปัจจุบัน) เกิดเมื่อวันที่ 1 เมษายน พ.ศ.2421 มีชื่อเดิมว่า กลม ไกรเดช บิดาชื่อนายชื่น มารดาชื่อนางจันทร์ ต่อมาท่านได้อุปสมบทเป็นพระภิกษุเมื่ออายุครบบวชเมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2440 ณ พัทธสีมาวัดดอยท่าเสา โดยมีพระอธิการอินทร์ เป็นพระอุปัชฌาย์ และมีพระอาจารย์สี เป็นพระกรรมวาจาจารย์ ได้รับฉายาว่า "สุวณฺโณ"

                                     
    วิหารประดิษฐานรูปเหมือนพระครูธรรมกิจจาภิบาล (กลม) ภายในวัดดอยท่าเสาอำเภอเมือง จังหวัดอุตรดิตถ์

                                    
      รูปเหมือนพระครูธรรมกิจจาภิบาล (กลม) ประดิษฐานภายในวิหาร "หลวงพ่อกลม"วัดดอยท่าเสา 
                                                         อำเภอเมืองจังหวัดอุตรดิตถ์

ท่านได้รับแต่งตั้งจากพระครูวิเชียรปัญญามหามุนี (เจ้าคณะจังหวัดอุตรดิตถ์ในสมัยนั้น) ให้เป็นเจ้าอาวาสวัดดอยท่าเสาเมื่อวันที่ 5 มิถุนายน พ.ศ. 2463 และท่านได้รับการแต่งตั้งให้เป็นพระสังฆาธิการระดับต่าง ๆ ตามลำดับ เช่น ได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าคณะหมวด (เมื่อวันที่ 22 มีนาคม พ.ศ. 2466) ได้รับแต่งตั้งเป็นพระอุปัชฌาย์ (เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2481) ได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าคณะแขวงกิ่งฟากท่าในปี พ.ศ. 2482 (โดยเป็นอยู่ 6 เดือนจึงได้ย้ายไปเป็นเจ้าคณะแขวงท่าปลาในเดือนสิงหาคมปีเดียวกัน)

และด้วยการที่ท่านดำรงตำแหน่งทางคณะสงฆ์ ช่วยงานพระศาสนามาเป็นลำดับ มีผลงานปรากฏมากมาย ท่านจึงได้รับพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าฯ พระราชทานตั้งสมณศักดิ์เป็นที่ "พระครูธรรมกิจจาภิบาล" เมื่อปี พ.ศ. 2484

                                                   หลวงพ่อสุวรรณเภตรา
  พระพุทธสุวรรณเภตรา เป็นพระพุทธรูปที่พระครูธรรมกิจจาภิบาล (กลม) สร้างถวายวัดบ้านเกิดของท่าน ซึ่งเป็น       พระพุทธรูปที่ท่านจัดสร้างขึ้นเป็นครั้งสุดท้าย ก่อนที่ท่านจะมรณภาพ เป็นที่นับถือโดยทั่วไปว่ามีความศักดิ์สิทธิ์ยิ่ง

ผู้ที่ยังทันเห็นท่านเล่าว่าในขณะที่ท่านดำรงชีวิตอยู่ หากดูจากภายนอกจะดูเป็นคนดุ พูดเสียงดังฟังชัด แต่จิตใจท่านเมตตาเสมอ ดังสำนวนที่ว่า ปากร้ายใจดี ใครจะบวชกับท่านต้องท่องขานนากให้ได้ ไม่เช่นนั้นท่านจะไม่บวชให้ ท่านมักเป็นที่กล่าวถึงในคุณาภินิหารและความศักดิ์สิทธิ์ของพระเครื่องรูปหล่อที่ท่านได้จัดสร้างเช่น เหรียญกลมหลังท้องกระทะ รุ่นแรก (พ.ศ.2483) และพระพุทธชินราช (พ.ศ.2481) ซึ่งรวมไปถึงวัตถุมงคลที่ท่านได้ปรกจิตภาวนาด้วย เช่น เหรียญวัตถุมงคลหลวงพ่อเพชร วัดท่าถนน รุ่นแรก ไปจนถึงพระพุทธรูปหล่อองค์ใหญ่ซึ่งท่านได้ตั้งใจสร้างฝากถวายวัดบ้านเกิดของท่านเป็นครั้งสุดท้าย คือ หลวงพ่อสุวรรณเภตรา วัดคุ้งตะเภา (สร้างปี พ.ศ.2491) อันเป็นพระพุทธรูปหล่อ ซึ่งมีพระพุทธลักษณะงดงามมาก และเป็นที่เลื่องลือในหมู่ผู้ศรัทธาว่า อภินิหารของพระพุทธรูปองค์นี้มีความศักดิ์สิทธิ์เปรียบประดุจสรรพวิชาอาคมของหลวงพ่อกลมได้ถ่ายทอดมาลงอยู่ในองค์พระจนสิ้น
                       
                                                  เหรียญรูปหล่อพระครูธรรมกิจจาภิบาล (กลม)                                                       วัตถุมงคลที่พระครูธรรมกิจจาภิบาลจัดสร้างขึ้นเมื่อท่านยังมีชีวิตอยู่ (เหรียญกลม หลังท้องกระทะ รุ่นแรก)                              
                               
                                                      พระพุทธชินราช ล.พ.กลม วัดดอยท่าเสา ปี 81

หลวงพ่อกลมมรณภาพเมื่อเมื่อเวลา 20.27 นาฬิกา. ของวันที่  1 ธันวาคม พ.ศ.2492 หลังจากสร้าง หลวงพ่อสุวรรณเภตรา ได้ปีเดียว

ปัจจุบัน แม้กาลเวลาจะล่วงเลยผ่านมานาน แต่ก็ยังมีผู้เคารพศรัทธาชาวอุตรดิตถ์กล่าวขวัญถึงความศักดิ์สิทธิ์ของหลวงพ่อกลมอยู่เสมอมา ทำให้มีผู้นับถือแสวงหาเหรียญรูปหล่อบูชาของท่านเพื่อรักษาไว้เป็นสิริมงคลตลอดมาจนปัจจุบัน


ขอบคุณ  :  1)  http://th.wikipedia.org
              2)  www.google.co.th/search?q=วัดดอยท่าเสา&tbm      


ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

หลวงพ่อฮวบ วัดสามัคยาราม ต.บ้านด่าน อ.เมือง จ.อุตรดิตถ์

หลวงพ่อกล่อม พรมสโร วัดป่ากะพี้ อ.พิชัย จ.อุตรดิตถ์

พระครูธรรมฐิติวงศ์คีรีเขตร (บุญใหญ่ อินทปญโญ) วัดเจดีย์คีรีวิหาร อ.ลับแล จ.อุตรดิตถ์