9 พระพุทธรูปโบราณศักดิ์สิทธิ์แห่งเมืองอุตรดิตถ์ (5-7)

พระพุทธรูปโบราณอันศักดิ์สิทธิ์แห่งเมืองอุตรดิตถ์ (5-7)      ต่อจากครั้งที่แล้ว...ครับ


5. หลวงพ่อสุโขทัยสัมฤทธิ์ (วัดคุ้งตะเภา)

                           หลวงพ่อสุโขสัมฤทธิ์อุตรดิตถ์มุนีประดิษฐานภายในหอพระพุทธสุโขสัมฤทธิ์อุตรดิตถ์มุนี บนอาคารอสีติวัสสายุมงคลมหาศาลาการเปรียญ วัดคุ้งตะเภา
                                             หลวงพ่อสุโขทัยสัมฤทธิ์

"พระพุทธสุโขทัยไตรโลกเชษฐ์ หรือนามสามัญ หลวงพ่อสุโขทัยสัมฤทธิ์ เป็นพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ปางมารวิชัย หล่อด้วยทองสัมฤทธิ์บริสุทธิ์ (หน้าตักกว้าง 2 ศอก 13 นิ้ว สูง 3 ศอก 7 นิ้ว) เดิมองค์พระพอกปูนลงรักปิดทองอารักขาภัยไว้ ตัวองค์พระสำริดดังปรากฏในปัจจุบันนั้นสันนิษฐานว่าสร้างในสมัยกรุงสุโขทัยเป็นราชธานี สกุลช่างสุโขทัยยุคกลาง มีอายุประมาณ 700 ปี

หลวงพ่อสุโขทัยสัมฤทธิ์ เป็นพระพุทธรูปโบราณศักดิ์สิทธิ์สำคัญที่เป็นที่เคารพนับถือ 1 ใน 2 องค์ ของตำบลคุ้งตะเภา และเป็นพระพุทธรูปโบราณ ศิลปะสุโขทัยองค์สำคัญ 1 ใน 3 องค์ ของจังหวัดอุตรดิตถ์ ที่นำมาจากวัดราชบูรณะราชวรวิหารในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2

พระพุทธรูปองค์นี้มีประวัติความเป็นมาเกี่ยวข้องกับช่วงเวลาการเปลี่ยนผ่านและเหตุการณ์สำคัญทางประวัติศาสตร์สำคัญ ๆ ของประเทศไทยหลายครั้ง และมีความเกี่ยวข้องกับพระมหากษัตริย์ไทยหลายพระองค์ เนื่องจากหลวงพ่อสุโขทัยสัมฤทธิ์เป็นพระพุทธรูปโบราณที่มีประวัติความเป็นมาผ่านช่วงเวลาแห่งประวัติศาสตร์ชาติไทยกว่า 700 ปี ล่วงเลยแต่สมัยกรุงสุโขทัยเป็นราชธานีจนถึงปัจจุบัน
หลวงพ่อสุโขทัยสัมฤทธิ์ ประดิษฐานอยู่ที่ วัดคุ้งตะเภา หมู่บ้านคุ้งตะเภา ตำบลคุ้งตะเภา อำเภอเมือง จังหวัดอุตรดิตถ์ โดยปกติทางวัดไม่เปิดเผยสถานที่ประดิษฐาน และไม่ให้บุคคลทั่วไปเข้าสักการะได้ถึงองค์พระ เนื่องด้วยปัญหาด้านการรักษาความปลอดภัย

แรกสร้างในสมัยสุโขทัย

หลวงพ่อสุโขทัยสัมฤทธิ์ เป็นพระพุทธรูปโบราณศักดิ์สิทธิ์ สร้างในสมัยกรุงสุโขทัยเป็นราชธานี เมื่อกว่า 700 ปีก่อน สันนิษฐานว่าเป็นพระพุทธรูปสำคัญของพระวิหารในวัดโบราณแห่งใดแห่งหนึ่งในสมัยสุโขทัย

ต่อมาเมื่อมีข้าศึกประชิดเมือง ชาวบ้านเกรงว่าหลวงพ่อสุโขทัยจะได้รับอันตราย จึงได้พอกปูนองค์หลวงพ่อไว้เพื่อกันภัยจากข้าศึก ต่อมาเมื่อเมืองสุโขทัยพ่ายแก่ข้าศึก และเสื่อมความสำคัญในฐานะเมืองหลวงแห่งอาณาจักรลง ทำให้วัดที่ประดิษฐานองค์หลวงพ่อต้องมีอันร้างพระสงฆ์และ ผู้คน พร้อม ๆ กับ หลวงพ่อสุโขทัยที่ข้าศึกไม่สนใจ เพราะเป็นพระพุทธรูปปูน (ที่ถูกหุ้มไว้) ไม่ใช่พระเนื้อโลหะอย่างที่ข้าศึกต้องการ องค์หลวงพ่อจึงถูกทิ้งร้างอย่างปลอดภัยอยู่กลางป่ามาตลอดช่วงสมัยอยุธยา

สมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น

จวบจนยุคสมัยก้าวล่วงเข้าสู่สมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ 1 ทรงทอดพระเนตรเห็นพระพุทธรูปซึ่งอยู่ตามหัวเมืองเก่าต่าง ๆ ทั้งที่เป็นพระปูน พระโลหะ ซึ่งถูกทอดทิ้งไว้ จึงทรงมีพระราชดำริให้ชะลอพระพุทธรูป ซึ่งถูกทอดทิ้งตามวัดร้างและสถานที่ต่าง ๆ ทั่วพระราชอาณาเขต นำมารวบรวมไว้ในพระนคร เพื่อรอนำประดิษฐานไว้ในที่อันสมควรแก่การสักการบูชา โดยมีการอัญเชิญพระพุทธรูปจากหัวเมืองต่าง ๆ มายังกรุงเทพมหานคร มากกว่า 1,248 องค์ ซึ่งพระพุทธรูปปูนปั้นหุ้มหลวงพ่อสุโขทัยก็ได้ถูกอัญเชิญลงมาในคราวเดียวกัน นี้ ในการนั้น ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณ โปรดฯ ให้ประดิษฐานพระพุทธรูปจากหัวเมืองต่าง ๆ ที่ได้รวบรวมมาประดิษฐานไว้ ณ พระระเบียงวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม ราชวรมหาวิหาร ที่ทรงบูรณปฏิสังขรณ์เสร็จสิ้นในปี พ.ศ. 2348

จุลศักราช 1855 เอกศก (พ.ศ. 2336) พระสัมพันธวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงเทพหริรักษ์ พระโอรสในสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระศรีสุดารักษ์ พระพี่นางเธอในรัชกาลที่ 1 ทรงทำการบูรณปฏิสังขรณ์วัดเลียบเสร็จแล้ว พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช พระราชทานนามวัดว่า "วัดราชบุรณราชวรวิหาร" ตามนามวัดราชบุรณะซึ่งเป็นวัดคู่เมืองราชธานีตลอดมาตั้งแต่สมัยสุโขทัย และได้มีพระบรมราชูปถัมภ์ในการบูรณปฏิสังขรณ์ด้วย

ต่อมา ในรัชกาลที่ 2 พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ถอนสีมาวัดเลียบเก่า แล้วสร้างพระอุโบสถและ พระวิหารใหม่ พร้อมกับทำการสร้างพระระเบียงล้อมรอบพระอุโบสถ ภายในนำพระพุทธรูปปูนเก่า ซึ่งพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้นำมาจากหัวเมืองรวม 162 องค์ มาประดิษฐานไว้ ซึ่งหนึ่งในนั้นก็คือองค์หลวงพ่อสุโขทัยด้วย

                          
ภาพวัดราชบุรณราชวรวิหารในปี พ.ศ. 2475 (ปล่องโรงไฟฟ้าเลียบอยู่ด้านหลังวัด) ก่อนถูกทำลายหมดทั้งวัดจากเครื่องบินทิ้งระเบิดของฝ่ายสัมพันธมิตรในปี พ.ศ. 2488 ในภาพจะสังเกตเห็นพระระเบียงคตรอบพระอุโบสถวัดราชบุรณะ สถานที่ ๆ เคยเป็นที่ประดิษฐานหลวงพ่อสุโขสัมฤทธิ์อุตรดิตถ์มุนีและพระพุทธรูปโบราณทั้ง 162 องค์


รอดจากระเบิดสัมพันธมิตร (สงครามโลกครั้งที่ 2)
เวลาล่วงเลยมากว่า 7 รัชสมัย จนถึงปี พ.ศ. 2488 ในระหว่างปลายสงครามโลกครั้งที่ 2 วัดราชบุรณะถูกระเบิดจากเครื่องบินทิ้งระเบิดของฝ่ายสัมพันธมิตร ทำให้พระอุโบสถ สังฆาราม พระวิหาร และ กุฏิเสนาสนะ เสียหายมาก คณะสังฆมนตรี และคณะรัฐมนตรีในขณะนั้นมีมติว่า สมควรยุบเลิกวัดเสีย จึงนำความกราบบังคมทูลพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล รัชกาลที่ 8 และได้รับพระบรมราชานุญาตให้ทำการยุบเลิกวัดได้ ตามประกาศกระทรวงศึกษาธิการ ลงวันที่ 30 กรกฎาคม พ.ศ. 2488

เมื่อวัดราชบูรณะถูกยุบเลิก กรมการศาสนาได้อนุญาตให้วัดต่าง ๆ ในหัวเมือง อัญเชิญพระพุทธรูปปูนปั้นที่พระระเบียงที่รอดจากการถูกทำลายอย่างปาฏิหาริย์ ไปประดิษฐานยังวัดของตนได้ตามแต่ประสงค์ ทำให้หลังจากสงครามสงบลงในปีเดียวกัน พระพุทธรูปเหล่านั้นจึงกระจายไปอยู่ตามวัดต่าง ๆ ทั่วภูมิภาคของประเทศ

                               
สถานที่แม่น้ำน่านเต็มตลิ่งถึงหน้าวัดเป็นอัศจรรย์ เป็นเหตุให้สามารถอัญเชิญหลวงพ่อสุโขสัมฤทธิ์อุตรดิตถ์มุนีขึ้นแพยังฝั่งแม่น้ำหน้าวัดคุ้งตะเภาเดิมได้ (แม่น้ำน่านในสมัยนั้นอยู่ห่างจากตลิ่งวัดไปกว่า 1 กิโลเมตร)

อัญเชิญขึ้นมายังอุตรดิตถ์
วัดคุ้งตะเภา ซึ่งในสมัยนั้นกำลังทำการก่อสร้างอุโบสถ และยังไม่มีพระพุทธรูปองค์ใหญ่สำหรับเป็นพระประธานเป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจ จึงได้ลงไปขอรับพระพุทธรูปเก่าจากวัดเลียบมาองค์หนึ่ง โดยได้ชะลอเคลื่อนย้ายพระพุทธรูปโบราณองค์นั้นขึ้นมายังจังหวัดอุตรดิตถ์โดย ทางรถไฟมาลงที่สถานีท่าเสา และข้ามฝั่งแม่น้ำน่านมายังวัดคุ้งตะเภาโดยทางเรือ ในช่วงปลายปี พ.ศ. 2488

โดยในครั้งนั้นวัดในจังหวัดอุตรดิตถ์ที่ลงไปขอพระพุทธรูปจากวัดเลียบฯ มีด้วยกันสามวัดคือ วัดคุ้งตะเภา (นำ หลวงพ่อสุโขทัยสัมฤทธิ์ กลับมา) , วัดธรรมาธิปไตย (นำ หลวงพ่อเชียงแสน กลับมา) , วัดดงสระแก้ว (นำ หลวงพ่ออู่ทอง (ทองคำ) กลับมา) โดยตอนนำพระพุทธรูปกลับมานั้น ได้มาเป็นแค่พระปูนปั้นธรรมดา (วัดคุ้งตะเภาได้พระปูนลงรักดำสนิทมา) แต่ต่อมาพระปูนทั้งหมดก็ได้กะเทาะแตกออกเป็นพระโลหะสำริดและทองคำดังใน ปัจจุบัน

หลังจากที่วัดคุ้งตะเภาได้นำ หลวงพ่อสุโขทัยสัมฤทธิ์ กลับมาสู่แดนมาตุภูมิ (แถบนี้เคยเป็นหัวเมืองของกรุงสุโขทัยในอดีต) ก็มิได้มีการเปิดให้สักการบูชาและเปิดเผยองค์หลวงพ่ออย่างเป็นทางการ เนื่องจากปัญหาด้านการรักษาความปลอดภัย เพราะองค์หลวงพ่อเป็นโบราณวัตถุที่ประเมินค่ามิได้ และเป็นที่ปรารถนาสำหรับพ่อค้าวัตถุโบราณ ทำให้ทางวัดต้องเก็บงำปูชนียวัตถุโบราณสำคัญยิ่งของชาติชิ้นนี้ไว้ในสถานที่ลับต่าง ๆ ภายในวัดมานานกว่า 60 ปี

จนในปี พ.ศ. 2552 วัดคุ้งตะเภาจึงได้ทำการเปิดเผยองค์หลวงพ่อสุโขทัยสัมฤทธิ์ และเปิดโอกาสให้ทุกคนได้สักการะปิดทองสรงน้ำได้ถึงองค์พระ โดยจะนำหลวงพ่อมาประดิษฐานให้ประชาชนทำการสักการบูชาได้เฉพาะในช่วงเทศกาลสงกรานต์ เท่านั้น

ขอบคุณ  :  http://th.wikipedia.org


6. หลวงพ่อธรรมจักรพุทราแขวนบาตร (วัดพระแท่นศิลาอาสน์พระอารามหลวง)

                            หลวงพ่อธรรมจักร ภายในวิหารหลวงวัดพระแท่นศิลาอาสน์
                                       หลวงพ่อธรรมจักรพุทราแขวนบาตร

หลวงพ่อธรรมจักรพุทราแขวนบาตร เป็นพระรูปหล่อโบราณศักดิ์สิทธิ์ สกุลช่างอยุธยา เนื้อโลหะ ปางพระมาลัยประทับนั่ง ประดิษฐานอยู่ในวิหารหลวงพ่อธรรมจักรติดกับด้านทิศเหนือของวิหารหลวงประดิษฐานพระแท่นศิลาอาสน์ (บริเวณทิศที่แขวนบาตรของพระพุทธเจ้าในตำนานพระแท่นศิลาอาสน์) ภายในวัดพระแท่นศิลาอาสน์ อำเภอลับแลจังหวัดอุตรดิตถ์

           

หลวงพ่อธรรมจักรพุทราแขวนบาตร เป็นพระรูปพระอรหันต์มาลัยเถระเนื้อโลหะสัมฤทธิ์ สกุลช่างอยุธยา ปางพระมาลัยประทับนั่งมือซ้ายจับตาลปัตร เดิมสันนิษฐานว่ามีพัดพระมาลัยประจำองค์อยู่ แต่หายไปนานแล้ว พระรูปหล่อองค์นี้เป็นที่เลื่องลือในด้านป้องกันไฟ เนื่องจากความอัศจรรย์ในเหตุการณ์ไฟไหม้วัดครั้งใหญ่ใน พ.ศ.2451 ที่วิหารประดิษฐานหลวงพ่อธรรมจักรเป็นศาสนสถานหลังเดียวที่รอดพ้นจากไฟป่าอย่างปาฏิหาริย์   ปัจจุบันหลวงพ่อประดิษฐานเป็นพระประธานในพระวิหารหลวง ด้านหลังพระแท่นศิลาอาสน์ เข้ากราบนมัสการได้ทุกวัน

ขอบคุณ  :  http://th.wikipedia.org  


 7.หลวงพ่อพุทธรังสี (วัดพระยืนพุทธบาทยุคล)  

                           หลวงพ่อพุทธรังสี
                                             หลวงพ่อพุทธรังสี

หลวงพ่อพุทธรังสี เป็นพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ ใน พระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์แห่งเมืองอุตรดิตถ์ องค์พระพุทธรูปเป็นพระสกุลช่างสุโขทัย สร้างในสมัยกรุงสุโขทัยเป็นราชธานี ในรัชกาลของพระเจ้าลิไทองค์พระเป็นเนื้อโลหะสำริด (แก่นาค) ปางมารวิชัย ประดิษฐานเป็นพระประธานภายในอุโบสถ วัดพระยืนพุทธบาทยุคล อำเภอลับแล จังหวัดอุตรดิตถ์

หลวงพ่อพุทธรังสี เดิมเป็นพระพุทธรูปปูนปั้น ประดิษฐานในอุโบสถวัดพระยืนพุทธบาทยุคล สันนิษฐานว่าองค์พระสร้างโดยพระบรมราชโองการของพระมหาธรรมราชาที่ 1(พระเจ้าลิไทย) พระมหากษัตริย์แห่งกรุงสุโขทัย ซึ่งพระองค์ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานมาประดิษฐาน ณ มณฑปรอยพระพุทธบาท ต่อมาในสมัยอยุธยา ไทยเกิดการสงครามกับพม่า ชาวบ้านจึงได้พอกปูนไว้อารักขาภัย

ผ่านมาในสมัยรัตนโกสินทร์ กาลเวลาผ่านมากว่า 500 ปี กลืนกินความทรงจำของชาวบ้านจนไม่มีผู้ใดรู้ว่าเป็นพระพุทธรูปปูนปั้นหุ้มโลหะสำริดอยู่ข้างใน จนวันหนึ่ง ผู้ปฏิบัติธรรมซึ่งเข้ามาสวดมนต์ในอุโบสถ ได้เห็นองค์พระปูนปั้นเปล่งพระรัศมีออกจากพระนลาฏ (หน้าผาก) และพระเกศเป็นฉัพพรรณรังสีให้ผู้ปฏิบัติธรรมได้เห็น วัดจึงได้กะเทาะปูนออก จึงได้เห็นเป็นพระพุทธรูปสำริดสุกปลั่ง มีพุทธลักษณะสวยงาม ต่อมา พระยากัลยาวัฒนวิศิษฐ์ ผู้เคยดำรงตำแหน่งสมุหเทศาภิบาล มณฑลพายัพ (ท่านมีรกรากอยู่ที่เมืองลับแลได้ตั้งชื่อพระพุทธรูปองค์นี้ว่า "หลวงพ่อพุทธรังสี" และทางวัดจึงได้อัญเชิญพระพุทธรูปองค์นี้ไปประดิษฐานเป็นพระพุทธรูปประธานในอาคารอุโบสถที่สร้างขึ้นใหม่ ประดิษฐานเป็นที่สักการะของประชาชนมาจนปัจจุบัน โดยจะมีงานเทศกาลนมัสการหลวงพ่อพระพุทธรังสีเป็นงานใหญ่ประจำปี ระหว่างวันขึ้น ค่ำ ถึง 15 ค่ำ เดือน ทุกปี สืบมา

ขอบคุณ :  http://th.wikipedia.org 

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

พระครูธรรมฐิติวงศ์คีรีเขตร (บุญใหญ่ อินทปญโญ) วัดเจดีย์คีรีวิหาร อ.ลับแล จ.อุตรดิตถ์

หลวงพ่อกล่อม พรมสโร วัดป่ากะพี้ อ.พิชัย จ.อุตรดิตถ์

หลวงพ่อฮวบ วัดสามัคยาราม ต.บ้านด่าน อ.เมือง จ.อุตรดิตถ์