เติมเต็มชีวิตและสังคม คือดอกเบี้ยธนาคารจิตอาสา
เมื่อเอ่ยถึงธนาคาร เราคงคิดถึงธุรกรรมทางการเงิน ไม่ว่าจะเป็นเงินฝาก เงินกู้ ที่ธนาคารและลูกค้าต่างได้ประโยชน์ซึ่งกันและกัน
ทว่า “ธนาคารจิตอาสา” กลับรับฝากเวลา (นับเป็นชั่วโมง) เพื่อประโยชน์ของบุคคลที่สาม (หน่วยงานหรือกลุ่มคนที่ต้องการอาสาสมัคร) โดยธนาคารและผู้ฝากเวลาไม่ได้ผลตอบแทนเป็นเม็ดเงินหรือสิ่งตอบแทนใดๆ
ธนาคารแห่งนี้จัดตั้งขึ้นเพื่อให้คนที่มีจิตอาสา แจ้งความจำนงขอฝากเวลาไว้ โดยยินดีสละเวลาส่วนตัวมาทำงานเพื่อสังคม ที่ตรงกับความต้องการ ความถนัด หรือจริตของตน โดยได้รับการสนับสนุนจากกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) มีเป้าหมายเพื่อส่งเสริมสุขภาวะทางปัญญา ผ่านงานจิตอาสาและจัดทำระบบธนาคารฝากเวลาที่เว็บไซต์ JitArsaBank.com เพื่อให้อาสาสมัครได้พบงานอาสาที่ตรงกับความถนัดและสนใจ พร้อมกับจัดการอบรมพัฒนาศักยภาพให้แก่องค์กรและอาสาสมัคร
กลุ่มงานที่ระบุไว้ในเว็บไซต์ อาทิ กู้ภัยและฟื้นฟูจากภัยพิบัติ หัตถกรรมและงานฝีมือ ศาสนา ศิลปวัฒนธรรม อาหารและโภชนการ สิ่งแวดล้อม ก่อสร้างและงานช่างเทคนิค เด็กและเยาวชน ไอที กฎหมาย สุขภาพและสาธารณสุข ฯลฯ เพื่อให้เห็นภาพชัดเจนขึ้นว่าธนาคารแห่งนี้ทำงานอย่างไร หากสนใจอาสาทำงานให้แก่สังคม มีงานใดบ้างที่ตรงกับความถนัดของเรา สัปดาห์นี้ “คม ชัด ลึก” ขอชวนไปสนทนากับ ธีระพล เต็มอุดม หัวหน้าโครงการธนาคารจิตอาสา และ ดร.สรยุทธ รัตนพจนารถ รองหัวหน้าโครงการ
๐ ทำไมมาทำธนาคารจิตอาสา
ดร.สรยุทธ - ส่วนหนึ่งอยากให้เมืองไทยมีอะไรเป็นรูปธรรม เป็นตัวชี้วัดว่าบ้านเรามีพื้นฐานการช่วยเหลือแบ่งปันกัน มีคนออกมาช่วยกันเยอะ แต่นับไม่ได้ บอกไม่ได้ว่าเท่าไร การทำเป็นธนาคารทำให้มีระบบเชื่อมโยงความต้องการที่บางทีมีลักษณะเฉพาะ เช่น องค์กรหนึ่งหาอุปกรณ์มือสองช่วยผู้สูงอายุ เช่น ไม้เท้า รถเข็น เตียง เขาต้องการอาสาสมัครมีรถ ขับรถกระบะได้เพื่อขนอุปกรณ์ไปเก็บ บางงานต้องการคนมาช่วยออกแบบห้องที่จะจัดกิจกรรมให้เด็ก ต้องการมัณฑนศิลป์ มีความรู้ด้านนี้ มีคนที่มีอย่างนี้เยอะ ต้องการนำความรู้ความสามารถของตนเองไปใช้ แต่โอกาสที่คนมีความสามารถเหล่านี้ไปเจองานที่เขาใช้ศักยภาพ หรือกว่าจะหาคนเหล่านี้เจอยากมาก การมีระบบธนาคารทำให้ความต้องการสองด้านมาเจอกัน ทำให้เป็นงานอาสาคุณภาพ ใช้ความสามารถของคนออกมาจริงๆ มีโอกาสทำงานที่หลากหลายด้วย
๐ ดีไซน์อย่างไรถึงมาเป็นรูปธนาคาร
ธีระพล- ไอเดียตั้งต้นอย่างที่ ดร.สรยุทธ บอก ถ้าอยากให้คนกับงานมาเจอกัน เราเห็นมาตลอดว่าคนสนใจอยากทำเพื่อคนอื่น ไม่รู้จะหาจากตรงไหน อีกอันที่เสริมกันได้ดีคือ เรารวบรวมความตั้งใจเหล่านี้ให้เป็นรูปธรรมมากขึ้น เป็นตัวเลขมีที่มาจากเรามีเวลาเท่ากัน 24 ชม. เราจะมีโอกาสเข้าถึงงานอาสาได้เท่าๆ กัน ไอเดียส่วนหนึ่งมาจากต่างประเทศด้วย ที่เขาทำธนาคารเวลาแต่เขาแลกเปลี่ยนเซอร์วิส ต่างคนให้กัน แต่สำหรับเราเป็นที่สะสมเป็นต้นทุนเวลาเพิ่มได้เรื่อยๆ
๐ ภาคีสมาชิกที่จับให้มาแมทช์กับคนฝากเวลา เป็นองค์กรที่ธนาคารทำงานด้วย
ธีระพล- หลายๆ องค์กรเป็นเพื่อนๆ องค์กรอาสาสมัคร หลายคนเคยทำงานด้วยกันมา หลายคนเป็นอาสาที่ร่วมงานตั้งแต่แรกจนจัดตั้งกลุ่มขึ้นมาเอง กลุ่มหลังเพิ่มขึ้นมาจากการทราบข่าว แค่เห็นเว็บไซต์แล้วสมัครตรงก็มี แต่เรามีการสกรีนโดยพูดคุยก่อน มีความน่าเชื่อถือ เข้าใจตรงกันระดับหนึ่ง จึงเปิดรับเข้ามา...
๐ แล้วคนทั่วไปที่ต้องการฝากเวลาเพื่ออาสาทำงาน
ธีระพล- สมัครผ่านอินเทอร์เน็ต เรามีเจ้าหน้าที่รับโทรศัพท์ให้คำปรึกษา (แต่ไม่ใช่รับสมัคร) เช่น บางคนทราบข่าวบางเรื่อง เช่น รับบริจาคกรอบแว่นตา ไม่แน่ใจว่าเรื่องนี้ยังมีอยู่หรือเปล่า...เราแนะนำได้ว่าปัจจุบันมีอยู่หรือไม่ จะเปิดเมื่อไร ให้คำปรึกษากับองค์กร เช่น ทำยังไงให้มีอาสาสมัครมาทำงาน การดูแลอาสาสมัคร ทำไงให้อาสาสมัครรู้สึกดี รักในประเด็นที่องค์กรนั้นขับเคลื่อนอยู่...แม้ว่าจบงานอาสานี้ไป ทุกคนยังรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของการแก้ปัญหาสังคม
ดร.สรยุทธ - ตอนนี้มีคนฝากเวลาสี่แสนหกหมื่นกว่าชั่วโมง เรายังไม่ได้เปิดตัวธนาคารเป็นทางการเลย เป็นแบบปากต่อปาก คิดว่าที่มีคนสนใจเยอะขึ้นเรื่อยๆ เพราะงานที่อยู่ในธนาคารเป็นงานคุณภาพ คนมาทำได้รับประสบการณ์ที่ดี แล้วกลับไปบอกต่อ งานที่มาเปิดบางงานไม่ได้ต้องการคนมาก บางงานต้องการคนเยอะ เช่น งานของพุทธิการับสมัครคราวละ 500 คน ไปทำงาน 1 วัน ปรากฏว่าสมัครมาเกิน (ประกาศล่วงหน้าประมาณ 3 สัปดาห์)
๐ พุทธิกาประกาศให้มาทำอะไร
ธีระพล- มีหลายชิ้นงาน เช่น เย็บผ้าอ้อมให้น้องพิการในสถานสงเคราะห์ เด็กจะน้ำลายไหล ตลอดเวลา ของพวกนี้ไปซื้อก็ได้ แต่การมาทำแบบนี้ทำให้อาสาสมัครได้ฟังว่าทำไมต้องทำ แล้วผ้าที่ทำเองผ่านการคัดเลือกอย่างดี ของที่ซื้ออาจไม่เหมาะกับการซับน้ำลาย...ยิ่งมีคนมาทำเยอะ แสดงว่ามีคนเข้าใจเรื่องของน้องที่อยู่ในสถานสงเคราะห์เยอะ บางอย่างเอาของมารีไซเคิล เกิดคุณค่าทางจิตใจ เช่น ทำถุงผ้าให้ผู้ป่วยใส่หนังสือธรรมะ...แต่สิ่งสำคัญที่เราต้องดูแลให้ดี อย่างที่แผนงานนี้ดูแลคือต้องมีการคุยกัน เมื่ออาสาสมัครมาถึงเขาจะบรีฟว่างานนี้สำคัญอย่างไร ให้อาสาสมัครรู้จักกัน พอเสร็จงานแต่ละกะก็กลับมาคุยกัน แบ่งปัน บอกความรู้สึก แสดงความขอบคุณกัน เหมือนกับเราไม่ได้แค่คนมาทำงาน แต่ทำให้เราได้เพื่อนใหม่ทุกวัน ทำให้คนมารู้จักสัมพันธ์กับงานที่ทำมากขึ้นทุกวันๆ
๐ คาดหวังอย่างไรกับโครงการนี้
ดร.สรยุทธ- ธงที่ตั้งไว้คือว่า คนในสังคมเห็นโอกาสที่จะออกมาทำอะไร ที่ช่วยทำให้สังคมดีขึ้น โดยใช้ศักยภาพที่มีอยู่ ไม่ว่าการขับรถเป็น ว่ายน้ำเป็น เย็บปักถักร้อย ที่สำคัญคือพอเขามามันเกิดโอกาสเรียนรู้ ทั้งวิธีการทำงาน เช่น การปลูกต้นไม้ เย็บถุงผ้า นวดเด็กทำไง และได้เรียนรู้องค์กรว่า ทำไมองค์กรที่เขาไปช่วยถึงได้มีกำลังใจมาทำงานสิ่งนั้น เห็นความเชื่อมโยงว่ากิจกรรมเล็กๆ ที่เขาทำ ส่งผลอย่างไรต่อสังคม การที่เขามานวดเด็ก ไม่ใช่ว่าเขามีความสุขแค่นั้น แต่สังคมเข้มแข็งอย่างไรกับการที่มีคนมานวดเด็ก เขาได้เรียนรู้ตนเอง มีความสุขง่ายๆ จากการให้ ได้ลดละอัตตา มาเป็นอาสาสมัครแล้วตัวเล็กลง เรียนรู้ที่จะฟังกัน ฝึกฝนตนเอง เป็นผู้ให้ มีความงดงามมากขึ้น ไม่ใช่ตัวใหญ่ขึ้นแล้วทะเลาะกัน นี่เป็นเป้าหมายของธนาคาร ตัวเลขจำนวนคนฝากไว้ในธนาคาร จำนวนชั่วโมงมันเดินไปเรื่อยๆ คนอยากวัดก็วัดได้ แต่เราไม่ได้อยากให้มีแค่ปริมาณ แต่อยากให้มีคุณภาพที่เดินไปพร้อมๆ กันด้วย
๐ การนับจำนวนเวลาที่ฝากไว้ เช่น คนแรกบอกมีเวลาให้ 10 ชม. คนที่สอง 20 ชม. รวมเป็น 30 ชม.
ธีระพล- ใช่ครับ เวลาที่ฝากทั้งหมดเราตั้งไว้ว่าฝากไม่เกินครั้งละ 100 ชม. เป็นเวลาที่ทุกคนฝากไว้รวมกัน จะหมดลงต่อเมื่อคนไปสมัครงานและทำงานอาสา เช่น สมัครไว้ 50 ชั่วโมง อีกสองเดือนต่อมาเจองานที่อยากทำใช้ไป 10 ชม. เวลาที่ฝากก็เหลือ 40 ชม. เมื่อคนมาฝากเวลาก็แจ้งไว้ว่าสนใจงานอะไร มีทักษะอะไร ความสนใจสำคัญมากเพราะตัวเว็บไซต์จะบอกงานได้ เช่น สนใจงานเด็ก สุนัข สิ่งแวดล้อม พอมีงานอาสามาเปิดในระบบ เป็นอาสาประเภทเหล่านี้ องค์กรแค่เปิดและตัวระบบจะเช็กให้ว่ามีอาสาคนไหนที่แมทช์บ้าง เช่น มี 2,500 คนที่ตรง เฉพาะคนกลุ่มนั้นจะได้รับอีเมลแจ้งไปว่ามีงาน ใครสนใจก็ไปสมัครเอง...
0 งานเปิดโลกอาสาเป็นอย่างไร
ธีระพล- เป็นอีกกิจกรรมหนึ่ง เราเห็นว่างานอาสาที่สังคมทั่วไปรับรู้ เป็นงานกลางๆ ที่ทุกคนพอจะรู้อยู่แล้ว เช่น ปลูกป่า แพ็กถุงยังชีพ ทำความสะอาด แต่ที่เขาไม่รู้คือมีงานอาสาที่ต่างไป บางงานมีลักษณะพิเศษ ไม่มีงานไหนเป็นงานฉาบฉวยหรือทำครั้งเดียวจบ ทุกงานมีคนในนั้นที่ทำเกาะติดเป็นประจำ เราจัดงานเปิดโลกอาสาทุกสองเดือน จัดเวทีพูดคุยให้คนได้เห็น อย่างครั้งที่แล้วจัดงานเรื่องการอ่าน มีงานอาสาทำเกี่ยวกับการอ่าน มีเพื่อนจากสามองค์กร มาพูดให้ฟังว่าเจอปัญหาอะไรถึงทำงานนี้ การทำงานมีความท้าทายตรงไหน ได้แรงใจจากไหน และเชิญชวนให้คนฟังมาทำงานอาสากับเขา เช่น อ่านหนังสือให้คนตาบอด ทำห้องสมุดหนังสือให้คนด้อยโอกาส เช่น ทำตู้เย็น (ใส่หนังสือ) ให้วินมอเตอร์ไซค์ คือการเข้าถึงหนังสือไม่ยาก แต่ที่เหมาะกับคนและวัย เป็นสิ่งที่เขาสนใจ..
อาสาหลายคนทำงานคัดหนังสือ ไม่ง่ายนะครับ เพราะต้องใช้ความรู้ความเข้าใจด้วย เช่น หนังสือแบบไหนเหมาะกับเด็กวัยไหน...หลายองค์กรเข้าใจว่าการรับอาสาคือรับคนที่อยากมาช่วยงานเราจบ
๐ ไม่ได้คิดว่าคนทำงานอาสาจะได้อะไรกลับไป
ธีระพล- ใช่ ที่เราทำงานเพิ่มคือจัดเทรนนิ่งให้องค์กรรู้ว่า การดูแลอาสาไม่ใช่มอบหมายงานที่ดี แบ่งงานให้ชัดเจนเท่านั้น แต่เป็นกระบวนการให้เขาเจอประสบการณ์อะไรบางอย่าง เกิดการเรียนรู้ เข้าใจตนเอง เข้าใจปัญหา เห็นความเชื่อมโยงในความสัมพันธ์ระหว่างตนเองกับสังคม...อาสาบางคนจะรู้สึกงงว่ากิจกรรมอะไร แต่เขารู้สึกดีและแตกต่าง เช่น ให้ไปช่วยเก็บขยะ นัด 9 โมงมาถึงแบ่งงานกัน 11.30 นัดเจอกันตรงนี้ เราก็เอามาแพ็กถุงรวมกันแล้วแยกย้ายกลับ กับอีกวิธีคือมาถึง 9 โมงแนะนำตัวว่าใครชื่ออะไร คนทำคิดยังไง เชื่อยังไง ระหว่างเก็บขยะอย่าลืมส่งยิ้มให้กันด้วย
หากเห็นชาวบ้านหรือคนแถวนี้ก็บอกว่า พี่ครับทิ้งลงถุงนี้ก็ได้ ตอนจบก็มาคุยกันอีกครั้ง ใครเจอประสบการณ์ดีๆ ได้เล่าว่าก่อนมาตั้งเป้าอะไรไว้ ทำงานเสร็จเกิดอะไรขึ้น ทุกคนก็ขอบคุณ แลกเบอร์โทรกันแล้วกัน ง่ายๆ แค่นี้ ให้เวลาเพิ่มขึ้นนิดหนึ่ง ทำให้คนได้ใกล้ชิดกัน เห็นความสำคัญของงานที่ตนเองทำ ไม่ใช่เก็บขยะเพื่อเก็บขยะ แต่เพื่อเหนี่ยวนำสังคมให้เห็นความสำคัญของการดูแลพื้นที่นั้น...
๐ มาทำงานลักษณะนี้ต้องคำนึงเรื่องรายได้เลี้ยงตัวเองหรือองค์กรไหม
ธีระพล- มีบ้างครับ ไม่ได้เดือดร้อน ที่ได้รับสนับสนุนจาก สสส. พอบริหารจัดการได้ ให้งบฯ ปีต่อปี งานอื่นมีบ้าง เช่น หลายองค์กรให้เราจัดฝึกอบรมให้ อันนั้นเป็นรายได้พิเศษต่างหาก...จะว่าไปเราสองคนโชคดีมากนะครับ เพื่อนที่อยู่ในแวดวงใกล้ๆ กันก็โชคดีมาก ต่อให้เราไม่ได้ลงทุนอะไรเลย ก็ไม่อดตายง่ายๆ ครอบครัวเพื่อนฝูงญาติมิตร โอกาสทางการศึกษาก็มี บางครั้งคิดมากเตรียมมากไป ก็เป็นภาระผูกมัดโดยไม่รู้ตัว แต่การไม่ห่วงอะไรเลยเป็นไปไม่ได้ ผมคิดว่าการมองถึงเรื่องอะไรที่สร้างพลังใจ เรื่องที่ทำให้เรามีความสุขกับการใช้ชีวิต เป็นต้นทุนที่เราต้องคำนวณไว้เหมือนกันนอกจากการเงิน
ดร.สรยุทธ- ของผมไม่เหมือนชาวบ้าน อยากขยับไปใกล้ที่ที่เราจะได้ฝึกฝนอยู่กับตนเองเยอะหน่อย เลยลาออกจากงานประจำตำแหน่งอาจารย์มหาวิทยาลัยซึ่งค่อนข้างมั่นคงมาก เป็นข้าราชการรุ่นสุดท้ายของมหิดล ขายบ้าน ขายรถ ว่าจะไปอยู่ต่างจังหวัด พยายามจะให้มันประสานไปด้วยกันเรื่องการฝึกฝนตนเอง ทำอย่างไรให้การใช้ชีวิตดูแลโจทย์ของตนเอง และโจทย์ของสังคมไปในเวลาเดียวกัน ไม่ได้รู้สึกว่าตัวเองต้องมีอะไร ต้องเก็บอะไรเยอะ...คิดว่าชีวิตที่เข้าถึงความสุขที่แท้ไม่ต้องใช้เงินเยอะ ไม่รู้สึกว่าเงินเป็นเงื่อนไขที่ขาดไม่ได้ ของการที่จะเข้าถึงความสุขที่แท้...ตอนนี้มีความสุขมากได้ทำงานสิ่งที่เราเชื่อ มีศรัทธา ตอบคำถามตัวเองได้ว่าทำสิ่งนี้ทำไม มีความสุขทุกวันที่ได้ตื่นมาทำงานนี้ เป็นชีวิตที่เพอร์เฟกต์ มีความสุขมาก
ขอบคุณ : http://www.komchadluek.net
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น