คริสตีส์เปิดประมูล “เพชรสีส้ม” เม็ดใหญ่ที่สุดในโลก-ฟันราคาร่วม “พันล้านบาท”
เพชรสีส้ม "ดิ ออเรนจ์" ซึ่งขุดพบที่เหมืองในแอฟริกาใต้ มีน้ำหนักถึง 14.82 กะรัต และสถาบันอัญมณีศาสตร์แห่งอเมริกา (GIA) ได้จัดเรตติ้งให้อยู่ในระดับ “fancy vivid” ซึ่งถือว่ายอดเยี่ยมที่สุดในกลุ่มเพชรสี เอเอฟพี - เพชรสีส้มเม็ดใหญ่ที่สุดเท่าที่โลกเคยพบมาถูกนำออกประมูลที่นครเจนีวาเมื่อวานนี้ (12) โดยผู้ชนะเสนอราคาให้สูงถึง 31.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 995 ล้านบาท สถาบันคริสตีส์ได้จัดการประมูลที่โรงแรมหรูแห่งหนึ่งในนครเจนีวา โดยมีผู้สนใจเข้าร่วมชมการประมูลกว่า 200 คน ทั้งนี้ ราคาประมูล 29 ล้านฟรังก์ หรือ 31.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ยังไม่รวมภาษีและค่าคอมมิชชัน บุรุษซึ่งคว้าเพชรหายากเม็ดนี้ไปครองเดินออกจากห้องประมูลไปอย่างเงียบๆ ท่ามกลางเสียงปรบมือ โดยสถาบันคริสตีส์ก็ไม่เปิดเผยชื่อเสียงเรียงนามของเขา เพชรสีส้มซึ่งขุดพบที่เหมืองในแอฟริกาใต้เม็ดนี้มีน้ำหนักถึง 14.82 กะรัต และสถาบันอัญมณีศาสตร์แห่งอเมริกา (GIA) ได้จัดเรตติ้งให้อยู่ในระดับ “fancy vivid” ซึ่งถือว่ายอดเยี่ยมที่สุดในกลุ่มเพชรสี เพชรสีส้มบริสุทธิ์หรือที่เรียกกันว่า “เพชรไฟ” นั้นหาได้ยากมาก และนานๆ ครั้งจึงจะเล็ดรอดออกสู่เวทีประมูล เม็ดใหญ่ที่สุดเท่าที่เคยมีการประมูลมาก็น้ำหนักไม่เกิน 6 กะรัต เดวิด วอร์เรน ผู้อำนวยการฝ่ายอัญมณีนานาชาติของสถาบันคริสตีส์ ระบุว่า เพชร “ดิ ออเรนจ์” เม็ดนี้ “เป็นเพชรสีส้มเม็ดใหญ่ที่สุดในโลก” และการได้ครอบครองเพชรสีส้มที่น้ำหนักกว่า 14 กะรัตถือว่า “ไม่ธรรมดา” ในปี 1990 เพชรสีเหลืองอมส้ม “Graff Orange” น้ำหนัก 4.77 กะรัต เคยถูกประมูลไปด้วยราคา 3.92 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ต่อมาเพชรสีส้มสด “Pumpkin” น้ำหนัก 5.54 กะรัต ก็ถูกคว้าออกจากเวทีประมูลไปด้วยสนนราคา 1.32 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปี 1997 ก่อนการประมูล สถาบันคริสตีส์ได้ประเมินราคาเพชร “ดิ ออเรนจ์” ไว้ระหว่าง 17-20 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ด้วยความที่เพชรสีหาพบได้ยาก คนสมัยก่อนจึงมองว่าเป็น “ของแปลก” และปัจจุบันนี้เพชรสีก็มีราคาต่อกะรัตแพงยิ่งกว่าเพชรขาวบริสุทธิ์ไร้ตำหนิเสียอีก วอร์เรนอธิบายว่า สาเหตุที่เพชรสีมีราคาแพงเพราะเกิดจาก “ความประหลาด” ของธรรมชาติ แรกเริ่มกำเนิดเป็นเพชรสีขาว ก่อนจะถูกอนุภาคหรือมลทินในดินทำให้เปลี่ยนแปลงเป็นสีอื่น เช่น เพชรสีเขียวเกิดจากการได้รับรังสี, เพชรสีน้ำเงินเกิดจากการปนเปื้อนธาตุโบรอน และเพชรสีเหลืองซึ่งในบางกรณีอาจกลายเป็นสีส้ม เกิดจากการปนเปื้อนธาตุไนโตรเจน ขอบคุณ : http://www.manager.co.th |
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น