เปิดแผนขยายผล'ขยี้แผล' พท.-ปชป.ชิง'เจ๊งน้อย'คดีที่มาส.ว.






              หลายฝ่ายเชื่อว่า ทางลงที่ดีที่สุดของ “ม็อบราชดำเนิน” ภายใต้การนำของ “สุเทพ เทือกสุบรรณ” อดีตส.ส.สุราษฎร์ธานี พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ซึ่งต่อสู้บนถนนมากว่าครึ่งเดือน อยู่ที่คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญในวันที่ 20 พฤศจิกายนนี้ ในคดีร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ หมวดที่มา ส.ว. เข้าข่ายล้มล้างการปกครองและขัดต่อรัฐธรรมนูญตามมาตรา 68 หรือไม่

              หลังจาก “สุเทพ” ปั่นอารมณ์มวลชนจนพุ่งพล่าน ยกระดับข้อเรียกร้องจากคว่ำ “กฎหมายนิรโทษกรรมฉบับยกเข่ง” เป็นโค่นล้ม “รัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร”

              ชะตากรรมของทั้งพรรคเพื่อไทย (พท.) และปชป. จึงคล้ายรอกำหนดอนาคตโดยศาลรัฐธรรมนูญ นั่นทำให้นักการเมืองจาก 2 ขั้วส่งสัญญาณขน “ม็อบ” ไปหน้าศาลรัฐธรรมนูญ ถนนแจ้งวัฒนะ ในวันดังกล่าว หมายกดดันให้ศาลมีคำตัดสินในทางเป็นคุณแก่ฝ่ายตน

              ตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมา แกนนำ พท. และปชป. ได้ตั้งวงวิเคราะห์แนวทางคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ พร้อมเตรียมมาตรการรับมือ เนื่องจากทั้ง 2 พรรคเชื่อว่า โอกาสที่ศาลจะวินิจฉัยว่า “ไม่ขัดรัฐธรรมนูญ” แทบไม่มี มีแต่จะ “เจ๊งมาก” หรือ “เจ๊งน้อย” เท่านั้น โดยอาจออกมาได้ 3 แนวทาง ดังนี้

              หนึ่ง ชี้ว่าร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฯ ขัดต่อรัฐธรรมนูญ และมีคำสั่งให้เพิกถอนการกระทำการ นั่นหมายความว่า ต้องยุติการบังคับใช้ร่างรัฐธรรมนูญดังกล่าว ซึ่งนายกฯ ได้ทูลเกล้าฯ ถวาย เพื่อทรงลงพระปรมาภิไธยไปแล้ว

              สอง ชี้ว่าร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฯ ขัดต่อรัฐธรรมนูญ และมีคำสั่งให้เพิกถอนการกระทำการ พร้อมดำเนินการกับ 312 ส.ส.และ ส.ว.ที่ร่วมลงชื่อเสนอญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญฯ นั่นหมายความว่า ต้องยุติการบังคับใช้ร่างรัฐธรรมนูญดังกล่าว จากนั้นผู้เกี่ยวข้องอาจยื่นถอดถอนสมาชิกรัฐสภา 312 คน และยื่นดำเนินคดีอาญากับส.ส.ที่เสียบบัตรแทนกันระหว่างการลงมติในวาระ 3

              และสาม ชี้ว่าร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฯ ขัดต่อรัฐธรรมนูญ และเข้าข่ายกระทำเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจการปกครองประเทศ โดยวิธีการซึ่งไม่ได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ จึงมีคำสั่งให้ยุบพรรคการเมืองที่มีส.ส.ร่วมลงชื่อเสนอญัตติ พร้อมเพิกถอนสิทธิทางการเมืองคณะกรรมการบริหารพรรค 5 ปี

              นั่นหมายความว่า จะมี 4 พรรครัฐบาลที่ถูกยุบ มีนักการเมืองที่เป็นคณะกรรมการบริหารพรรค 55 คน ถูกตัดสิทธิการเมือง ประกอบด้วย เพื่อไทย 19 คน ชาติไทยพัฒนา 11 คน ชาติพัฒนา 17 คน และพลังชล 8 คน โดยในจำนวนนี้เป็นรัฐมนตรี 4 คน ได้แก่ นายจารุพงศ์ เรืองสุวรรณ หัวหน้าพรรคเพื่อไทย นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย นายปลอดประสพ สุรัสวดี รองหัวหน้าเพื่อไทย และนายสนธยา คุณปลื้ม หัวหน้าพรรคพลังชล

              อย่างไรก็ตาม แกนนำ พท. และปชป. ให้น้ำหนักตรงกันว่า ศาลรัฐธรรมนูญน่าจะตัดสินออกมาใน “แนวทางที่ 1” หรือ “แนวทาง 3” ทว่าแนวทางที่ทั้ง 2 พรรคอยากเห็นที่สุดคือ “แนวทางที่ 1” ด้วยเหตุผลคนละมุม และเตรียมขยายผลการเมืองคนละด้าน

              ส.ส.อาวุโสของ ปชป.ที่ไปร่วมชุมนุมที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยรายหนึ่ง ระบุว่า หากศาลรัฐธรรมนูญชี้ว่าขัดต่อรัฐธรรมนูญ และมีคำสั่งให้เพิกถอนการกระทำการ ปชป.จะเปิดเกมบี้นายกฯ ให้รับผิดชอบทันที ฐานกระทำการมิบังควร ทำให้เกิดการระคายเคืองเบื้องพระยุคลบาท

              “ส.ส.ปชป.หลายคนเคยส่งเสียงเตือนไปแล้วตั้งแต่ต้นแล้วว่า ให้นายกฯ ชะลอการนำร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญขึ้นทูลเกล้าฯ แต่นายกฯ กลับเร่งรัดผิดปกติ ลงมติวันนี้ พรุ่งนี้นำขึ้นทูลเกล้าฯ เลย เมื่อเกิดปัญหาขึ้น คุณยิ่งลักษณ์จึงไม่อาจปฏิเสธความรับผิดชอบได้ ต้องแสดงความรับผิดชอบด้วยการลาออกจากตำแหน่ง เพราะขณะนี้มีญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจคาอยู่ นายกฯ ไม่สามารถยุบสภาได้ หากนายกฯ ไม่ยุบสภา การเมืองก็จะเข้าสู่ภาวะเดตล็อกทันที” เขากล่าว

              ขณะที่แกนนำคณะทำงานฝ่ายมกฎหมาย พท. กล่าวโต้แย้งว่า ถึงอย่างไร “ยิ่งลักษณ์” ต้องนำร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฯ ขึ้นทูลเกล้าฯ ภายใน 20 วันตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้ และไม่มีทางที่ศาลรัฐธรรมนูญจะพิจารณาคดีนี้ได้เสร็จก่อน 20 วัน นายกฯ มีหน้าที่ต้องปฏิบัติตามกฎหมาย จนกว่าจะมีคำวินิจฉัยเป็นอื่น ดังนั้นถ้าออกแนวทางที่ 1 ผลกระทบจะไม่มาก มั่นใจว่าพรรคอธิบายได้ อีกทั้ง “ยิ่งลักษณ์” ก็ไม่ได้ร่วมลงชื่อเสนอกฎหมายนี้ ไม่ได้ร่วมลงมติด้วย

              เขากล่าวอีกว่า ส่วน “แนวทางที่ 2” โอกาสเกิดขึ้นน้อย เพราะการตรากฎหมายเป็นเรื่องของฝ่ายนิติบัญญัติ ศาลรัฐธรรมนูญไม่มีอำนาจก้าวล่วงมาวินิจฉัยเรื่องกระบวนการ โดยเฉพาะที่ฝ่ายค้านยกประเด็นส.ส.เสียบบัตรแทนกันระหว่างลงมติ

              “แต่สิ่งที่พรรคเป็นกังวลคือออกแนวทางที่ 3 คือการทำให้ได้มาซึ่งอำนาจปกครองประเทศด้วยวิธีนอกรัฐธรรมนูญ โดยอ้างเรื่องสภาผัว-สภาเมีย และตัดสิทธิคณะกรรมการพรรคด้วย เพราะมีส.ส. 4-5 คนที่เป็นกรรมการบริหาร พท.ไปร่วมลงชื่อเสนอญัตติกับสมาชิก 312 คน เราวิเคราะห์ไม่ออก อะไรก็เกิดขึ้นได้” แหล่งข่าวกล่าว

              เขาบอกด้วยว่า อย่างไรก็ตามหากศาลตัดสินให้ยุบพรรค จะเกิดกระแสตีกลับไปทั้งที่ศาลรัฐธรรมนูญ ม็อบ และปชป. ทันทีว่า “ตุลาการภิวัฒน์” มาอีกแล้วใช่หรือไม่ จากที่คนเสื้อแดงไม่มีประเด็นในการเคลื่อนไหว เพราะการจัดชุมนุมเพื่อปกป้องรัฐบาลมันไม่มีน้ำหนักเพียงพอ คนเสื้อแดงก็จะมีความชอบธรรมในการออกมาทันที และออกมากันมากด้วย ซึ่งอาจเกิดการปะทะกันระหว่างมวลชน 2 ฝ่าย เพราะในคดีนี้ศาลได้รวม 4 คำร้องวินิจฉัยเป็นคดีเดียว ซึ่งในส่วนของคำร้อง ส.ส.ปชป. 2 คำร้องไม่ได้ยื่นขอให้ยุบพรรค มีแต่คำร้องของส.ว. 2 คำร้องที่ขอให้ยุบพรรค เพราะฝ่ายค้านก็ตะขิดตะขวงใจที่จะยื่นคำร้องแบบนั้น

              นอกจากการกะเก็งแนวคำวินิจฉัยของศาลแล้ว แกนนำทั้ง 2 พรรคยังพยายามหยั่งเสียงของ 9 ตุลาการด้วย โดยนำแนวคำวินิจฉัยในอดีตมาดู ทั้งนี้แกนนำ พท.ประเมินว่ามีตุลาการ 3 คนที่น่าจะถอนตัวจากการชิงชัยชนะของ 2 ขั้วการเมืองคือ “ชัช ชลวร-บุญส่ง กุลบุปผา-อุดมศักดิ์ นิติมนตรี” ตุลาการเสียงข้างน้อยที่เคยวินิจฉัยว่าศาลรัฐธรรมนูญไม่มีอำนาจรับคำร้องนี้ คำร้องไม่มีมูล ฯลฯ ดังนั้นที่ต้องรอลุ้นคือ 6 เสียงที่เหลือ ทว่าในรายของ “ทวีเกียรติ มีนะกนิษฐ” เพิ่งเข้าไปเป็นตุลาการหน้าใหม่ ไม่ได้ดูสำนวนแต่ต้น โดยสปิริตควรงดออกเสียง หรือถอนตัวจากการพิจารณาคดี ก็เหลือเพียง 5 เสียงให้ต้องวัดดวง

              หากคำวินิจฉัยออกมาในแนวทางที่ทำให้ “ม็อบเสื้อดำ” ของ “สุเทพ” อารมณ์เย็นลง นั่นหมายความว่าพื้นที่ถนนจะถูกจับจองด้วย “ม็อบเสื้อแดง” นับจาก 20 พฤศจิกายน!!!




ขอบคุณ  :  http://www.komchadluek.net

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

หลวงพ่อฮวบ วัดสามัคยาราม ต.บ้านด่าน อ.เมือง จ.อุตรดิตถ์

หลวงพ่อกล่อม พรมสโร วัดป่ากะพี้ อ.พิชัย จ.อุตรดิตถ์

พระครูธรรมฐิติวงศ์คีรีเขตร (บุญใหญ่ อินทปญโญ) วัดเจดีย์คีรีวิหาร อ.ลับแล จ.อุตรดิตถ์