ยิ่งเร่งยิ่งพัง!



                            

ภายหลังการประชุมร่วมรัฐสภาลงมติให้ความเห็นชอบร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเรื่องที่มาของสมาชิกวุฒิสภาวาระ 3 เสร็จสิ้นไปเมื่อวันที่ 28 ก.ย.ที่ผ่านมา โดย น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เตรียมการจะนำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายในวันอังคารที่ 1 ต.ค.นี้ กลายเป็นเรื่องน่ากังขาถึงการเร่งรีบของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ซึ่งทางหนึ่งร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ก็ยังอยู่ในการพิจารณาชั้นศาลรัฐธรรมนูญ และเหตุใดในทางปฏิบัติ รัฐบาลถึงไม่รอคำตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญ ที่อาจมีท่าทีใดๆ ออกมา
    การเร่งรีบนำร่างรัฐธรรมนูญขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ นำมาซึ่งความเคลือบแคลงว่าเหตุใดนายกรัฐมนตรีจึงเร่งรีบดำเนินการ ทั้งที่หากจะทอดระยะเวลาในการดำเนินการขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายภายในวันที่ 18-20 ตุลาคม ก็เป็นเรื่องไม่เสียหายแต่ประการใด และยังอยู่ในกำหนดระยะเวลาตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 150 ที่ต้องทูลเกล้าฯ ถวายภายใน 20 วันหลังได้รับเรื่อง 

                     

    ขณะเดียวกันข้อกังขาของนายคำนูณ สิทธิสมาน สว.สรรหา ก็ไม่ควรปล่อยผ่านเลย โดยเขาระบุว่า ร่างฯ ฉบับวิปรัฐบาลไม่ตรงกับสำเนา คือตัวร่างฯ ที่นายอุดมเดช รัตนเสถียร ประธานวิปรัฐบาลในขณะนั้น และคณะยื่นต่อสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร เมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2556 เลขรับ 20/2556 เวลา 13.05 น. มีข้อความในสาระสำคัญไม่ตรงกับตัวร่างฯ ฉบับสำเนาที่สมาชิกรัฐสภาได้รับในการประชุมร่วมกันของรัฐสภา เมื่อวันที่ 1 เมษายน 2556 ระเบียบวาระที่ 5.1 ทั้งๆ ที่ระบุเลขรับตรงกันคือ 20/2556 และวันที่รับก็ตรงกันคือ 20 มีนาคม 2556

    โดย 1.ข้อความในส่วนของหลักการ ร่างฯ สำเนามีการเพิ่มคำว่า 'มาตรา 116 วรรคสอง' เข้าไป 2.ข้อความในมาตรา 5 แก้ไขมาตรา 115 ข้อความในมาตรา 115 (9) แตกต่างกัน โดยร่างฯ สำเนามีการเติมประโยค '...ซึ่งมิใช่สมาชิกวุฒิสภา' เข้าไป 3.ในร่างฯ สำเนามีการเติมมาตรา 6 ใหม่แทรกเข้าไป เป็นการแก้ไขมาตรา 116 วรรคสอง เติมคำว่า '...ซึ่งมิใช่สมาชิกวุฒิสภา' เข้าไป ไม่ปรากฏในรายงานของสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรว่าคณะผู้เสนอร่างฯ ได้มีการยื่นขอแก้ไขร่างฯ หรือไม่ อย่างไร

    ซึ่งนั่นหมายถึงร่างฯ แรกที่ยื่นเมื่อ 20 มีนาคม ตรงหลักการจะไม่มีมาตรา 116 วรรคสอง ส่วนเอกสารร่างฯ ฉบับสำเนาที่จัดทำโดยสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรที่แจกสมาชิกในวันพิจารณา 1 เมษายน หลักการจะมีมาตรา 116 วรรคสองขึ้นมา ทำให้การแก้ไขให้ ส.ว.เลือกตั้งชุดปัจจุบันได้ลงสมัครได้ต่อเนื่องอย่างสมบูรณ์ ถ้ามีเพียงเท่าที่ปรากฏในร่างฯ แรก คือวันที่ 20 มีนาคม 2556 การแก้ไขจะไม่มีผลสมบูรณ์ หรืออาจทำให้เกิดข้อถกเถียงทางกฎหมายได้

          

    ข้อกังขาเบื้องต้นของนายคำนูณมิใช่เรื่องที่รัฐบาลจะสามารถผ่านเลยไปได้ และรัฐบาลต้องทำให้ถูกต้อง ชัดเจน โดยใช้เวลาที่มีอย่างรอบคอบ ให้ทุกอย่างตกผลึก โดยไม่จำเป็นต้องเสียมารยาททางการเมือง และไร้ความชอบธรรมดังที่ปฏิบัติในพฤติกรรมข้างต้น เหลือแต่ว่านี่คือนัยแห่งการท้าทาย ที่ทักษิณ ชินวัตร เลือกส่งสัญญาณ

    ขณะเดียวกันในฟากของ ส.ส.ฝั่งรัฐบาลพรรคเพื่อไทย ก็ท้าทายรายวันศาลรัฐธรรมนูญ ทั้งๆ ที่ไม่ควรออกมาแสดงพฤติกรรมกดดันการทำหน้าที่ของศาลรัฐธรรมนูญ ควรเปิดโอกาสให้ศาลรัฐธรรมนูญได้วินิจฉัยได้อย่างเต็มที่ ซึ่งในระยะเวลาใกล้ๆ เชื่อแน่ว่าศาลรัฐธรรมนูญน่าจะมีคำวินิจฉัยออกมา หรือทางออกอย่างใดอย่างหนึ่ง

    ในทางหนึ่ง เพื่อลดความขัดแย้ง และสร้างความเข้าใจร่วม ศาลรัฐธรรมนูญควรออกมาแถลงต่อสังคม ไขข้อข้องใจในกระบวนการ ขั้นตอน ระยะเวลาในการวินิจฉัย โดยเป็นที่เข้าใจกันว่าในกระบวนการวินิจฉัยต้องใช้ระยะเวลานาน กรณีการวินิจฉัยเรื่องนี้จำเป็นต้องเป็นเรื่องเร่งด่วนหรือไม่ 

    สุภาษิตไทย คำคุ้นหู อย่างดูช้างให้ดูที่หาง เทียบในทางการเมืองของไทยขณะนี้ว่า พฤติกรรมเร่งรีบนำร่างทูลเกล้าฯ ถวายของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ส่อชัดไปถึงพี่ชายของเธอ ทักษิณ ชินวัตร ที่กิริยาเหิมเกริมอำนาจนับวันยิ่งโผล่เพิ่มมากขึ้นจนใกล้เสียสติ.


ขอบคุณ  :  http://www.thaipost.net
   

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

หลวงพ่อฮวบ วัดสามัคยาราม ต.บ้านด่าน อ.เมือง จ.อุตรดิตถ์

หลวงพ่อกล่อม พรมสโร วัดป่ากะพี้ อ.พิชัย จ.อุตรดิตถ์

พระครูธรรมฐิติวงศ์คีรีเขตร (บุญใหญ่ อินทปญโญ) วัดเจดีย์คีรีวิหาร อ.ลับแล จ.อุตรดิตถ์