ยกเครื่อง ประชาธิปัตย์ หวังเป้า 17 ล้านเสียง

           
                ยกเครื่อง

ภารกิจใหญ่ของ “ประชาธิปัตย์” ไม่ได้มีเพียงแค่ทำหน้าที่ฝ่ายค้านตรวจสอบการบริหารของรัฐบาลเท่านั้น แต่อีกด้านหนึ่งยังต้องเตรียมความพร้อมกับการเลือกตั้งที่ไม่รู้ว่าจะเกิดขึ้นเมื่อไหร่ ล่าสุดความพยายามผลักดันกระบวนการปฏิรูปพรรคที่เวลานี้เริ่มเห็นเป็นรูปเป็นร่างมากขึ้น ซึ่งจะต้องรอดูว่านำไปสู่การปฏิบัติที่ได้ผลมากน้อยแค่ไหน
 
อภิสิทธิ์ เปิดเผยถึงความคืบหน้าว่า เตรียมนำเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการบริหารพรรคในวันที่ 8 ต.ค.นี้ จากนั้นก็จะส่งต่อเข้าที่ประชุมร่วมกรรมการบริหารพรรคและ สส.พรรคพิจารณา ถ้าผ่านความเห็นชอบก็ส่งต่อไปยังคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ให้รับรองโครงสร้างใหม่และใช้ได้เลย
โดยสาระสำคัญมี 3 ระดับ คือ

1.มีองค์กรที่เป็นกรรมการพรรค ซึ่งไม่ใช่กรรมการบริหาร แต่ประกอบไปด้วยตัวแทนของทุกฝ่าย สส. อดีตผู้บริหารของพรรค และคิดไปถึงยุวประชาธิปัตย์ สตรีของพรรค สาขาพรรคท้องถิ่นที่ลงในนามพรรค เหมือนให้เขามาทำหน้าที่เหมือนกำกับดูแลการทำงานของกรรมการบริหารพรรค

2.ขณะที่กรรมการบริหารพรรคก็จะมีความเบ็ดเสร็จกระชับในการขับเคลื่อนที่รวดเร็วขึ้น และมีโครงสร้างเพิ่มขึ้นมาโดยเฉพาะเป็นการรับมือการบริหารพื้นที่ในการเลือกตั้ง ซึ่งจะมีชุดต่างหากขึ้นมาปฏิบัติการในกลุ่มเขตเลือกตั้งเป็นโซนๆ โดยชุดนี้จะขึ้นตรงกับหัวหน้าพรรคและเลขาธิการพรรค และ

3.การปรับปรุงสำนักงาน   อภิสิทธิ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ในส่วนของรองหัวหน้าพรรครับผิดชอบแต่ละภาคนั้น ทางคณะทำงานปฏิรูปพรรคเสนอมาไม่ให้มี แต่ทางกรรมการบริหารบางท่านเสนออยากให้มีแต่ต้องไม่เหมือนเดิม คืออะไรที่มอบไปที่โซนแล้ว ต้องไปที่โซน รองหัวหน้าจะดูแค่ภาพรวมยุทธศาสตร์
“ส่วนหนึ่งเหตุที่ต้องปรับโครงสร้างเพราะต้องยอมรับว่าการไปคาดหวังให้คนหนึ่งคนแบกทั้งภาคเป็นไปไม่ได้ อย่างอีสานแค่เขาสามารถรักษาบางพื้นที่อย่างอุบลราชธานี อำนาจเจริญได้ หรือที่ยโสธร ซึ่งเคยได้มานั้น ทำแค่นี้เขาก็สาหัสแล้ว จะไปคาดหวังว่าจะต้องบุกอุดรธานี โคราช บุรีรัมย์ และต้องดูแลพื้นที่เดิมก็คงยาก จึงต้องมาปรับการจัดการตรงนี้”

สำหรับการประเมินคะแนนของพรรคเวลานี้ อภิสิทธิ์ อธิบายว่า จากที่ได้ติดตามมาตลอด แม้จะไม่ลดลง แต่ก็เพิ่มขึ้นไม่เร็วพอ ซึ่งหากจะดูจากการเลือกตั้งซ่อมที่ผ่านมาเราได้คะแนนใกล้เคียงเดิม โดยได้เพิ่มมาสองพื้นที่ แต่ก็ยังไม่พอ ยังต้องเร่งโตขึ้น สำหรับพื้นที่ซึ่งฝ่ายค้านจะไปช่วงชิงมาก็อยู่ที่ภาคเหนือตอนล่าง และพื้นที่ชี้ขาดจะเป็นพื้นที่ภาคกลาง

จุดอ่อนอย่างพื้นที่ “อีสาน” อภิสิทธิ์ ชี้แจงว่า “ไม่ได้หมายความว่าเราไม่พยายามเข้าไป เราเข้าไปแต่โจทย์ยากกว่า โดยอีสานก็ยากกว่าเหนือ เหนือตอนบนยากกว่าเหนือตอนล่าง เหนือตอนล่างยากกว่าภาคกลาง ภาคกลางยากกว่ากรุงเทพฯ กรุงเทพฯ ยากกว่าภาคใต้ เราไล่เรียงแบบนี้ ขณะที่เขาก็ไล่เรียงมาจากอีกทาง”

อภิสิทธิ์ กล่าวว่า เป้าหมายคือต้องทำให้เติบโตขึ้นเรื่อยๆ จากเดิม ปี 2544 ไทยรักไทย 11 ล้านเสียง ปชป. 7 ล้านเสียง 2548 เขาขยับไป 19 ล้านเสียง แต่ ปชป.ยังอยู่ที่ 7 ล้านเสียงเท่าเดิม จนมาปี 2550 ที่ได้ 12 ล้านเสียงเท่ากัน ก่อนที่ 2554 เขาจะกระโดดไป 15 ล้านเสียง และ ปชป.ถอยลงมา 11 ล้านเสียง ซึ่งเป้าต่อไปคือต้องทำให้ได้ 1617 ล้านเสียง

“หากมองเฉพาะพื้นที่ กทม. แม้ผลการเลือกตั้งที่ผ่านมาจะเห็นว่าพรรคเข้มแข็งขึ้น แต่ก็ถึงจุดที่มีความเสี่ยง เพราะปกติคนกรุงเทพฯ เปลี่ยนบ่อย พอมาถึงจุดนี้ต้องระวังตัว เราบริหาร กทม.มาเกือบ 10 ปี เราก็ต้องถูกตรวจสอบ ถูกท้าทายมากขึ้นว่า 10 ปี เราจะทำให้เปลี่ยนแปลงได้อย่างไร ส่วน สส.เขตที่ยังไม่ได้ก็ไม่ง่าย หรือบางเขตอย่างเขตดอนเมืองของ แทนคุณ จิตต์อิสระ ที่ได้มาก็ไม่ง่ายที่จะรักษา ก็ต้องทำงานกันหนัก เราแข็งขึ้นมาจริง ในรอบ 10 ปี แต่จะแข็งขึ้นเรื่อยไปหรือเปล่าก็ต้องปรับปรุงการทำงาน”

ส่วนจะนำโมเดล กทม.ไปใช้พื้นที่อื่นหรือไม่นั้น อภิสิทธิ์ กล่าวว่า แต่ละพื้นที่ต้องใช้ยุทธศาสตร์ที่ไม่เหมือนกัน เพราะสภาพการแข่งขันแตกต่างกัน อย่างภาคกลางกระแสพรรคไม่ได้เลวร้าย ส่วนภาคเหนือแม้แต่อีสาน คะแนนพรรคที่ได้นั้นไม่เป็นที่หนึ่งก็คือที่สอง บางพื้นที่ไม่ห่างมากด้วย

“แต่ผู้แทนเขต เราแพ้เขาเยอะ ตรงนี้คือจุดหนึ่งที่การปรับปรุงโครงสร้างพรรคต้องมีเขตพื้นที่ที่จะมาตอบโจทย์ตรงนี้ให้ได้ว่ากระแสหรือเสียงที่รองรับประชาธิปัตย์ที่มีอยู่จะต้องพลิกมาเป็นจำนวน สส.ให้ได้ อย่างรอบกรุงเทพฯ ทั้งนนทบุรี นครปฐม สมุทรปราการ ปทุมธานี คะแนนพรรคดีมาก แต่ยังทำได้ไม่มากนัก”

ทั้งนี้ สาเหตุที่ผ่านมาก็เนื่องจากระบบการจัดการยังไม่แข็งพอ ตัวผู้สมัครที่จะมีพลังไปสู้ยังไม่แข็งพอ อย่าง จ.นครปฐม เราจะไปสู้กับกลุ่ม “สะสมทรัพย์” แม้คะแนนพรรคดี แต่ตัวคนสู้ไม่ได้ แต่เชื่อว่าภาคเหนือตอนล่าง ทั้งพิษณุโลก นครสวรรค์ กำแพงเพชร ตาก เพชรบูรณ์ สุโขทัย แม้แต่อุตรดิตถ์ ถ้าจัดระบบดีๆ มีลุ้นทุกจังหวัด แต่เหนือขึ้นไปต้องยอมรับว่ายาก

“อย่างไรก็ตาม อยู่ที่ประชาชน ถ้าเลือกแล้วการเมืองแข่งขันกันโดยสุจริตเสมอภาค พวกผมก็ยอมรับการตัดสิน พวกผมไม่ได้บอกว่าจะต้องชนะ ไม่ว่าจะโกงก็ได้ ซื้อเสียงก็ได้ คุกคาม เอาเงินไปซื้อสื่อก็ได้ ผมไม่ทำ เพราะผมคิดว่าถ้าพวกผมทำแล้วบ้านเมืองนี้จะเหลือการเมืองซักพรรคได้ไหม ที่อยากจะรักษาการเมืองแบบอุดมการณ์ แม้บางครั้งอาจจะเสียเปรียบหรือต้องแพ้ แต่นี่คือความแตกต่าง”

สุดท้ายสำหรับบทบาทหัวหน้าพรรคของตัวเขาว่าจะอยู่ทำหน้าที่ต่อไปอีกนานแค่ไหน? หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า “ขึ้นอยู่กับสมาชิกและสถานการณ์ เพราะการเลือกตั้งครั้งที่แล้วเสร็จก็ได้ลาออกและไม่เข้าพรรคเลย ปล่อยให้ไปตกผลึกกันเองว่าจะเอากันยังไง แต่บังเอิญช่วงนั้นไม่มีใครอาสาตัวเข้ามาทำให้ ต้องกลับเข้ามาทำงานและทำงานเต็มที่ ซึ่งหากพรรคเห็นว่ามันจะต้องเปลี่ยนแปลงเมื่อไหร่ก็ต้องเปลี่ยนแปลง”
 
 
ขอบคุณ  :  http://www.posttoday.com

 

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

หลวงพ่อฮวบ วัดสามัคยาราม ต.บ้านด่าน อ.เมือง จ.อุตรดิตถ์

หลวงพ่อกล่อม พรมสโร วัดป่ากะพี้ อ.พิชัย จ.อุตรดิตถ์

พระครูธรรมฐิติวงศ์คีรีเขตร (บุญใหญ่ อินทปญโญ) วัดเจดีย์คีรีวิหาร อ.ลับแล จ.อุตรดิตถ์