แกะรอยเส้นทางการกู้ชาติของพระจ้าตากสินมหาราช : หลังเสียกรุง
พระบรมรูปสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ณ วงเวียนใหญ่ ธนบุรี
กรุงศรีอยุธยาเสียแก่พม่า เมื่อวันที่ 7 เมษายน พ.ศ.2310 แต่ก่อนหน้านั้นราว 3 เดือนกว่า สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีเมื่อครั้งยังเป็นพระยาตาก ได้พาสมัครพรรคพวกไพร่พลคนไทยจีนจำนวนหนึ่ง ตีฝ่ากองทัพพม่ามุ่งหน้าไปทางชายทะเลตะวันออก พระยาตากไม่ใช่คนแรกและคนสุดท้ายที่ได้ละทิ้งหน้าที่หลบหนีไปเพราะ ระบบการเมืองและสังคมของกรุงศรีอยุธยาได้ล่มสลายลง ก่อนที่พม่าจะระเบิดป้อมทะลายกำแพง แต่นานไม่ถึง 9 เดือนหลังเสียกรุง พระยาตากได้ประกาศพระองค์เป็นพระมหากษัตริย์ ที่คนทั่วไปเรียกกันภายหลังว่า“พระเจ้าตาก” ยกกองทัพเรือจากจันทบุรีมายึดกรุงศรีอยุธยาคืน แล้วฟื้นฟูราชอาณาจักรศรีอยุธยาขึ้นมาใหม่ ชื่อ กรุงธนบุรี กรุงธนบุรีไม่ใช่เมืองใหม่ที่เพิ่งมีขึ้นสมัยพระเจ้าตาก แต่เป็นเมืองป้อมหน้าด่านเก่าแก่มาตั้งแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยา มีพัฒนาการมาจากชุมชนชาวสวนบนเส้นทางคมนาคมสู่อ่าวไทย แล้วค่อย ๆ ทวีความสำคัญขึ้นเป็นเมืองป้อมหน้าด่านทางน้ำ มีชื่อในทำเนียบว่า “เมืองธนบุรีศรีมหาสมุทร”
นักธรรมชาติวิทยาชาวเดนมาร์ก ผู้ซึ่งเคยพบเห็นพระเจ้ากรุงธนบุรี ได้รายงานไว้ว่า “...ทรงเป็นชายร่างเล็ก แต่พระราชประวัติและวีรกรรมของพระองค์ยิ่งใหญ่นัก..” เป็นเหตุให้มีผู้แต่งเติมเสริมต่อเรื่องราวของพระองค์ออกไปดูรายคล้ายนิยาย ทั้ง ๆที่สาระสำคัญของพระราชประวัติมีอยู่สั้น ๆ ว่า “..สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี ทรงมีพระราชสมภพในฐานะสามัญชนลูกชาวจีน มีอาชีพค้าขายทางเกวียน และแม้ยังมีถิ่นฐานบ้านช่องญาติพี่น้องในภาคกลาง โดยเฉพาะที่พระนครศรีอยุธยาและลพบุรี แต่ก็ได้ทำการค้าอยู่ในหัวเมืองเหนือชายแดน เมื่อสบโอกาสก็ได้เข้ารับราชการในหัวเมืองไกล คือเมืองตาก หรือ ระแหง และในที่สุดก็ได้รับการแต่งตั้งเป็นเจ้าเมืองตาก ทรงเสกสมรสกับสามัญชนด้วยกัน ซึ่งไม่ได้มาจากตระกูลใหญ่นัก...”
ในสงครามครั้งเสียกรุง ได้กวาดต้อนไพร่พลหลบพม่าลงมาเป็นกำลังสำคัญแก่กรุงศรีอยุธยา ได้บำเหน็จความชอบจากการนั้น ระหว่างที่พม่าล้อมกรุงอยู่ก็ได้ทำการต่อสู้จนปรากฏชื่อว่าเป็นนายทัพที่เข้มแข็งคนหนึ่ง ไพร่พลที่นำมาจากเมืองตาก หรือระแหง ก็ยังคุมกันติดเป็นกองของตนเอง ปฏิบัติงานตามสั่งของรัฐบาล ในที่สุดก่อนที่จะเสียกรุงแก่พม่า ก็ได้นำกำลังพลจำนวนน้อยของตน และอาจรวมกองกำลังอื่นที่สวามิภักดิ์เพิ่มขึ้น ประกอบด้วยไพร่พลทั้งไทยและจีนพากันตีแหกพม่ามุ่งไปยังหัวเมืองฝั่งตะวันออก และเริ่มหน้าใหม่ให้แก่ประวัติศาสตร์ของพระองค์ และของประเทศไทย
ภาพประกอบการเดินทัพจาก ค่ายวัดพิชัย อยุธยา
วันเสาร์ตอนเที่ยงคืน ขึ้น 4 ค่ำ เดือนยี่ ปีจอ อรรถศก จุลศักราช 1128 หรือ พ.ศ. 2309 เกิดเพลิงไหม้ขึ้นในพระนคร ไหม้ตั้งแต่ท่าทรายติดรามไปถึงสะพานช้างคลองข้าวเปลือก แล้วข้ามมาติดป่ามะพร้าว ป่าโทน ป่าถ่าน ป่าทอง ป่ายา วัดราชบูรณะ วัดฉัตรฑัณท์ ติดกุฎีวิหารและบ้านเรือนมากกว่าหมื่นหลัง ...จนกระทั่งพลบค่ำไฟไหม้ในพระนครยังไม่ดับ พระยาตากก็ยกสมัครพรรคพวกไพร่พลไทยจีนออกจากค่ายวัดพิชัย เดินทัพไปทางบ้านหันตรา พม่ายกพลติดตามทัน ได้ต่อรบกันเป็นสามารถพม่าต่อต้านมิได้จึงถอยกลับไป พระยาตากเดินทัพต่อไปยังบ้านข้าวเม่า จนถึงบ้านสามบัณฑิตเวลา 2 ยามเศษ....เมื่อมองกลับไปเห็นแสงไฟลุกโชติกาลยังไหม้กรุงอยู่ก็ให้หยุดพักทัพ
ภาพประกอบการเดินทัพจากค่ายวัดพิชัย - วัดสามบณฑิต อุธยา
ภาพประกอบการเดินทัพจาก วัดสามบณฑิต - วัดโพธิ์สาวหาญ อุธยา
วันอาทิตย์รุ่งเช้า พระยาตากเดินทัพไปถึงบ้านโพธิ์สาวหาญ พม่ายกพลติดตามไปอีก ได้ต่อรบกันเป็นสามารถ ทัพพม่าแตกกระจัดกระจายพ่ายแพ้ไป พระยาตากให้เดินทัพต่อไป ตอนเย็นถึงบ้านพรานนกหยุดพักแรม ให้ทะแก้วทหารออกไปหาเสบียงอาหาร พบกองทัพพม่า พระยาตากจึงขึ้นม้าพร้อมไพร่พลออกรบพม่า ทัพพม่าแตกพ่ายกระจายไป ทหารเห็นความสามารถของพระเจ้าตากเป็นอัศจรรย์ ก็ยกย่องว่าเป็นจอมกษัตริย์สมมุติวงศ์ เท่ากับแสดงสัญลักษณ์ทางวัฒนธรรมเป็นพระเจ้าแผ่นดิน
ภาพประกอบการเดินทัพจาก วัดโพธิ์สาวหาญ - บ้านพรานนก อุธยา
ภาพประกอบการเดินทัพจาก บ้านพรานนก อุธยา - นครนายก
รุ่งขึ้นขุนชำนาญไพรสน และนายกองช้างเมืองนครนายกมีจิตสวามิภักดิ์ เอาช้างมาถวาย 6 ช้าง นำเสด็จถึงบ้านบางดงเข้าหยุดประทับในที่นั้น แล้วสั่งให้ขุนหมื่นพันทนายบ้านยอมอ่อนน้อม แต่ไม่สำเร็จ กลับท้าทายอีกแล้วตั้งค่ายจะสู้รบ พระเจ้าตากจึงยกเข้าตีค่ายได้ พระเจ้าตากยกพลไปประทับที่ตำบลหนองไม้ซุง ตามทางเมืองนครนายก แล้วประทับรอนแรมไปอีก 2 วัน ก็ถึงบ้านนาฤกษ์ ออกจากบ้านนาฤกษ์วันหนึ่งถึงเมืองปราจีนบุรี พักลี้พลให้หุงหาอาหารกิน เสร็จแล้วเดินทัพข้ามทุ่งจนตกเย็นหยุดพักทัพที่ชายดงศรีมหาโพธิ์ รอสมัครพรรคพวกที่ตามไม่ทัน
ฝ่ายพม่าได้เกณฑ์ทัพเรือให้ขึ้นมาสมทบกับทัพบกตั้งอยู่ปากน้ำเจ้าโล้ ยกไปที่ท่าข้ามติดตามทัพพระเจ้าตาก ได้รบกันหนักจนพม่าแตกกระจัดกระจายพ่ายไป จากนั้นพระเจ้าตากยกพลไปทางบางปลาสร้อย ก็เป็นอันพ้นกองทัพพม่า เมื่อพระเจ้าตากยกไพร่พลถึงดินแดนชายทะเลตะวันออก ผ่านบ้านนาเกลือที่บางละมุง มีนายกล่ำเป็นนายชุมนุมคุมไพร่พลอยู่ที่นั่น พากันวางอาวุธถวายบังคมอ่อนน้อม เสด็จไปพัทยาหยุดประทับแรม รุ่งขึ้นไปประทับแรมที่นาจอมเทียน ทุ่งไก่เตี้ย สัตหีบ แห่งละคืน
ภาพประกอบการเดินทัพจาก ปราจีนบุรี - ดงศีมหาโพธิ์ - ชลบุรี - บ้านนาเกลือ - พัทยา
ภาพประกอบการเดินทัพจาก พัทยา - ระยอง
ภาพประกอบปากแม่น้ำประแส ระยอง
รุ่งขึ้นเดินทัพทางริมทะเลถึงหินโด่ง และน้ำเก่า เข้าแขวงเมืองระยอง ผู้รั้งเมืองระยองและกรมการทั้งปวง ชวนกันมาต้อนรับเสด็จ แล้วไปประทับอยู่วัดลุ่ม รับสั่งให้จัดลำเรียงอาหาร ขุดค่ายคู ขณะนั้นมีผู้แจ้งเหตุว่ากรมการเมืองระยองมีขุนรามหมื่นซ่อง นายทองอยู่นกเล็ก ขุนจ่าเมือง เป็นต้น คบคิดกันคุมพรรคพวกจะยกเข้าประทุษร้าย พระเจ้าตากก็ปราบปรามจนราบคราบ แล้วตรัสให้บำรุงทะแก้วทหารให้มีกำลังอยู่เมืองระยองก่อน แล้วให้ข้าหลวงไปเกลี้ยกล่อมพระยาจันทบูรณ์ให้อ่อนน้อมเพื่อไม่ให้เกิดสงคราม แต่พระยาจันทบูรณ์ ทำอุบายผลัดผ่อนเรื่อยมา ระหว่างรอเวลาให้พระยาจันทบูรณ์ยอมอ่อนน้อม ขุนรามหมื่นซ่อง และนายทองอยู่นกเล็ก ที่แตกพ่ายไปจากเมืองระยอง ลอบเข้ามาลักโค กระบือ ช้างม้าไปเนือง ๆ พระเจ้าตากจึงยกทัพออกจากเมืองระยองไปบ้านประแส บ้านไพร่ บ้านพา บ้านกล่ำ บ้านแกลง ที่ไอ้ขุนรามหมื่นซ่องตั้งอยู่นั้น เพื่อปราบปราม ขุนรามหมื่นซ่องแตกหนีไปอยู่กับพระยาจันทบูรณ์
ภาพประกอบการเดินทัพจาก ระยอง - บ้านแกลง
เมื่อได้ครอบครัว ช้างม้า โคกระบือ พร้อมเกวียนที่ถูกขุนรามหมื่นซ่องขโมยคืนมาแล้ว ก็เสด็จยกพลกลับเมืองระยอง เพื่อรอท่าพระยาจันทบูรณ์ ให้บำรุงทะแก้วทหาร รวบรวมสรรพวุธ ปืนใหญ่น้อย เกลี้ยกล่อมอาณาประชาราษฎร์อันแตกตื่นออกไปอยู่ป่าได้เป็นอันมาก เมื่อทรวงทราบว่านายทองอยู่นกเล็กไปตั้งอยู่เมืองชลบุรี ประพฤติพาลทุจริต คอยทำร้ายข่มเหงอาณาประชาราษฎร์ พระเจ้าตากจึงยกทัพไปทางบ้านหนองมน แล้วหยุดประทับที่วัดหลวง ให้คนไปเกลี้ยกล่อมนายทองอยู่นกเล็ก ก็ยอมอ่อนน้อมแต่โดยดี พระเจ้าตากก็ตั้งให้เป็นเจ้าเมืองชลบุรี
ภาพประกอบการเดินทัพจาก ระยอง - จันทบุรี
เมื่อพระเจ้าตากเสด็จกลับไปประทับ ณ เมืองระยอง ฝ่ายพระยาจันทบูรณ์เชื่อคำยุยงของขุนรามหมื่นซ่อง แต่งอุบายเชิญเสด็จให้ไปเมืองจันทบูรณ์แล้วจะจับกุมพระองค์ พระเจ้าตากยกทัพไปถึงบ้านพลอยแหวน พระยาจันทบูรณ์ก็ให้หลวงปลัดออกนำทัพเป็นกลอุบาย ให้กองทัพหลวงเลี้ยวไปทางใต้เมืองและข้ามน้ำไปทางตะวันออกจะคอยทำร้ายเมื่อพลทหารข้ามน้ำนั้น พระองค์ทรงทราบจึงให้นายบุญมีมหาดเล็กขึ้นม้าควบไปห้ามทหารกองหน้าไม่ให้ไปตามทางหลวงปลัดนำ ให้กลับมาตามทางขาวงตรงเข้าประตูท่าช้าง เสด็จประทับ ณ วัดแก้ว ริมเมืองจันทบุรี พระยาจันทบูรณ์ให้กรมการเมืองออกมาทูลเชิญเสด็จ แต่พระเจ้าตากปฏิเสธ ทรงมีพระกรุณาตรัสให้ไปบอกว่า พระยาจันทบูรณ์ควรอ่อนน้อม แล้วส่งตัวขุนรามหมื่นซ่องศัตรูคืนมา จึงจะเข้าเมือง พระยาจันทบูรณ์มิได้ทำตามรับสั่ง มิหนำซ้ำยังมีพิรุษหลอกล่อหลายครั้ง จึงตรัสว่า “..พระยาจันทบูรณ์มิได้ตั้งอยู่ในสัตยภาพแล้ว และเห็นว่าขุนรามหมื่นซ่องจะช่วยปกป้องกันเมืองไว้ได้ ก็ให้ตบแต่งการไว้ให้มั่นคงเถอะ เราจะตีเอาให้จงได้..” แล้วจึงตรัสสั่งให้โยธาทหารทั้งปวงให้หุงหาอาหารรับพระราชทานแล้วนั้น สั่งให้เทเสีย ต่อยหม้อข้าวหม้อแกงให้จงสิ้น ในเพลากลางคืนนี้ตีเอาเมืองจันทบูรณ์ให้ได้ ไปหาข้าวเช้ากินเอในเมือง ถ้ามิได้ก็ให้ตายเสียด้วยกันเถิด... ราวตีสามคืนนั้น พระเจ้าตากเสด็จทรงช้างพระที่นั่งเข้าทลายประตูใหญ่ พร้อมทะแก้วทหารไทยจีนบุกเข้าเมืองได้ทุกด้าน พระยาจันทบูรณ์พาบุตรภรรยาลงเรือหนีไป เมื่อได้เมืองจันทบูรณ์แล้ว พระเจ้าตากให้ยกทัพทั้งทางบกและทะเล ไปถึงบ้านทุ่งใหญ่เมืองตราด อันเป็นที่ชุมนุมพ่อค้าวานิชนายสำเภาทั้งปวง ฝ่ายจีนเจียมที่เป็นใหญ่กว่านายสำเภาทั้งปวงยอมสวามิภักดิ์ จึงพาธิดามาถวายพระเจ้าตาก เมื่อได้เมืองตราดแล้ว พระเจ้าตากเสด็จยกทัพกลับจันทบูรณ์ ยับยั้งอยู่ต่อเรือรบได้ 100 ลำเศษ
ภาพประกอบแสดงซากกำแพงเมืองจันทบุรี และ บริเวณกองพันทหารราบที่ 2 จันทบุรี
ภาพประกอบแสดงสถานที่ที่เป็นอู่ต่อเรือ และซากเรือที่ขุดพบ
ภาพประกอบพระบรมราชานุสาวรีย์รัชกาลที่ 1 และ พระบรมรูปสมเด็จกรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาถ
การที่พระเจ้าตากประสบความสำเร็จได้หัวเมืองชายทะเลตะวันออกไว้ทั้งหมด หรือเกือบทั้งหมด ก็เพราะว่ากลุ่มของพระเจ้าตาก หรืออย่างน้อยตัวพระเจ้าตากเอง มีจุดมุ่งหมายทางการเมืองที่เด่นชัดว่า จะรื้อฟื้นอาณาจักรศรีอยุธยาขึ้นมาใหม่ และประกาศนโยบายนี้ตั้งแต่เริ่มออกจากค่ายวัดพิชัยที่อยุธยา กิตติศักดิ์การกู้กรุงศรีอยุธยาของเจ้ากรุงธนบุรี ย่อมล่วงรู้อย่างดีถึงสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ซึ่งขณะนั้นประทับอยู่ที่บ้านบางช้าง เมืองราชบุรี จึงได้แนะนำนายบุญมาซึ่งเป็นพระราชอนุชาเข้าถวายตัวกับพระเจ้ากรุงธนบุรี เพราะมีผู้นับถือมาก การกู้กรุงศรีอยุธยาก็มีทางจะสำเร็จได้
ภาพประกอบการเดินทัพจาก จันทบุรี - ชลบุรี
เมื่อถึงเวลาพร้อมแล้ว พระเจ้าตากก็ทรงพระราชอุตสาหะยกพลทหารพร้อมสรรพด้วยเครื่องศาตราวุธเป็นอันมาก ออกจากเมืองจันทบุรีโดยทางทะเล เพื่อขับไล่อริราชศัตรูที่ยังมีอยู่ที่กรุงศรีอยุธยา เมื่อถึงเมืองชลบุรี พระเจ้าตากทรงทราบว่าเจ้าเมืองกับพรรคพวกมิได้ละทิ้งความชั่วร้าย กลับกระทำโจรกรรมออกปล้นเรือสำเภา จึงให้หยุดพักเรือ แล้วให้หาเจ้าเมืองชลบุรีมาเฝ้า ณ เรือพระที่นั่ง ภิพากษาโทษประหารชีวิต
ภาพประกอบการเดินทัพจาก ชลบุรี - สมุทรปราการ - ธนบุรี - ค่ายโพธิ์สามต้น
พระเจ้าตากยกทัพเรือเลียบชายฝั่งทะเลเข้าปากน้ำเมืองสมุทรปราการ แล้วเข้าตีเมืองธนบุรี ฝ่ายกรมการพวกที่อยู่รักษาเมืองธนบุรีหนีขึ้นไปโพธิ์สามต้นกรุงเก่า แจ้งเหตุแก่สุกี้ผู้เป็นพนายกอง สุกี้ก็ให้จัดพลทหารพม่า มอญ ไทย เป็นทัพเรือตั้งสกัดอยู่เพนียด แต่แล้วก็แตกหนีไป พระเจ้าตากยกเข้าตีค่ายโพธิ์สามต้นได้ นี่เท่ากับยึดกรุงศรีอยุธยากลับคืนสำเร็จแล้ว จึงให้เชิญเสด็จพระบรมศพพระที่นั่งสุริยา อัมรินทร์ แห่แหนมา ณ โพธิ์สามต้นถวายพระเพลิง แทนที่พระเจ้าตากจะประทับอยู่พระนครศรีอยุธยา พระองค์กลับเสด็จไปประทับอยู่เมืองธนบุรี เพราะขณะนั้นกองทัพของพระองค์ยังไม่สู้ใหญ่นัก และเอาชนะข้าศึกที่โพธิ์สามต้นยังไม่เด็ดขาด การจะเอาชนะชุมนุมมอญที่โพธิ์สามต้นอย่างเด็ดขาด น่าจะเป็นเรื่องยากและเสียลี้พลสูง หนทางปลอดภัยที่สุดก็คือ ไปอยู่เมืองธนบุรี
ขอบคุณ : วีซีดีภาพยนตร์สารคดีประวัติศาสตร์ ชุด สามกรุงศรี
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น