เขื่อนแก่งเสือเต้น ตอนที่ 2



                                         

'แก่งเสือเต้น'ไม่ใช่ทางออกแก้น้ำท่วมได้จริง
สกว.หนุนใช้ภูมิวัฒนธรรมจัดการน้ำในชุมชน ชี้'แก่งเสือเต้น'ไม่ใช่ทางออกแก้น้ำท่วมได้จริง 
นับตั้งแต่รัฐบาลได้ริเริ่มโครงการสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้นในปี 2516 และถูกผลักดันอย่างจริงจังในปี 2532 บัดนี้เป็นเวลายาวนานเกือบ 24 ปีแล้ว ที่ชาวสะเอียบ จังหวัดแพร่ ได้รวมตัวกันคัดค้านและเสนอทางเลือกให้รัฐบริหารจัดการน้ำด้วยการสร้างเขื่อนขนาดเล็กตามลำน้ำสาขาแทน เพราะการสร้างเขื่อนขนาดใหญ่ไม่สามารถแก้ปัญหาน้ำท่วมได้จริง อีกทั้งผืนป่าบริเวณนี้เป็นป่าสักทองที่มีสภาพสมบูรณ์ที่ใหญ่ที่สุดของประเทศไทย แต่ถึงวันนี้เขื่อนแก่งเสือเต้นก็ยังเป็นโครงการที่รัฐบาลต้องการอยู่ แต่ก็ถูกชาวสะเอียบขัดขวางทุกวิถีทาง เพราะถ้าเขื่อนแก่งเสือเต้นสร้างสำเร็จจริง ป่าทั้งหมดประมาณ 2 แสนไร่ และชาวบ้านกว่า 1,000 คน จาก 4 หมู่บ้าน จะต้องถูกน้ำท่วมทั้งหมด และแม้จะเปลี่ยนเป็นเขื่อนยมบน-ยมล่างเพื่อไม่ให้หมู่บ้านถูกน้ำท่วม ชาวบ้านก็ยังคงต่อต้านเพราะป่าทั้งหมดจะถูกน้ำท่วมเหมือนเดิม


รศ.ศรีศักร วัลลิโภดม หัวหน้าคณะผู้วิจัยโครงการภูมิวัฒนธรรม ภายใต้การสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) กล่าวถึงภูมิวัฒนธรรมกับการจัดการน้ำ กรณีศึกษาน้ำท่วมเมืองสุโขทัยและการสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้นว่า แนวคิดเรื่องภูมิวัฒนธรรมเป็นกระบวนการศึกษาท้องถิ่นเพื่อทำความเข้าใจภูมิวัฒนธรรม นิเวศวัฒนธรรม และชีวิตวัฒนธรรมของผู้คนในท้องถิ่นอันเกี่ยวพันกับความสัมพันธ์ของคน 3 ประการ คือ คนกับคน คนกับธรรมชาติ และคนกับสิ่งเหนือธรรมชาติ ซึ่งเป็นหัวใจหลักของการศึกษาประวัติศาสตร์ท้องถิ่นที่เริ่มต้นจากคนในพื้นที่ จากการศึกษาภูมิวัฒนธรรมของเมืองสุโขทัยพบว่าตัวเมืองปัจจุบันตั้งอยู่ในที่ต่ำกว่าตัวเมืองเก่า โดยอยู่ตรงพื้นที่ระหว่างเขาและเชื่อมโยงกับแม่น้ำน่านและแม่น้ำยมซึ่งส่งต่อพื้นที่บางระกำ ทำให้ถูกน้ำท่วมทุกปี ดังนั้นจึงควรจะสร้างเขื่อนในพื้นที่ศรีสัชนาลัยเพราะเป็นพื้นที่เชื่อมกับเขตพื้นที่สูงและสามารถกักเก็บน้ำได้ แต่จุดที่รัฐจะสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้นในจังหวัดแพร่ซึ่งเป็นเมืองระหว่างเขา มีลำน้ำงาวจากลำปางไหลมาสบกับแควน้ำยมในซอกเขาที่อุดมสมบูรณ์ด้วยป่าไม้สักในพื้นที่แอ่งเล็ก ๆ ไหลลงสู่อำเภอเด่นชัยซึ่งเป็นพื้นที่คอขวด น้ำไหลออกยาก ลำน้ำมีการหักเบนไปทางตะวันตกผ่านอำเภอวังชิ้น ที่บริเวณนี้จะมีลำน้ำสายอื่น ๆ ไหลมาสมทบราว 40 สาย ก่อนไหลลงผ่านศรีสัชนาลัย สวรรคโลก และสุโขทัย จึงเป็นสาเหตุหนึ่งที่มีการคัดค้านการสร้างแก่งเสือเต้นที่แพร่

          

“การพยายามสร้างความรู้เรื่องภูมิวัฒนธรรมจากคนในท้องถิ่นจึงเป็นข้อมูลพื้นฐานที่สำคัญ การจะพัฒนาประเทศจะต้องศึกษาประวัติศาสตร์ท้องถิ่น เพราะพื้นที่ที่เป็นนิเวศมีความสำคัญต่อชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คน สะเอียบเป็นชุมชนโบราณที่ตั้งถิ่นฐานยาวนานกว่า 200 ปี มีภูมิประเทศที่สวยงามมาก ใช้ชีวิตแบบเศรษฐกิจพอเพียงในสภาวะที่ยั่งยืน เป็นแหล่งไม้สักทองที่สำคัญของไทย ไม่ต้องการตัดไม้ทำลายป่า เมื่อวิกฤติมาถึงจึงเกิดสำนึกร่วมของชุมชนที่พร้อมใจกันรวมตัวต่อต้าน เป็นชุมชนเดียวที่ต่อสู้โดยใช้เหตุผลและภูมิปัญญาในการบริหารจัดการน้ำที่เหมาะสมกับภูมิประเทศและพื้นที่ของตน จึงนับเป็นตัวอย่างที่ดีในการขัดขืนของคนในท้องถิ่นที่ไม่เอาอำนาจรัฐ และต่อสู้โดยการเคลื่อนไหวทางสังคมอย่างเป็นระบบ แต่กลับกลายเป็นแพะรับบาปว่าเห็นแก่ตัว”

นอกจากความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นระหว่างคนกับชุมชน และมีจิตสำนึกในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติแล้ว ชาวสะเอียบยังนับถือผีและเทพที่คุ้มครองบ้านเมืองและผืนป่า อีกทั้งไม่หลบลู่ผู้มีพระคุณ ทุกปีชาวบ้านจึงร่วมกันทำพิธีบวชป่า พิธีเลี้ยงผีฝาย ศาลเจ้าพ่อ เจ้าแพร่งที่อยู่ปลายน้ำในช่วงหลังเกี่ยวข้าวเสร็จ เลี้ยงผีเจ้าเมืองในช่วงเดือน 9 ซึ่งตรงกับเดือนมิถุนายนของทุกปี เลี้ยงหอเจ้าเมืองหรือเจ้าเจิญเมืองซึ่งเป็นผู้ดูแลรักษาผู้คนในหมู่บ้านโดยจะเก็บเงินทุกหลังคาเรือนเพื่อซื้อของมาทำพิธีเซ่นไหว้เจ้าเจิญเมืองและบริวาร เมื่อรัฐจะทำโครงการสร้างเขื่อน แกนนำชาวบ้านร่วมกันทำพิธีต่อต้านการสร้างเขื่อนที่บริเวณขื่อเมืองซึ่งเป็นเส้นทางเข้าออกชุมชน และเป็นที่ตั้งของหอแดงซึ่งศาลเจ้าพ่อข้อมือเหล็กกับเจ้าแม่นางอ้อมประทับอยู่ก่อนจะสร้างหอใหม่ทาสีแดงเพราะเชื่อว่ามีอิทธิฤทธิ์มาก อีกทั้งตลอด 3 ปีที่ผ่านมา ชาวบ้านยังผลัดกันเฝ้าเวรยาม ณ จุดที่เป็นโครงการสร้างสันเขื่อนแก่งเสือเต้น เพื่อมิให้บุคคลหรือหน่วยงานใดบุกรุกที่สนับสนุนการสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้นหรือเขื่อนยมบน-ยมล่างเข้าไปในพื้นที่ หากฝ่าฝืนชาวบ้านจะไม่รับรองความปลอดภัย

    

ด้านนายสมมิ่ง เหมืองร้าง ประธานคณะกรรมการคัดค้านเขื่อน กล่าวว่า ความต้องการสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้นของรัฐจะส่งผลกระทบทั้งต่อชาวบ้านและทรัพยากรธรรมชาติมหาศาล เป็นการทำลายระบบนิเวศของป่าและวิถีชุมชน คนคิดโครงการไม่ได้ลงมาดูพื้นที่ ดูแต่แผนที่ หากรัฐหวังดีต้องการแก้ปัญหาน้ำท่วมจริงก็ควรให้ชาวบ้านหาทางออกกันเอง ด้วยการสร้างฝายและอ่างเก็บน้ำตามลำน้ำสาขาเพราะจะส่งผลกระทบต่อป่าน้อยมาก สามารถเก็บกักน้ำมาใช้ในชุมชนได้และยังช่วยชะลอการไหลของน้ำในช่วงฤดูฝน แต่ถ้ายังจะสร้างเขื่อนก็จะทำลายระบบนิเวศและทำให้แม่น้ำตื้นเขิน ที่ผ่านมาชาวบ้านได้ทำประชาคมร่วมกันเพื่อรับรู้ถึงผลเสียที่จะตามมา จึงไม่เห็นด้วยกับการสร้างเขื่อนและทำการคัดค้านทุกวิถีทางเพื่อประกาศเจตนารมณ์ของพวกตนในการรักษาผืนป่านี้ไว้


ขอบคุณ : http://www.komchadluek.net และ http://www.youtube.com


















ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

หลวงพ่อฮวบ วัดสามัคยาราม ต.บ้านด่าน อ.เมือง จ.อุตรดิตถ์

หลวงพ่อกล่อม พรมสโร วัดป่ากะพี้ อ.พิชัย จ.อุตรดิตถ์

พระครูธรรมฐิติวงศ์คีรีเขตร (บุญใหญ่ อินทปญโญ) วัดเจดีย์คีรีวิหาร อ.ลับแล จ.อุตรดิตถ์