“โซลาร์ รูฟท็อป” ส่อเค้ากระหึ่ม ดีเดย์ให้ยื่นขอ 23 ก.ย. นี้





       หลังเคาะแล้ว “โซลาร์เซลล์ 200 เมกะวัตต์” ตั้งแต่วันที่ 23 กันยายนถึง 11 ตุลาคมนี้ การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) และการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) จะเปิดให้ผู้สนใจยื่นคำขอเพื่อขายไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ที่ติดตั้งบนหลังคา สำหรับบ้านที่อยู่อาศัย และอาคารธุรกิจ หรือ โรงงาน ด้วยปริมาณการรับซื้อไฟฟ้ารวม 200 เมกะวัตต์
บุญส่ง เกิดกลาง หนึ่งในคณะกรรมการ                กำกับกิจการพลังงาน (กกพ.)
       “การยื่นคำขอติดตั้ง โซลาร์ รูฟท็อป อาจจะเกินเป้าหมายที่กำหนดตั้งแต่วันแรก แต่ก็จะพิจารณาความถูกต้องของคำขออย่างรอบคอบ เพื่อให้เกิดความเป็นธรรม” บุญส่ง เกิดกลาง หนึ่งในคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เชื่อมั่นการผลักดันที่ส่งเสริมให้ภาคธุรกิจ และครัวเรือนมีพลังงานทางเลือกที่ยั่งยืนจะได้รับความสนใจแน่นอน
       ภายหลังคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ออกระเบียบรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ที่ติดตั้งบนหลังคา หรือ โซล่ารูฟท็อป (Solar Rooftop) ซึ่งมีผลบังคับใช้วันที่ 3 กันยายนที่ผ่านมา ระเบียบดังกล่าวกำหนดปริมาณการรับซื้อไฟฟ้ารวม 200 เมกะวัตต์ แบ่งเป็น บ้านอยู่อาศัย ที่มีขนาดติดตั้ง 0-10 กิโลวัตต์ จำนวน 100 เมกะวัตต์ และอาคารธุรกิจขนาดเล็ก -กลาง -ใหญ่ ที่ติดตั้ง 10-1,000 กิโลวัตต์ จำนวน 100 เมกะวัตต์
       โดยอัตรารับซื้อไฟฟ้าเป็นไปตามต้นทุนจริง หรือ Feed in tariff 25 ปี ราคา 6.16-6.96 บาทต่อหน่วยสำหรับบ้านที่อยู่อาศัยอยู่ที่ 6.96 บาทต่อหน่วย กำลังการผลิตไฟไม่เกิน 10 กิโลวัตต์ ธุรกิจขนาดเล็กผลิตไฟไม่เกิน 25 กิโลวัตต์ อยู่ที่ 6.55 บาทต่อหน่วย และธุรกิจขนาดกลาง และใหญ่อยู่ที่ 6.16 บาทต่อหน่วย โดยมีระยะเวลาอุดหนุนค่าไฟทั้งสิ้น 25 ปี และอัตราดังกล่าวจะประกาศใช้ระหว่างปี 2556-2557 ซึ่งหากต้นทุนต่างๆ ลดลงอัตราดังกล่าวจะต้องปรับเปลี่ยนให้สอดคล้องกับสถานการณ์ทุกปี ซึ่งแผนส่งเสริมครั้งนี้จะกระทบต่อค่าไฟฟ้าเพียง 0.50 สตางค์ต่อหน่วยเท่านั้น
       ทั้งนี้ กำหนดจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์ ภายใน 31 ธันวาคมนี้ โดยที่ กฟน. และ กฟภ. จะเปิดรับซื้อไฟฟ้ารวม 80 และ 120 เมกะวัตต์ ตั้งแต่วันที่ 23 กันยายนจนถึง 11 ตุลาคมนี้ และประกาศรายชื่อผู้ยื่นคำขอขายไฟฟ้าที่ผ่านการคัดเลือกตั้งแต่วันที่ 14 ตุลาคมนี้เป็นต้นไป
           พงษ์ศักดิ์ รักตพงศ์ไพศาล รมว.พลังงาน
       ค่า FT แนวโน้มเพิ่ม แรงกระตุ้นช่วย 
       “หลังจากที่ประกาศแล้วเชื่อว่าทางผู้ผลิตโซลาร์เซลล์ที่จะขายกับประชาชนก็คงจะไปทำการตลาดกันเองว่าจะทำอย่างไรให้ประชาชนหันมาสนใจติดตั้ง คล้ายกับกรณีการติดตั้งเครื่องปรับอากาศ เครื่องทำน้ำอุ่น ฯลฯ ที่จะมีระบบไฟแนนซ์ ผ่อนจ่าย” พงษ์ศักดิ์ รักตพงศ์ไพศาล รมว.พลังงาน กล่าวไว้เมื่อครั้งที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) เมื่อวันที่ 16 ก.ค. ที่ผ่านมา
       ส่วนแนวโน้มค่าไฟฟ้าอัตโนมัติ หรือ เอฟที งวดเดือนมกราคม-เมษายน 2557 จะมีโอกาสปรับสูงขึ้น หลังจากงวดนี้ปรับขึ้นแล้ว 7.08 สตางค์ต่อหน่วย ตามราคาน้ำมันที่ปรับเพิ่มขึ้น จึงส่งผลกระทบต่อราคาก๊าซธรรมชาติที่เป็นต้นทุนหลัก และค่าเงิน หากอ่อนค่าลงอีกก็จะเพิ่มภาระต้นทุน โดยทุก 1 บาท จะมีผลต่อต้นทุนค่าเอฟที ประมาณ 6 สตางค์ต่อหน่วย
       นอกจากนี้ มาตรการภาษีเพื่อจูงใจให้มีการติดตั้งโซลาร์รูฟท็อป อยู่ระหว่างการพิจารณาของกระทรวงการคลัง อาจเป็นการยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม และภาษีเงินได้นิติบุคคล โดยการสนับสนุนทำได้หลายรูปแบบมากกว่ามาตรการภาษี เช่น สิทธิประโยน์ของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือ บีโอไอ ก็จะเป็นปัจจัยสำคัญทำให้ภาคครัวเรือน และธุรกิจ ตัดสินใจง่ายขึ้นสำหรับการลงทุนติดตั้งโซลาร์ รูฟท็อป
       ในภาวะที่ก๊าซธรรมชาติ เชื้อเพลิงหลักในการผลิตไฟฟ้า มีแนวโน้มจะหมดจากอ่าวไทยอย่างถาวรในระยะ 10 ปีข้างหน้า พลังงานทดแทนอย่างแสงอาทิตย์ จึงเป็นอีกทางเลือกที่สามารถแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายในระยะยาว ไม่ว่าจะเป็นครัวเรือน หรือภาคธุรกิจ
       เชื่อว่า การผลิตไฟฟ้าจากโซลาร์เซลล์ ประเภทโซลาร์ รูฟท็อป จะช่วยเสริมความมั่นคงด้านพลังงาน และลดปริมาณการใช้ไฟฟ้าสูงสุดของประเทศลงได้ส่วนหนึ่ง โดยมีการคาดการณ์ความต้องการใช้ไฟฟ้าของประเทศในปี 2573 จะเพิ่มขึ้นเป็น 7 หมื่นเมกะวัตต์ จากปัจจุบันอยู่ที่ 2 หมื่น 7 พันเมกะวัตต์ ในขณะที่ความสามารถผลิตไฟฟ้ามีเพียง 3 หมื่น 3 พันเมกะวัตต์
       ตามเป้าของภาครัฐต้องการจะให้ครัวเรือน ชุมชน และภาคอุตสาหกรรม ผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ใช้เองด้วย และมีรายได้จากการขายไฟเข้าระบบ ผ่านการสนับสนุนมาตรการภาษี และอัตรารับซื้อไฟที่เหมาะสม แต่จะจูงใจให้เกิดการลงทุนได้มากน้อย ข้อสำคัญยังต้องกันดูต่อว่า สินเชื่อของสถาบันการเงินต่างๆ เอื้อความสะดวกอย่างไรบ้าง
       กฟภ. เปิดรับซื้อไฟฟ้ารวม 120 เมกะวัตต์ 
       - ประเภทบ้านอยู่อาศัย 60 เมกะวัตต์ ยื่นคำขอได้ที่การไฟฟ้าเขตทั้ง 12 เขต เขตละ 5 เมกะวัตต์
       - ประเภทอาคารธุรกิจหรือโรงงาน อีก 60 เมกะวัตต์ โดยยื่นคำขอที่ กฟภ. สำนักงานใหญ่
       กฟน. รับซื้อไฟฟ้ารวม 80 เมกะวัตต์ 
       - ประเภทบ้านอยู่อาศัย
       - ประเภทอาคารธุรกิจหรือโรงงาน ประเภทละ 40 เมกะวัตต์ โดยยื่นคำขอได้ที่ กฟน. ทั้ง 18 เขต

ขอบคุณ  :  http://www.manager.co.th

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

พระครูธรรมฐิติวงศ์คีรีเขตร (บุญใหญ่ อินทปญโญ) วัดเจดีย์คีรีวิหาร อ.ลับแล จ.อุตรดิตถ์

หลวงพ่อกล่อม พรมสโร วัดป่ากะพี้ อ.พิชัย จ.อุตรดิตถ์

หลวงพ่อฮวบ วัดสามัคยาราม ต.บ้านด่าน อ.เมือง จ.อุตรดิตถ์