3 บานประตูศิลปะช่างอยุธยาลือชื่อ...ของจังหวัดอุตรดิตถ์
ในครั้งนี้ขอนำเอาเรื่องของบานประตูพุทธศาสนสถาน ซึ่งถือได้ว่าเป็นงานศิลปะ (งานแกะสลัก) ชั้นยอดของช่างในช่วงกรุงศรีอยุธยา ที่ยังคงหลงเหลืออยู่ไม่มากนักสืบมาถึงปัจจุบัน จึงนับเป็นความสามารถของคนในสมัยโบราณ ที่สามารถสร้างสรรค์ผลงานอันยิ่งใหญ่และสวยงามบนแผ่นไม้ได้อย่างหาที่ติไม่ได้ เราชาวไทยควรที่ร่วมกันหวงแหน และหาทางสืบทอดผลงานศิลปะแขนงนี้ไว้สืบไป
บานประตูวัดพระฝางบานเดิมจัดแสดงอยู่ที่อาคารธรรมสภา วัดธรรมาธิปไตย ภายในตัวเมืองอุตรดิตถ์
1. บานประตูวัดพระฝางสวางคบุรีมุนีนาถ
บานประตูวัดพระฝาง คู่นี้แกะสลักในสมัยอยุธยา เป็นบานประตูไม้จำหลักปิดทองโบราณขนาดใหญ่ แสดงถึงชั้นเชิงในฝีมือช่างไม้ของคนในสมัยอยุธยาที่ยังคงหลงเหลือมาจนถึงปัจจุบัน บานประตูคู่นี้แต่ละบานมีขนาดกว้าง 1.2 เมตร สูง 5.3 เมตร และหนาถึง 16 เซนติเมตร ทำจากไม้ปรุแกะสลักเป็นลายกนกก้านขด ลายพุ่มทรงข้าวบิณฑ์ บานละ 7 พุ่ม ระหว่างพุ่มทรงข้าวบิณฑ์มีกนกใบเทศขนาบ สองข้างขวามือด้านบนมีอกเลาประตูอยู่ตรงกลาง แกะสลักเป็นลายเทพพนม ตอนบนอกเลา 4 องค์ตอนล่างอกเลา 4 องค์ กล่าวกันว่างดงามเป็นที่สองรองจากประตูพระวิหารหลวง วัดสุทัศน์ในกรุงเทพมหานครฯ
บานประตูไม้จำหลักปิดทองประดับกระจกศิลปะอยุธยา (บานจำลอง) ภายในวิหารหลวงวัดพระฝาง
บานประตูวิหารวัดพระฝางจำลอง ภายในวิหารหลวงวัดพระฝางสวางคบุรีมุนีนาถ
ในพระราชหัตถเลขา พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 คราวเสด็จประพาสมณฑลฝ่ายเหนือ พุทธศักราช 2444 ได้ทรงกล่าวถึงบานประตูวัดพระฝางไว้ว่า
"พระวิหารหลวงที่เมืองฝางก็เปนลักษณเดียวกันกับที่ทุ่งยั้ง ลายประตูก็เปนลายสลักก้านขด แต่ที่ซึ่งเปนภาพต่าง ๆ นั้นเปนกระหนกใบตั้งปิดทอง... แต่สลักลายเช่นนี้ ใช้ขุดไม้ลงไปให้ลายเด่นออกมา เช่นบานวัดสุทัศน์ แต่เด่นออกมามากกว่าวัดสุทัศน์ ใช้ไม้หนาขุดเอาจริง ๆ ไม่ได้สลักลายมาทาบ ทำงามดีมาก"
พระราชหัตถเลขา พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 คราวเสด็จประพาสมณฑลฝ่ายเหนือ พุทธศักราช 2444
บานประตูวัดพระฝาง เป็นบานประตูไม้จำหลักปิดทองประดับกระจกโบราณสมัยอยุธยาที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในจังหวัดอุตรดิตถ์ และเป็นบานประตูพุทธศาสนสถานที่มีความสวยงามมากที่สุด 1 ใน 3 คู่ของจังหวัดอุตรดิตถ์ คือ บานประตูวิหารวัดพระฝาง, บานประตูพระวิหารวัดพระแท่นศิลาอาสน์ และบานประตูวิหารวัดดอนสัก โดยประตูวิหารวัดพระฝางนี้เป็น 1 ใน 2 คู่ บานประตูสำคัญของจังหวัดอุตรดิตถ์ ที่ยังคงหลงเหลือมาจนถึงปัจจุบัน
ปัจจุบันบานประตูวัดพระฝางบานเดิมจัดแสดงอยู่ที่อาคารธรรมสภา วัดธรรมาธิปไตย ภายในตัวเมืองอุตรดิตถ์ ส่วนบานจำลองสร้างใหม่ติดตั้งจัดแสดงอยู่ในกรอบประตูวิหารหลวงวัดพระฝาง สามารถเข้าชมได้ทุกวัน
วิหารวัดพระแท่นศิลาอาสน์
2. บานประตูวัดพระแท่นศิลาอาสน์
สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงสันนิษฐานว่า พระแท่นศิลาอาสน์อาจมีมาก่อนแล้วช้านาน ก่อนที่พระเจ้าบรมโกศเสด็จไปบูชา เพราะพระแท่นศิลาอาสน์อยู่ริมเมืองทุ่งยั้งซึ่งมีมาตั้งแต่ครั้งสมัยอาณาจักรเชียงแสนก่อนสุโขทัย และบางทีชื่อทุ่งยั้งนั้นเอง จะเป็นนิมิตให้เกิดมีพระแท่น เป็นที่พระพุทธเจ้าประทับยับยั้ง เมื่อเสด็จผ่านมาทางนั้น ในทางตำนานมีคติที่เชื่อว่าพระพุทธเจ้าได้เสด็จยังประเทศต่าง ๆ ภายนอกอินเดียด้วยอิทธิฤทธิ์ฌานสมาบัติ และได้ประดิษฐานเจดีย์ หรือตรัสพยากรณ์อะไรไว้ในประเทศเหล่านั้น เป็นคติที่เกิดในลังกาทวีป และประเทศอื่นได้รับเอาไปเชื่อถือด้วย จึงเกิดมีเจดีย์วัตถุและพุทธพยาการณ์ ที่อ้างว่าพระพุทธองค์ได้ทรงประดิษฐานเจดีย์ไว้ มากบ้าง น้อยบ้างทุกประเทศ เฉพาะเมืองไทย มีปรากฏในพงศาวดารโดยลำดับมาว่า พบรอยพระพุทธบาท ณ ไหล่เขาสุวรรณบรรพต เมื่อรัชกาลพระเจ้าทรงธรรม รัชกาลพระเจ้าเสือได้เสด็จไปบูชาพระพุทธฉาย ณ เขาปัถวี และพระเจ้าบรมโกศ เสด็จไปบูชาพระแท่นศิลาอาสน์
บานประตูวิหารวัดพระแท่นศิลาอาสน์ สมัยรัชกาลที่ 6 ก่อนถูกไฟไหม้
บานประตูวิหารวัดพระแท่นศิลาอาสน์ ปัจจุบัน
มีเรื่องเล่าสืบต่อกันมาว่า นายช่างที่สร้างวิหาร วัดพระแท่นศิลาอาสน์ วัดพระฝาง และวัดสุทัศน์ เป็นนายช่างคนเดียวกัน บานประตูเก่าของพระวิหารเป็นไม้แกะสลักฝีมือดี แกะไม้ออกมาเด่น เป็นลายซ้อนกันหลายชั้น แม่ลายเป็นก้านขด ปลายเป็นรูปภาพต่าง ๆ เป็นลายเดียวกับลายบานมุขที่วิหารพระพุทธชินราช อาจสร้างแต่ครั้งพระเจ้าติโลกราช กษัตริย์แห่งราชอาณาจักรล้านนา เคียงคู่กับสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ กษัตริย์แห่งกรุงศรีอยุธยา ในสมัยนั้น
ต่อมาพระเจ้าบรมโกศมีพระราชศรัทธา ให้ทำประตูมุขตามลายเดิมถวายแทน แล้วโปรดให้เอาบานเดิมนั้นไปใช้เป็นบานวิหารวัดพระแท่นศิลาอาสน์ ประตูวิหารเก่าบานดังกล่าวได้ถูกไฟไหม้ไปเมื่อ วันที่ 25 มีนาคม พ.ศ. 2451 เป็นไฟป่าลุกลามไหม้เข้ามาถึงวัด ไฟไหม้ครั้งนั้น เหลือกุฏิซึ่งประดิษฐานหลวงพ่อธรรมจักรอยู่เพียงหลังเดียว ต่อมาพระยาวโรดมภักดีศรีอุตรดิตถ์นคร (อั้น หงษนันท์) เจ้าเมืองอุตรดิตถ์ ได้เรี่ยไรเงินสร้างและซ่อมแซมวิหาร ภายในวิหารมีซุ้มมณฑปครอบพระแท่นศิลาอาสน์ไว้
บานประตูไม้จำหลักศิลปะอยุธยา วิหารวัดดอนสัก
3. บานประตูวัดดอนสัก
บานประตูวัดดอนสัก สันนิษฐานว่าสร้างในสมัยอยุธยาตอนปลาย มีลวดลายสวยงาม ติดตั้งเป็นบานประตูสำหรับวิหารวัดดอนสักสถาปัตยกรรมเชียงแสนปนสุโขทัย ตัวเสาประตูเป็นลายกนกใบเทศสลับลายกนกก้ามปู บานประตูเป็นไม้แกะสลักทั้งบาน รูปลายกนกก้านขด มีรูปสัตว์หิมพานต์แทรกอยู่ในลวดลายกนกต่าง ๆ มีความอ่อนช้อยสวยงาม โดยบานซ้ายและขวานั้นไม่เหมือนกัน แต่เมื่อปิดบานแล้วลวดลายมีความลงตัวเข้ากันได้สนิท
บานประตูวัดดอนสัก (ขยายส่วนที่เป็นลวดลาย)
บานประตูวิหารวัดดอนสัก หรือ บานประตูวัดดอนสัก ตั้งอยู่ที่วัดดอนสัก หมู่ 3 บ้านฝายหลวง อำเภอลับแล ห่างจากตัวจังหวัดอุตรดิตถ์ 9 กิโลเมตรเศษ เป็นคู่บานประตูไม้จำหลักโบราณสมัยอยุธยาที่มีความสวยงามคู่หนึ่งในจังหวัดอุตรดิตถ์ และเป็นบานประตูพุทธศาสนสถานที่มีความสวยงามมากที่สุด 1 ใน 3 คู่ของจังหวัดอุตรดิตถ์ คือ บานประตูวิหารวัดพระฝาง, บานประตูพระวิหารวัดพระแท่นศิลาอาสน์ และบานประตูวิหารวัดดอนสัก โดยประตูวัดดอนสักนี้เป็น 1 ใน 2 คู่ บานประตูสำคัญของจังหวัดอุตรดิตถ์ ที่ยังคงหลงเหลือมาจนถึงปัจจุบัน
ขอบคุณ : http://th.wikipedia.org
|
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น