ระบบการศึกษาไทย ความล้มเหลวแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้


 

CNN iReport : ระบบการศึกษาไทย ความล้มเหลวแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

* ข้อเขียนจากประสบการณ์ของอาจารย์ชาวต่างชาติ คาสซานดรา เจมส์ เขียนขึ้นเมื่อ 13 กุมภาพันธ์ 2008 บริบท เหตุการณ์ นโยบายต่างๆในการวิจารณ์คือช่วงเวลานั้น นำเสนออีกครั้งผ่าน iReport ของเว็บไซต์ CNN (ซึ่งเป็นการนำเสนอบทความโดยบล็อกเกอร์บุคคลทั่วไป) เมื่อ 8 มิถุนายน 2013 ถ่ายทอดและสรุปเป็นภาษาไทยโดย New Culture


ระบบการศึกษาไทย คือหนึ่งในระบบการศึกษาที่ล้มเหลวที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และตกต่ำลงทุกปี

ผู้เขียนสอนอยู่ในระบบการศึกษาไทยมากว่า 3 ปี และได้รับรู้ว่าแท้ที่จริงแล้วระบบการศึกษาในไทยนั้นย่ำแย่แค่ไหน เงินงบประมาณที่ถมลงไปไม่เคยพอ, ห้องเรียนขนาดใหญ่(นักเรียนมากกว่า 50 คนต่อห้อง) ผลิตและพัฒนาครูย่ำแย่, นักเรียนขาดแรงผลักดัน และระบบที่บังคับให้นักเรียนผ่านชั้นได้แม้ว่าพวกเขาจะสอบตก จนคล้ายว่าเราจะมองไม่เห็นความหวังต่อการเปลี่ยนแปลงในระยะอันใกล้นี้

ผู้เขียนสอนในโรงเรียนเอกชนพหุภาษา ดังนั้นระดับความเข้มข้นของปัญหาจะน้อยกว่าโรงเรียนรัฐ แต่ถึงอย่างนั้น โรงเรียนของเราก็ต้องตกอยู่ภายใต้ระบบราชการอันเทอะทะของกระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งเป็นหนึ่งในหน่วยงานไร้ประสิทธิภาพจนน่าหัวร่อแห่งหนึ่งของโลก กฏระเบียบเปลี่ยนแปลงทุกภาคการศึกษา หลักสูตรการสอน, เนื้อหาแบบเรียน, ข้อสอบ ฯลฯ แนวทางปฏิบัติใหม่ๆถูกสั่งการมายังครูอาจารย์ทุกๆเปิดเทอมใหม่ แล้วก็เปลี่ยนใหม่อีกทีในภาคการศึกษาหน้า

อาจารย์ได้รับคำสั่งให้ปล่อยนักเรียนผ่านชั้นไปได้ แม้ว่าพวกเขาจะสอบตก และให้ปิดตาข้างหนึ่งให้กับปัญหาที่เราควรจะซีเรียสอย่างการลอกการบ้านส่ง

ทุกๆปี กระทรวงศึกษาธิการจะเกิดปิ๊งไอเดียสุดเลิศในการพัฒนาการศึกษา ไอเดียสุดเลิศในปีนี้(2008-ผู้แปล)คือการบังคับให้อาจารย์ชาวต่างชาติทุกคนไปอบรมคอร์สวัฒนธรรมไทย แม้ว่าอาจารย์ชาวต่างชาติจำนวนมากจะอยู่ที่นี่มาหลายปีและเข้าใจวัฒนธรรมไทยดี แต่เพื่อจะได้รับการต่ออายุใบอนุญาตเป็นอาจารย์ พวกเขาก็จำเป็นต้องเข้าคอร์สนี้ ค่าอบรมอยู่ในราคา 110$-300$ (ราวสามพันถึงเกือบหมื่น-ผู้แปล) ต้องจ่ายโดยตัวอาจารย์ผู้เข้าอบรมเอง อาจารย์ชาวต่างชาติหลายคนปฏิเสธที่จะจ่าย ผู้เขียนรู้จักอาจารย์ที่มีฝีมือมาก 2 ท่านตัดสินใจเปลี่ยนไปสอนที่ญี่ปุ่นและเกาหลีแทน ด้วยผลจากนโยบายนี้

ประเทศอาเซียนอื่น อาจารย์ชาวต่างชาติได้รับเงินเดือนที่สูงกว่า และกระทรวงศึกษาธิการในประเทศเหล่านั้นมีแนวคิดที่ก้าวหน้ากว่า ประเทศไทยจึงประสบปัญหาในการที่จะดึงดูดและรักษาอาจารย์ชาวต่างชาติที่มีคุณภาพเอาไว้ การออกกฏเช่นนั้นมา จึงเป็นคล้ายดั่งใบสั่งให้พวกเขาจากไปสู่ประเทศอื่นๆ

เป็นที่ทราบกันดีว่าองค์กรของรัฐหรือระบบราชการในแทบทุกประเทศทั่วโลกจะขึ้นชื่อเรื่องความไร้ประสิทธิภาพ แต่ถึงอย่างนั้น กระทรวงศึกษาธิการของไทย ก็ยังต้องจัดว่าไร้ประสิทธิภาพที่สุดที่ผู้เขียนได้เคยทำงานร่วมด้วยมา

โรงเรียนล่าสุดที่ผู้เขียนมีโอกาสสอน อาจารย์สอนคอมพิวเตอร์ในโรงเรียนได้มาหาผู้เขียนเพื่อขอให้ช่วยแก้ไขแกรมมาร์ เนื่องจากอาจารย์ท่านนั้นถูกตำหนิอย่างรุนแรงจากเจ้าหน้าที่ของกระทรวงศึกษาธิการ ตัวแทนของกระทรวงศึกษาธิการได้ต่อว่าอาจารย์ท่านนั้นอย่างหยาบคายว่า ไม่ดูแกรมมาร์ของเด็กๆบนการ์ดวันแม่ให้ถูกต้อง คำตำหนินี้มาจากองค์กรที่ส่งเอกสารมายังอาจารย์ต่างชาติทุกวัน โดยที่เอกสารราชการเหล่านั้นไม่มีสักประโยคที่เขียนแกรมมาร์ถูกต้องเลย ถึงขนาดที่บางอันหัวหน้าของผู้เขียนต้องโยนทิ้งถังขยะ เนื่องจากไม่สามารถอ่านได้เข้าใจเลย

สังคมไทยกำลังเผชิญกับวิกฤติทางศึกษา นักเรียนไทยไม่เคยต้องคิดอะไรเอง ไม่ได้รับการฝึกฝนทักษะ Critical Thinking (การคิดเชิงวิพากษ์เป็นเหตุเป็นผล) ในโรงเรียนรัฐ การมีนักเรียน 50 คนต่อห้องเป็นเรื่องปกติ เด็กครึ่งนึงหลับในชั้นเรียน ในขณะที่อาจารย์ไม่เคยสนใจว่าพวกเขาจะฟังหรือไม่ จำนวนหนังสือมีจำกัด อุปกรณ์การทดลองวิทยาศาสตร์ไม่เคยปรากฏให้เห็นในบางโรงเรียน อาจารย์ต่างชาติเป็นเหมือนเศษเกินที่มีแค่ให้พอมี

ในขณะที่โรงเรียนไม่สามารถจ่ายได้เกิน 750$ (ราว 23,000 บาท-ผู้แปล) จึงได้คุณภาพเท่าที่จ่าย (และคนที่เรียกว่า"อาจารย์"จำนวนมากนี้ เป็นเพียงชายแก่ที่ไม่มีปริญญาการสอนใดๆ มาที่นี่เพราะหญิงไทย และลงเอยด้วยการเป็นอาจารย์สอนภาษา เพราะเป็นงานเพียงไม่กี่อย่างที่อนุญาตให้ชาวต่างชาติทำ)

สถานการณ์การศึกษาในเวียดนาม มาเลเซีย เกาหลีหรือจีน กำลังพัฒนาอย่างก้าวกระโดด ขณะที่ไทยถูกทิ้งไว้เบื้องหลัง รัฐยังเสียเวลาไปกับการออกกฏที่น่าขัน แทนที่จะแก้ไขสิ่งที่เป็นปัญหาจริงๆ

อย่างไรก็ตาม ความเปลี่ยนแปลงต่างๆในสังคมไทยนั้นเป็นไปอย่างเชื่องช้า สังคมไทยนั้นคือสังคมแห่งการรักษาหน้าตาในทุกๆด้าน ภาพลักษณ์คือทุกสิ่ง และตราบใดที่ภาพลักษณ์ภายนอกของเด็กยังสำคัญกว่าความรู้ที่อยู่ข้างในสมองของพวกเขา ระบบการศึกษาไทยก็จะยังเผชิญกับปัญหาอยู่ต่อไป และร่วงหล่นอยู่ท่ามกลางการแข่งขันของโลก

แต่ใครสนกันล่ะ? ขอเพียงเด็กๆดูน่ารักน่าชัง เข้าแถวตรงเดินพาเหรดในชุดเครื่องแบบเรียบร้อย ถึงจะพูดประโยคภาษาอังกฤษได้ไม่เกินเกิน 20 คำและภาษาไทยเองก็ไม่ได้เก่งไปกว่ากันก็ตาม

จาก CNN iReport : http://ireport.cnn.com/docs/DOC-985267
ต้นฉบับบทความในปี 2008 : http://voices.yahoo.com/education-thailand-terrible-failure-889841.html
 
WEF เผยผลการจัดอันดับการศึกษา ไทยรั้งท้ายในอาเซียน
 
ที่ประชุมเศรษฐกิจโลก WEF เผยผลจัดอันดับการศึกษาอาเซียน พบประเทศไทยรั้งท้าย อันดับ 8 ด้าน ศธ. ชี้ เด็กไทยคิดไม่เป็น จึงเล็งปรับการศึกษาทั้งระบบ โดยเฉพาะการปฏิรูปวิธีการเรียนการสอน และปฏิรูปครู ซึ่งถือเป็นหัวใจสำคัญ
 
นายจาตุรนต์ ฉายแสง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) กล่าวถึงกรณีที่ World Economic Forum (WEF) รายงานขีดความสามารถในการแข่งขัน ด้านคุณภาพการศึกษา ซึ่งถือเป็นปัจจัยชี้วัดขีดความสามารถทางเศรษฐกิจของประเทศต่าง ๆ ปรากฎว่าคุณภาพทางการศึกษาของไทยอยู่ในอันดับ 8 รั้งท้ายของกลุ่มประเทศอาเซียน ขณะที่เวียดนามอยู่ในอันดับ 7 และกัมพูชาอันดับ 6 ว่า จากข้อมูลที่ออกมาต้องยอมรับความจริง ว่าการจัดการศึกษาของเรายังอยู่ในสภาพที่ไม่น่าพอใจ และจำเป็นต้องปรับปรุงอย่างมาก การได้รับข้อมูลในทำนองนี้หลาย ๆ ครั้งองค์กรที่เกี่ยวข้องจะไปดูว่า มีการวัด มีการประเมิน และมีการเข้าใจผิดในเรื่องใดบ้าง แต่สิ่งสำคัญที่เราต้องคิดให้ได้อันดับแรกคือ ยอมรับว่าประเทศไทยยังมีปัญหา
     
       อย่างไรก็ตามสำหรับข้อมูลของWEF ที่ออกไปว่าประเทศไทย มีคุณภาพการศึกษาตกต่ำรั้งท้ายในอันดับที่ 8 ของกลุ่มประเทศอาเซียนนั้น เป็นข้อมูลการจัดอันดับของปี 2555 ซึ่งมีประเทศที่เข้าร่วมการจัดอันดับทั้งหมด 144 ประเทศ มีประเทศในกลุ่มอาเซียนจำนวน 8 ประเทศ แต่ข้อมูลการจัดอันดับของ WEF ปี 2556 ที่เพิ่งออกมาเมื่อวันที่ 4 ก.ย.มีประเทศที่เข้าร่วมการจัดอันดับทั้งหมด 148 ประเทศ เป็นประเทศในกลุ่มอาเซียน 10 ประเทศ เพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมา 2 ประเทศคือ ลาวและพม่า โดยประเทศไทยมีคุณภาพการศึกษาอยู่ในอันดับที่ 8 ของอาเซียนเช่นเดิม ซึ่งก็ไม่ถือว่ารั้งท้าย เพราะยังมีอีก 2 ประเทศที่อันดับต่ำกว่าเรา โดยมีตัวชี้วัดคุณภาพการศึกษาทั้งหมด 10 ตัวชี้วัด ซึ่งในส่วนของประเทศไทยก็ถูกจัดอันดับในแต่ละตัวชี้วัดแตกต่างกันไป ดังนี้
 
1. ตัวชี้วัดด้านคุณภาพระบบการศึกษา เมื่อเปรียบเทียบกับ 148 ประเทศ ไทยอยู่อันดับที่ 78 ของโลก ลำดับที่ 8 ของอาเซียน
 
2. ตัวชี้วัดคุณภาพการสอนคณิตศาสตร์วิทยาศาสตร์ อยู่ในอันดับที่ 80 ของโลก อันดับที่ 5 ของอาเซียน
 
3. ตัวชี้วัดคุณภาพการบริหารจัดการโรงเรียน อยู่อันดับที่ 53 ของโลก อันดับที่ 5 ของอาเซียน
 
4. ตัวชี้วัดอัตราการเข้าเรียนมัธยมศึกษา อยู่อันดับที่ 94 ของโลก อันดับที่ 5 ของอาเซียน
 
5. ตัวชี้วัดอัตราการเข้าเรียนอุดมศึกษา อันดับที่ 55 ของโลก อันดับที่ 2 ของอาเซียน

6. ตัวชี้วัดการเข้าถึงอินเตอร์เน็ตในโรงเรียน อยู่อันดับที่65 ของโลก อันดับที่ 6 ในอาเซียน
 
7. ตัวชี้วัดการพัฒนาและการฝึกอบรมแรงงาน อันดับที่ 50 ของโลก อันดับที่ 6 ของอาเซียน
 
8. ตัวชี้วัดการใช้ประโยชน์ของระบบการวิจัยเฉพาะทางและการฝึกอบรม อันดับที่ 64 ของโลก อันดับที่
    5  ของอาเซียน
 
9. ตัวชี้วัดคุณภาพประถมศึกษา อันดับที่ 86 ของโลก อันดับที่ 7 ของอาเซียน
 
10. ตัวชี้วัดอัตราการเข้าเรียนประถมศึกษา อันดับที่ 101 ของโลก อันดับที่ 9 ของอาเซียน
 
ทั้งนี้ยอมรับว่าคะแนนหลายตัวชี้วัดมีความน่าเป็นห่วง  ซึ่งศธ.จะต้องไปวิเคราะห์ว่าการจัดอันดับ          ดังกล่าวมีวิธีการ และใช้เกณฑ์อะไรบ้างมากำหนดการประเมิน
     
       “เมื่อเห็นว่ามีปัญหาเช่นนี้ ศธ.จะต้องเป็นเจ้าภาพหลักที่จะรับผิดชอบเรื่องนี้ และจะต้องสื่อสารไปถึงผู้เกี่ยวข้องทั้งระบบว่าถ้าประเทศจะพัฒนา จำเป็นต้องพัฒนาคนให้มีคุณภาพ เพราะฉะนั้น ศธ.จึงเสนอว่าการศึกษาต้องเป็นวาระแห่งชาติ ที่ทุกภาคส่วนในสังคมจะต้องเข้ามามีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหา การที่พบข้อมูลที่เกี่ยวกับการจัดอันดับ แม้จะเป็นเพียงองค์กรหนึ่งแต่ก็เป็นข้อมูลที่เราต้องยอมรับ และแสดงให้เห็นถึงปัญหาอันน่าเป็นห่วง และตั้งแต่ผมมาเป็นรมว.ศึกษาธิการ ก็ได้ประกาศนโยบายไปด้วยความเข้าใจว่าการศึกษาไทยอยู่ในสภาพที่น่าเป็นห่วง โดยมีตัวเลขการจัดอันดับประเภทอื่น ๆ อยู่แล้ว อาทิ อันดับในPISA ยังไม่น่าพอใจ และสิ่งที่เสนอคือ เราจะจัดการศึกษาโดยให้มีการปฏิรูปการเรียนรู้ทั้งระบบ ปฏิรูปการเรียน การสอนที่เชื่อมโยงกับการทดสอบและการประเมินที่มุ่งที่ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของเด็ก และอิงกับมาตรฐานสากล โดยจะพยายามเลื่อนอันดับของประเทศไทยให้สูงขึ้น และสิ่งที่ได้ประกาศไปแล้วคือการเลื่อนอันดับคะแนนสอบPISA โดยจากการจัดอันดับในปี 2554 ประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 50 ซึ่งจะต้องมาดูว่าผลคะแนนที่จะออกในเอนธันวาคม 2556 นี้ไทยอยู่ที่เท่าไหร่ ก่อนตั้งเป้าให้สูงขึ้นในครั้งต่อไป”นายจาตุรนต์ กล่าว
     
       รมว.ศึกษาธิการ กล่าวต่อว่า อย่างไรก็ตาม ตนในฐานะผู้ดูแลศธ.จะรวบรวมความรู้ที่สอดคล้องกับบัญหา เพื่อพยายามวางระบบการแก้ปัญหาในภาพรวม ส่วนข้อเสนอที่ให้มีการออกกฎหมาย เพื่อบังคับให้นโยบายการพัฒนาการศึกษามีความต่อเนื่องนั้น การปฏิรูปการศึกษา 15 ปีที่ผ่านมาได้รับอิทธิพลจากพ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ ซึ่งเน้นในเรื่องการปรับโครงสร้างค่อนข้างมาก กว่าการปฏิรูปการเรียนสอน ดังนั้นก็ไม่แน่ว่าการออกกฎหมาย จะสามารถแก้ปัญหาการศึกษาได้ เพราะฉะนั้นยืนยันว่า จะต้องเดินทำเรื่องการปฏิรูปการศึกษาเป็นวาระแห่งชาติ และให้สังคมเข้ามามีส่วนร่วม เพราะถ้าสังคมมีส่วนร่วมไม่ว่าใครจะเข้ามาเป็นรัฐมนตรีว่าการศธ. ก็จะสามารถเดินหน้าต่อไปได้
 
สำหรับประเทศที่มีคุณภาพการศึกษาดีที่สุดในกลุ่มอาเซียนเรียงตามลำดับที่ดีที่สุด ดังนี้            อันดับ 1 ประเทศสิงคโปร์
            อันดับ 2 ประเทศมาเลเซีย
            อันดับ 3 ประเทศบรูไน ดารุสซาลาม
            อันดับ 4 ประเทศฟิลิปปินส์
            อันดับ 5 ประเทศอินโดนีเซีย
            อันดับ 6 ประเทศกัมพูชา
            อันดับ 7 ประเทศเวียดนาม
            อันดับ 8 ประเทศไทย



ขอบคุณ  :  
1)  http://www.manager.co.th/QOL/ViewNews.aspx?NewsID=9560000111926
2)  http://www.oknation.net/blog/Nomades/2013/09/06/entry-1


 

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

พระครูธรรมฐิติวงศ์คีรีเขตร (บุญใหญ่ อินทปญโญ) วัดเจดีย์คีรีวิหาร อ.ลับแล จ.อุตรดิตถ์

หลวงพ่อกล่อม พรมสโร วัดป่ากะพี้ อ.พิชัย จ.อุตรดิตถ์

หลวงพ่อฮวบ วัดสามัคยาราม ต.บ้านด่าน อ.เมือง จ.อุตรดิตถ์