เรื่องของยาแก้ไข้ ใช้ตัวไหนปลอดภัยที่สุด
ยาแก้ไข้ที่ปลอดภัยในการรักษาตนเอง (หมอชาวบ้าน) โดย นพ.สุรเกียรติ อาชานานุภาพ ไข้ (ตัวร้อน) เป็นอาการไม่สบายที่พบได้บ่อยที่สุดในคนทุกวัย มักที่สาเหตุจากโรคติดเชื้อของระบบต่าง ๆ ของร่างกาย นอกจากนี้ยังอาจพบว่ามีสาเหตุจากโรคไม่ติดเชื้อ เช่น โรคภูมิต้านตัวเอง (อาทิ โรคเอสแอลอี) มะเร็ง (อาทิ มะเร็งเม็ดเลือดขาว มะเร็งต่อมน้ำเหลือง) อาการไข้จึงอาจมีสาเหตุจากโรคที่หายเอง (เช่น ไข้หวัด คางทูม หัด โรคติดเชื้อไวรัสชนิดไม่รุนแรง) ไปจนถึงโรคที่ร้ายแรง (เช่น เอดส์ วัณโรค มาลาเรีย โลหิตเป็นพิษ เอสแอลอี มะเร็ง) ดังนั้น เมื่อมีอาการไข้เกิดขึ้น ควรเฝ้าสังเกตดูว่าเป็นอยู่นานกี่วัน โรคติดเชื้อไวรัส (รวมทั้งไข้หวัด) มักมีไข้อยู่นาน 4-7 วัน หากนานเกิน 7 วัน มักมีสาเหตุอื่นหรือโรคติดเชื้อที่ร้ายแรง โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากมีไข้นานเกิน 3 สัปดาห์ หรือเป็นแรมเดือน มักเกิดจากโรคที่ร้ายแรง (เช่น เอดส์ วัณโรค เอสแอลอี มะเร็ง) นอกจากนี้ ควรเฝ้าดูว่ามีอาการอะไรอื่นร่วมด้วย ซึ่งจะช่วยบ่งชี้ว่ามีความร้ายแรงเพียงใด (ดู "สัญญาณอันตรายในคนที่มีอาการเป็นไข้ (ตัวร้อน)") หากพบว่ามีสัญญาณอันตรายเพียงข้อใดข้อหนึ่งร่วมด้วย ควรรีบไปพบแพทย์โดยเร็วหากไม่มี ก็อาจให้การดูแลรักษาตัวเองเบื้องต้น (ดู "การดูแลรักษาตนเองเมื่อเป็นไข้") คนที่มีอาการเป็นไข้ (ตัวร้อน) หากมีอาการข้อใดข้อหนึ่งดังต่อไปนี้ร่วมด้วย ควรรีบไปพบแพทย์โดยเร็ว ที่ผ่านมา ยาแก้ไข้มีให้เลือกใช้อยู่ 3 ชนิด ได้แก่ แอสไพริน พาราเซตามอล และไอบูโพรเฟน ปัจจุบันวงการแพทย์ยกเลิกการใช้แอสไพรินเป็นยาแก้ไข้ ทั้ง ๆ ที่มีการใช้มานานกว่า 100 ปีแล้วก็ตาม เนื่องเพราะมีผลข้างเคียง และอันตรายมากกว่าพาราเซตามอลหลายประการ นอกจากเป็นยาที่ชักนำให้ผู้บริโภคแพ้ได้ง่าย เป็นโรคแผลในกระเพาะลำไส้ หรือมีเลือดออกในกระเพาะลำไส้ (ถ่ายอุจจาระดำ) แล้ว ที่สำคัญคือ ถ้าผู้ป่วยเป็นไข้เลือดออก แล้วไปกินแอสไพรินแก้ไข้เข้า ก็อาจทำให้มีเลือดออกรุนแรงถึงแก่ชีวิตได้ นอกจากนี้ ผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 19 ปี ที่มีไข้จากการติดเชื้อไวรัส (เช่น ไข้หวัด ไข้หวัดใหญ่ อีสุกอีใส หัด คางทูม) ถ้าไปใช้แอสไพรินบรรเทาไข้เข้า ก็เพิ่มโอกาสของการเกิดโรคที่เรียกว่า "กลุ่มอาการเรย์ (Reye’s syndrome)" ซึ่งทำให้เกิดความผิดปกติของสมอง และตับร่วมกัน เป็นโรคมีอันตรายร้ายแรง ทำให้เสียชีวิตได้ ดังนั้น แอสไพรินจึงหมดบทบาทในการบรรเทาไข้ และไม่ได้เป็นยาสามัญประจำบ้านในการแก้ไข้อีกต่อไปแล้ว ปัจจุบัน แพทย์นำแอสไพรินไปใช้ป้องกันโรคหลอดเลือดหัวใจและสมอง โดยใช้ขนาด 81 มก. วันละ 1-2 เม็ด การใช้ยาแอสไพรินในกรณีนี้ต้องให้แพทย์เป็นผู้พิจารณาและควบคุมกำกับเท่านั้น ปัจจุบันยาแก้ไข้มีให้เลือกใช้ระหว่างพาราเซตามอล กับ ไอบูโพรเฟน ไอบูโพรเฟน ในท้องตลาดมีทั้งชนิดเม็ดสำหรับผู้ใหญ่ และชนิดน้ำเชื่อมสำหรับเด็ก บางคนนิยมใช้ยาตัวนี้ เพราะอาจเคยได้รับยานี้มาจากแพทย์ จึงคิดว่าเป็นยาแก้ไข้แรงกว่าพาราเซตามอล พาราเซตามอลจัดว่าเป็นยาแก้ไขแก้ปวดที่ปลอดภัยสำหรับคนทั่วไป ในการรักษาตนเอง แต่ก็ต้องใช้ให้ถูกวิธี และใช้ด้วยความระมัดระวัง ให้กินยานี้ เป็นครั้งคราวเวลามีไข้สูง ปวดศีรษะ หรือปวดเมื่อยมาก ถ้ากินไปแล้วนาน 4-6 ชั่วโมงยังไม่ทุเลา หรือเกิดอาการขึ้นอีก ให้กินซ้ำได้อีก (ประมาณทุก 4-6 ชั่วโมง) แต่ถ้ารู้สึกสบายขึ้นก็ไม่จำเป็นต้องกินซ้ำ ดังนั้น เพื่อความปลอดภัย เด็กอายุต่ำกว่า 5 ขวบไม่ควรให้เกินวันละ 1,200 มก. และผู้ใหญ่ไม่ควรเกินวันละ 4 กรัม (8 เม็ด) ดังนั้น เพื่อความปลอดภัย ไม่ควรกินยานี้ติดต่อกันนานเกิน 10 วัน แม้ว่าไอบูโพรเฟนจะออกฤทธิ์ได้ดีและนานกว่าพาราเซตามอล แต่ยาตัวนี้จัดอยู่ในกลุ่มยาต้านอักเสบที่ไม่ใช่สตีรอยด์ (NSAIDs) เช่นเดียวกับแอสไพริน จึงพบว่ามีผลข้างเคียงมากกว่าพาราเซตามอลผลข้างเคียงที่พบได้ เช่น อาการแพ้ยา แผลในกระเพาะ เลือดออกในกระเพาะลำไส้ ที่สำคัญถ้านำไปใช้บรรเทาไข้ในผู้ที่เป็นไข้เลือดออก (ซึ่งบางครั้งชาวบ้านไม่สามารถแยกออกจากไข้ชนิดอื่นได้ชัดเจน) ก็อาจทำให้เกิดภาวะเลือดออกรุนแรง ถึงแก่ชีวิตได้เช่นเดียวกับการใช้แอสไพริน ด้วยเหตุนี้ ไอบูโพรเฟน จัดว่าเป็นยาที่แพทย์เป็นผู้พิจารณาสั่งใช้เท่านั้น ชาวบ้านทั่วไปไม่ควรซื้อยานี้มาใช้แก้ไข้กันเอาเอง
ขอบคุณ : หมอชาวบ้าน และ http://health.kapook.com
|
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น