สารสกัดเมล็ดลำไย



ปัจจุบันคนไทยส่วนใหญ่จะมีปัญหาสุขภาพกันมากขึ้น โดยเฉพาะอาการปวดเมื่อยตามไขข้อ ซึ่งสาเหตุหลักมาจากการใช้ชีวิตประจำวันที่เร่งรีบ บวกกับอายุที่เริ่มมากขึ้น

จากปัญหาดังกล่าว ศ.ดร.อุษณีย์ วินิจเขตคำนวณ ภาควิชาชีวเคมี และภาควิชาเภสัชวิทยา คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จึงศึกษา “วิจัยพัฒนาสารสกัดเมล็ดลำไยเพื่อผู้ป่วยโรคข้อเสื่อมหรือมีอาการปวดจากกล้ามเนื้ออักเสบเรื้อรัง” ขึ้น โดยสำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) หรือ สวก. สนับสนุนทุนวิจัย





ศ.ดร.อุษณีย์ วินิจเขตคำนวณ

ศ.ดร.อุษณีย์ เปิดเผยว่า ผลจากการที่เกษตรกรนำลำไยไปแปรรูปอบแห้งเพื่อเพิ่มมูลค่า ซึ่งหลังกระบวนการดังกล่าว จะมีเมล็ดเหลืออยู่มาก โดยทั่วไปการทำลายส่วนใหญ่จะใช้วิธี “เผาทิ้ง” และจากการศึกษาข้อมูลพบว่า ในเมล็ดลำไยจะมีสารสำคัญ ได้แก่ Gallic acid, Ellagic acid และสารฟลาโวนอยด์อีกหลายๆ ชนิด มีคุณสมบัติต้านอนุมูลอิสระ ป้องกันกระบวนการเกิดโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ และยับยั้งการสลายกระดูกอ่อน

จากคุณประโยชน์ดังกล่าว ทีมวิจัยจึงนำเมล็ดที่ผ่านการอบแห้งเหลือทิ้งแล้วนำเข้าสู่กระบวนการสกัดตามวิธี โดยใช้เมล็ดลำไย 1 กิโลกรัม ได้ประมาณ 20 กรัม โดยใช้เวลา 3-4 วัน กระทั่งได้สารลองกานอยด์ (สารไกลโคส-อะมิโนไกล-แคน และกรดไฮยารูโลนิค) ที่สามารถยับยั้งการสลายสารองค์ประกอบพื้นฐานของกระดูกอ่อนได้ดี อีกทั้งยังยับยั้งเอนไซม์แมทริกซ์เมทัลโลโปรทีเนสที่สลายกระดูกอ่อน เป็นการยืดอายุกระดูกอ่อน ไม่ให้เกิดการสึกหรอก่อนควร





จากนั้นนำไปผสมกับว่านพื้นเมืองของทางภาคเหนือ ซึ่งได้มาจากภูมิปัญญาล้านนาของหมอเมือง และเพื่อให้สะดวกต่อการนำไปใช้จึงทำออกมาในรูปของ ครีมทาถูนวด แล้วนำไปทดสอบกับกลุ่มอาสาสมัครที่มีปัญหาเป็นระยะเวลา 3-4 เดือน พบว่า หลายคนพึงพอใจ อาการปวดข้อกระดูกลดลง หลายคนเดินสะดวกขึ้น ที่สำคัญครีมดังกล่าวไม่มียากลุ่มสเตียรอยด์หรือยากลุ่มไม่ใช่สเตียรอยด์ผสม (NSAID, Nonsteroid anti-inflam-matory drug) ซึ่งไม่เหมาะสมต่อผู้ป่วยสูงอายุ กลุ่มผู้เป็นโรคความดันโลหิต หัวใจ กระเพาะอาหาร และเพื่อให้สามารถใช้ได้ทั้งในวัยเด็กและผู้ใหญ่ จึงได้ทำออกมาทั้งสูตรเฮอร์บัลวอร์ม ที่พัฒนาจากสูตรดั้งเดิมกลิ่นสมุนไพร และ สูตรคูลแอนด์อะโรมา ที่ให้ความเย็นพร้อมกลิ่นหอมสดชื่นของน้ำมันหอมระเหย ทั้งนี้ งานวิจัยดังกล่าวยังได้รับรางวัลนวัตกรรมยอดเยี่ยม จาก Chulalongkorn Business School Innovation คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ด้านต้นแบบนวัตกรรมของไทย เพื่อเป็นต้นแบบสำหรับคนรุ่นใหม่ที่อยากจะคิดค้นและสร้างสิ่งใหม่ๆ ให้กับประเทศ เมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา



ขอบคุณ : http://ลําไย.com

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

หลวงพ่อฮวบ วัดสามัคยาราม ต.บ้านด่าน อ.เมือง จ.อุตรดิตถ์

หลวงพ่อกล่อม พรมสโร วัดป่ากะพี้ อ.พิชัย จ.อุตรดิตถ์

พระครูธรรมฐิติวงศ์คีรีเขตร (บุญใหญ่ อินทปญโญ) วัดเจดีย์คีรีวิหาร อ.ลับแล จ.อุตรดิตถ์