วิบากกรรมแก้ รธน.ติดหล่ม พรรคร่วมมีสิทธิ์ตายหมู่ !
ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญประเด็นที่มาของสมาชิกวุฒิสภา(สว.)ซึ่งจะลงมติในวาระที่ 3 วันที่ 27 ก.ย.นี้ มีสิทธิ์จะกลายเป็นวิบากกรรมสำหรับพรรคร่วมรัฐบาลที่เสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญในประเด็นนี้ เมื่อล่าสุดกลุ่ม สว.สรรหานำโดย พล.อ.สมเจตน์ บุญถนอม นายสมชาย แสวงการ และนายคำนูณสิทธิสมาน ได้ยื่นเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อให้วินิจฉัยว่าร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญประเด็นนี้ขัดต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 68 และขอให้ศาลรัฐธรรมนูญสั่งยุบพรรคร่วมรัฐบาลที่ร่วมเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญในประเด็นนี้ นอกจากขอให้ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยยุบพรรคร่วมรัฐบาลแล้ว ยังให้ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งให้ นายสมศักดิ์เกียรติสุรนนท์ ประธานสภาผู้แทนราษฎร นายนิคม ไวยรัชพานิช ประธานวุฒิสภา และสส.พรรคร่วมรัฐบาล 310 คน ที่ร่วมลงชื่อในร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญยุติบทบาทจนกว่าศาลจะมีคำวินิจฉัยว่าร่างแก้ไขขัดรัฐธรรมนูญมาตรา 68 หรือไม่ กลุ่มสว.สรรหาให้เหตุผลในการยื่นคำร้องว่า กระบวนการร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญประเด็นนี้ไม่ถูกต้องตั้งแต่การกำหนดวันและเวลาการแปรญัตติ อีกทั้งผู้สงวนคำแปรญัตติ 57 รายถูกตัดสิทธิ์การอภิปราย ขณะที่พรรคฝ่ายค้านคือประชาธิปัตย์โดย นายวิรัตน์ กัลยาศิริ สส.สงขลา ได้ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญให้วินิจฉัยว่าร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญประเด็นที่มาสว.ขัดรัฐธรรมนูญมาตรา 68 เช่นกัน โดยทั้งกลุ่มสว.สรรหาและพรรคประชาธิปัตย์ขอให้ศาลคุ้มครองชั่วคราวไม่ให้รัฐสภาลงมติในวาระที่ 3 จนกว่าศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัยชี้ขาด นายวิรัตน์ ย้ำว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญในประเด็นนี้มีเจตนาที่จะทำให้วุฒิสภากลับไปเป็นสภาทาสหรือสภาผัวเมียเหมือนในอดีตอันเป็นการทำลายระบบตรวจสอบถ่วงดุลเปิดช่องให้มีการใช้อำนาจโดยมิชอบเอื้อประโยชน์แก่พวกพ้องอันขัดต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 68 ทั้งนี้รัฐธรรมนูญมาตรา 68 บัญญัติว่า บุคคลจะใช้สิทธิและเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญนี้หรือเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญนี้มิได้ ในกรณีที่บุคคลหรือพรรคการเมืองใดกระทำการตามวรรคหนึ่งผู้ทราบการกระทำดังกล่าวย่อมมีสิทธิ์เสนอเรื่องให้อัยการสูงสุดตรวจสอบข้อเท็จจริงและยื่นคำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยสั่งการให้เลิกการกระทำดังกล่าว แต่ทั้งนี้ไม่กระทบกระเทือนการดำเนินคดีอาญาต่อผู้กระทำการดังกล่าว ในกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยสั่งการให้พรรคการเมืองใดเลิกกระทำการตามวรรคสอง ศาลรัฐธรรมนูญอาจสั่งยุบพรรคการเมืองดังกล่าวได้ ในกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งยุบพรรคการเมืองตามวรรคสามให้เพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของหัวหน้าพรรคการเมืองและกรรมการบริหารของพรรคการเมืองที่ถูกยุบในขณะที่กระทำความผิดตามวรรคหนึ่งเป็นระยะเวลา 5 ปี นับแต่วันที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งดังกล่าว เพราะฉะนั้นคงต้องรอลุ้นคำวินิจฉัยของรัฐธรรมนูญซึ่งมีสิทธิ์ที่ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญประเด็นที่มาสว.อาจตายน้ำตื้น หรือหากเลวร้ายกว่านั้น สส.พรรคร่วมรัฐบาลมีสิทธ์ิตายหมู่ยกก๊วน ขอบคุณ : http://www.naewna.com |
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น