ปชป.เสียงแข็งไม่ร่วมวงปาหี่ปฏิรูป “บรรหาร” หงายเงิบซ้ำ นักข่าวจี้จุด “ทักษิณ” ตัวปัญหา
“บรรหาร” พบ “อภิสิทธิ์” ชวนร่วมเวทีปฏิรูป กลุ่มหนุมานพิทักษ์ราชบัลลังก์ ตัดหน้ายื่นหนังสือเรียกร้องอย่าร่วมสังฆกรรม แถลงร่วมกันอ้าง ปชป.ไม่ได้ปฏิเสธไม่ได้ตอบรับ บอกพอใจมาเยือน เจอนักข่าวซักฟอกใครคือตัวขัดแย้ง ยก “โคฟี อานัน” ชี้ “ทักษิณ” ต้นตอ เจ้าตัวไม่ตอบ อ้างแค่เห็นไม่ตรงกัน แถอีก “ทักษิณ” ไม่ได้รับความเป็นธรรม สุดท้ายไม่ตอบคำถามนักข่าว ด้าน ปชป. ยืนยันไม่เข้าร่วม จี้ถอนนิรโทษกรรม-หยุดแก้ รธน. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อเวลา 14.20 น. วันนี้ (16 ก.ย.) นายบรรหาร ศิลปอาชา อดีตนายกรัฐมนตรี พร้อมด้วย นายสมศักดิ์ ปริศนานันทกุล และนายนิกร จำนง ได้เดินมายังที่ทำการพรรคประชาธิปตย์ เพื่อพบปะหารือแลชวนร่วมเวทีการปฎิรูปกับนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร และหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ โดยเมื่อพบกันทั้งสองได้ยกมือไหว้กันและกันด้วยสีหน้ายิ้มแย้ม จากนั้นได้เดินขึ้นไปหารือที่ห้องทำงานนายอภิสิทธิ์ ชั้น 2 ตึกควง อภัยวงศ์ โดยฝ่ายนายอภิสิทธิ์มีเพียงนายชวนททน์ อินทรโกมาลย์สุต โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ ร่วมวงสนทนาด้วยเท่านั้น ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า ก่อนหน้านี้ประมาณ 14.00 น.ได้มีกลุ่มหนุมานพิทักษ์ราชบังลังก์ ประมาณ 10 คน เดินทางมาที่ทำการพรรคประชาธิปัตย์ เพื่อยื่นหนังสือถึงนายอภิสิทธิ์ โดยมีนายชวนนท์รับหนังสือแทน ทั้งนี้ ในหนังสือดังกล่าวมีใจความว่า ตามที่นายบรรหาร ศิลปอาชา อดีตนายกรัฐมนตรี จะมาพบกับนายอภิสิทธิ์ และนายชวน หลีกภัย ประธานสภาที่ปรึกษาพรรคประชาธิปัตย์ เพื่อให้ร่วมคุยเวทีปฏิรูปการเมือง เพื่อช่วยให้นักโทษหนีคดีชื่อ ทักษิณ ชินวัตร ที่โกงบ้านโกงเมือง เผาบ้านเผาเมือง เป็นทรราชต่อประเทศชาติ และคิดจะล้มล้างสถาบันอันสูงสุดของประเทศไทย โดยมี น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เป็นหุ่นเชิด และมี ส.ส.พรรคเพื่อไทย เป็นแค่พนักงานบริษัทพรรคเพื่อไทย เราขอคัดค้านไม่ให้พรรคประชาธิปัตย์ร่วมมือกับนายบรรหารและพรรคเพื่อไทย เพราะนายบรรหารไม่ได้ทำเพื่อประเทศชาติ แต่ทำเพื่อตัวเองและนักโทษชายทักษิณ เราขอให้พรรคประชาธิปัตย์ปฏิเสธกับนายบรรหารและพรรคเพื่อไทย ในเวทีการปฏิรูปการเมือง ให้พรรคประชาธิปัตย์ต่อต้านและโค่นล้มระบอบทักษิณ และพรรคร่วมรัฐบาลให้สิ้นซากจากแผ่นดินไทย ภายหลังเข้าร่วมหารือด้วยใช้เวลาประมาณกว่า 1 ชั่วโมง นายบรรหาร แถลงพร้อมนายอภิสิทธิ์ ว่า การเดินทางมาที่พรรคประชาธิปัตย์ในฐานะเป็นผู้ประสานงานการปฏิรูปการเมืองก็มาเชิญให้นายอภิสิทธิ์เข้าร่วมสภาปฏิรูปการเมืองเพื่อไปแสดงจุดยืนของแต่ละฝ่ายว่าต้องการอะไร แต่นายอภิสิทธิ์ก็ตอบอย่างมีเหตุผลว่า มีปัญหาหลายประการ เช่น พ.ร.บ.นิรโทษกรรม การแก้ไขรัฐธรรมนูญ อยากให้หยุดตรงนี้ก่อน ถ้าหยุดได้ค่อยมาคุยกัน ตนจึงเรียนว่า กฎหมายนิรโทษกรรมในมาตรา 3 ที่ให้คำแนะนำมาจะไปหารือกันว่ามีอะไรบ้างที่ต้องแปรญัตติให้ชัดเจนขึ้นเพราะยังไม่ชัดเจน อย่างไรก็ตามความเป็นไปได้ที่จะมีการถอนร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมออกไปคงเป็นเรื่องลำบาก ซึ่งนายอภิสิทธิ์ก็ไม่ได้ปฏิเสธไม่ได้ตอบรับ ในอนาคตก็ต้องมาที่พรรคประชาธิปัตย์อีกครั้ง ทั้งนี้รู้สึกพอใจกับการเดินทางมาพรรคประชาธิปัตย์ เพราะถือว่ามาพบเพื่อนเก่าแม้จะเป็นเพื่อนคนละรุ่น ซึ่งจะนำข้อเสนอของพรรคประชาธิปัตย์ ทั้งเรื่องการให้ถอนร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม การแก้ไขรัฐธรรมนูญ ออกจากสภาไปก่อนเพื่อสรุปให้คณะทำงานของรัฐบาลรับทราบ แต่จะไม่นำเสนอต่อนายกรัฐมนตรีโดยตรง และจะมาพบนายชวน หลีกภัย ประธานสภาที่ปรึกษาพรรคประชาธิปัตย์ อีกครั้ง ในเรื่องสภาปฏิรูปการเมือง ซึ่งคิดว่าสามารถคุยกันได้เพราะนายชวนไม่ใช่เสื่อ โดยการเดินสายพบปะกับกลุ่มต่าง ๆ ขณะนี้ทำได้ 60 % แล้ว ส่วนที่กลุ่มสภาประชาชนปฏิรูปการเมืองแห่งประเทศไทย หรือ สปท. ตั้งสภาปฏิรูปการเมืองภาคประชาชนเป็นเรื่องที่ดีแต่ตนคงไม่ประสานที่จะพูดคุยกับกลุ่มดังกล่าวให้เดินหน้าทำงานไป ผู้สื่อข่าวถามว่านายบรรหารเคยมีส่วนร่วมกับการปฏิรูปการเมืองจนเกิดรัฐธรรมนูญปี 2540 คิดว่าอะไรเป็นปัญหาจนทำให้เกิดปัญหาอีกทั้ง ๆ ที่มีการปฏิรูปการเมืองไปแล้ว นายบรรหาร กล่าวว่า เพราะมีความขัดแย้งเกิดขึ้นเรื่อย ๆ เมื่อถามว่า ใครคือผู้สร้างความขัดแย้ง นายบรรหาร กล่าวว่า ไม่ทราบ ถามต่อว่า พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ได้บริหารประเทศเป็นไปตามรัฐธรรมนูญปี 2540 หรือไม่ นายบรรหารกล่าวเลี่ยงว่า “หนูอย่าถามอย่างนี้สิ ถามแบบไปด้วยกันได้หน่อย” ถามแย้งต่อว่า ถ้าท่านไม่ยึดที่ต้นตอของปัญหาจะแก้ปัญหาได้หรือ นายบรรหาร กล่าวว่า ตนอยากให้ฟังโทนี่แบลร์ อดีตนายกรัฐมนตรีอังกฤษที่เดินทางมาพูดในประเทศไทยว่า ปัญหาความขัดแย้งมีอยู่ทุกประเทศ ไม่ใช่แค่ประเทศไทย ก็ต้องดูว่าเราจะหยุดตรงนี้ได้ไหมไปดูอนาคตว่าจะทำอย่างไรกับประเทศไทยเพื่อให้เกิดผลดีแก่ลูกหลาน เราจะไม่พูดเรื่องปัจจุบัน เรื่องอดีตที่ผ่านมา ถามต่อว่า ไม่พูอดีต ไม่พูดปัจจุบันแล้วจะไปสู่อนาคตได้อย่างไร นายบรรหาร กล่าวอย่างมีอารมณ์ว่า ก็ถ้าร่วมมือก็ไปกันได้ เมื่อถามว่า หมายถึงว่าทุกอย่างให้ลืมไป ฆ่าก็ไม่เป็นไร เผาก็ไม่เป็นไร โกงก็ไม่เป็นไรหรือ นายบรรหาร กล่าวว่า “คำถามรุนแรงเกินไปแล้ว ผมไม่ตอบคุณ” ผู้สื่อข่าวถามต่อว่า โคฟี อานัน อดีตเลขาธิการสหประชาชาติ ซึ่งเคยเดินทางมาประเทศไทยชี้ปัญหาว่าไม่ซับซ้อนอยู่ที่ พ.ต.ท.ทักษิณ จะเห็นแก่ตัวหรือเห็นแก่ส่วนรวม ท่านมองอย่างไร นายบรรหาร กล่าวว่า ไม่มีความเห็น ถามต่อว่า ถ้าอย่างนั้นอะไรคือปัญหาในขณะนี้ นายบรรหาร กล่าวว่า ก็ปัญหาความขัดแย้งที่มีความคิดเห็นไม่ตรงกัน และเราไม่ต้องการให้เกิดความแตกแยก เมื่อถามว่า อะไรคือต้นเหตุที่ทำให้เกิดความคิดเห็นไม่ตรงกันแต่ไม่ต้องการให้เกิดความแตกแยก นายบรรหาร ไม่ยอมตอบคำถามดังกล่าว อย่างไรก็ตามนักข่าวยังคงถามต่อว่า จะไม่แก้ที่ต้นตอความขัดแย้งคือ พ.ต.ท.ทักษิณ นายบรรหาร กล่าวเลี่ยงว่า ตนไม่ทราบ ถามต่อว่า คิดว่า พ.ต.ท.ทักษิณ เป็นศูนย์กลางความขัดแย้งหรือไม่ นายบรรหาร กล่าวคำเดิมว่า ไม่ทราบ ผู้สื่อข่าวถามว่า ท่านอยากให้ประเทศเดินหน้าแต่รัฐบาลกำลังเป็นผู้สร้างเงื่อนไขที่ทำให้เกิดความขัดแย้งหรือไม่ นายบรรหาร กล่าวว่า ตนไม่ทราบ เมื่อถามต่อว่า ถ้าท่านไม่ทราบแล้วจะประสานให้เกิดการปฏิรูปการเมืองได้อย่างไร นายบรรหาร กล่าวว่า ก็เป็นเรื่องของตนในฐานะผู้ประสานงานที่พยายามจะพูดคุยกับทุกฝ่ายให้เข้าใจซึ่งกันและกัน เมื่อถามว่าถ้าไม่ตั้งต้นที่ความจริงแล้วเริ่มแก้ที่ต้นตอจะแก้ปัญหาได้อย่างไร นายบรรหาร ย้อนขอให้ถามอีกครั้ง ก่อนตอบว่า ก็ต้องค่อย ๆ แก้ทำความเข้าใจกันไป โดยพวกเราทั้งหลายต้องทำความเข้าใจกัน สื่อมวลชนเองก็ต้องเข้าใจด้วย ผู้สื่อข่าวถามว่า พ.ต.ท.ทักษิณ ทำผิดกฎหมายหรือไม่จากที่ศาลฎีกาฯตัดสินจำคุก 2 ปี นายบรรหาร กล่าวว่า พ.ต.ท.ทักษิณ ไม่ได้รับความเป็นธรรม เขาพูดมาอย่างนี้จะว่าอย่างไร ถามต่อว่า การตัดสินของศาลฎีกาฯในสายตาของท่านคิดว่าไม่ให้ความเป็นธรรมกับ พ.ต.ท.ทักษิณหรือ นายบรรหาร กล่าวว่า ไม่ใช่ พร้อมยกตัวอย่างพรรคชาติไทยถูกยุบพรรคและเว้นวรรค 5 ปี ถามว่าเป็นธรรมหรือไม่ ถามต่อว่า แต่การตัดสินดังกล่าวเป็นไปตามรัฐธรรมนูญซึ่งเป็นกติกาที่ทราบตั้งแต่ก่อนลงเลือกตั้งแล้ว นายบรรหาร กล่าวว่า ก็อ้างรัฐธรรมนูญ ตนไม่ขอตอบ เมื่อถามว่าท่านเป็นนักการเมืองมานานช่วงชีวิตที่เหลืออยู่คิดว่าจะทำอย่างไรให้ประเทศชาติดีขึ้นกว่านี้ นายบรรหาร กล่าวว่า กำลังทำอยู่ในขณะนี้ โดยพยายามหาเหตุผลกันไปตลอด ถามต่อว่า แล้วท่านหาเหตุผลเจอหรือยัง นายบรรหาร กล่าวว่า “ผมไม่ขอตอบคำถามนี้และคุณถามผมก็จะไม่ตอบ” ด้านนายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า นายบรรหาร ทำหน้าที่ในฐานะผู้ประสานงานเชิญตนไปร่วมสภาปฏิรูปของรัฐบาล ตนก็พูดชัดเจนว่าทำไมจึงไม่ร่วม เช่น กฎหมายนิรโทษกรรม และรายละเอียดของตนได้ทำหนังสือมอบให้นายบรรหารและเผยแพร่ต่อสื่อมวลชนด้วย ทั้งนี้ตนมองว่ากลไกนี้ยังไม่ตอบโจทย์ประเทศแต่ก็ต้องขอบคุณในไมตรีของนายบรรหารที่เดินทางมาและยังพูดกับตนด้วยว่า หากตนเข้าร่วมสภาปฏิรูปการเมืองก็จะช่วยในเรื่องที่มีเหตุมีผล แต่ในภาพรวมขณะนี้ตนยังไม่เห็นสัญญาณอะไรว่ามีความจริงใจที่จะพูดคุยปัญหาที่แท้จริง ซึ่งได้บอกไปว่านางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์หลายครั้งว่า นิรโทษกรรมให้เป็นเรื่องของสภา ตนก็เรียนว่าปัญหาแก้ยาก เพราะไม่รู้จะพูดอย่างไร เนื่องจากนายกฯตีกรอบว่าเรื่องนี้ต้องไปที่สภามันก็ยาก หรือการที่อดีตนายกฯทักษิณ พูดออกมาว่า ปลายทางต้องรื้อรัฐธรรมนูญทั้งที่รู้ว่าเป็นปมขัดแย้ง "ผมก็บอกว่าหากเข้าไปในสภาปฏิรูปก็คงทำอะไรได้ยากและบอกไปแล้วว่าจะไม่เข้าร่วม แต่ถ้ากระบวนการนี้นำไปสู่สิ่งดี ๆ เช่น เสนอเกี่ยวกับการปฏิรูปที่เป็นประโยชน์กับสังคม ผมก็เรียนว่าไม่ต้องกังวลพรรคประชาธิปัตย์ ถ้าเป็นเรื่องดี ๆ ในการปฏิรูปเราสนับสนุน เช่น ทำข้อเสนอปฏิรูปสื่อ ตำรวจ ระบบพลังงาน การถือครองที่ดิน พวกตนพร้อมหนุนอยู่แล้ว" นายอภิสิทธิ์ ยืนยันเงื่อนไขที่จะเข้าร่วมสภาปฏิรูปการเมืองว่า รัฐบาลต้องถอนกฎหมายนิรโทษกรรม หยุดการแก้ไขรัฐธรรมนูญแล้วพร้อมมานั่งพูดคุยกันอย่างนี้ก็จะเป็นไปได้ ผู้สื่อข่าวถามนายบรรหารว่า ในฐานะที่เป็นอดีตนายกรัฐมนตรีมาก่อนคิดว่าปัญหาปากท้องของประชาชนควรได้รับการแก้ไขก่อนการปฏิรูปการเมืองหรือไม่ นายบรรหาร เบือนหน้าหนีพร้อมแหวกวงล่อมผู้สื่อข่าวออกไปโดยไม่ยอมตอบคำถามดังกล่าว ขอบคุณ : http://www.manager.co.th |
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น